×

หรือจอร์เจียจะเป็น ‘ยูเครน 2’? สมรภูมิแข่งขันอิทธิพลรัสเซีย-สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตก

16.05.2024
  • LOADING...

การเมืองภายในจอร์เจียกำลังถูกจับตามองอย่างมากในช่วงเวลานี้ หลังรัฐบาลจอร์เจียภายใต้การนำของ อีราคลี การิบาชวิลี นายกรัฐมนตรีจอร์เจียจากพรรค Georgian Dream ผลักดันร่างกฎหมาย ‘ตัวแทนต่างชาติ’ (Foreign Agent Bill) จนได้รับมติเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยคะแนนเสียง 84 ต่อ 30 เสียงได้สำเร็จ และนำไปสู่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองจอร์เจีย นับตั้งแต่ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตในปี 1991

 

หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า จุดยืนของรัฐบาลจอร์เจียหลังจากที่ผลักดันร่างกฎหมายนี้ รวมถึงโอกาสที่จอร์เจียอาจกลายเป็นสมรภูมิตัวแทนของการแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่นั้น ไม่ต่างจากการเป็น ‘ยูเครน 2’ ในอนาคต

 

แนวโน้มผลการบังคับใช้ร่างกฎหมาย

 

ร่างกฎหมาย ‘ตัวแทนต่างชาติ’ กำหนดให้องค์กรนอกภาครัฐฯ (NGOs) และองค์กรสื่ออิสระต่างๆ ในจอร์เจียที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศมากกว่า 20% จะต้องจดทะเบียนเป็นองค์กรที่แสวงผลประโยชน์จากมหาอำนาจต่างชาติ

 

องค์กรเหล่านี้ยังอาจถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดโดยกระทรวงยุติธรรม รวมถึงอาจถูกบีบบังคับให้แบ่งปันข้อมูลที่ละเอียดอ่อนให้ทางการจอร์เจียรับทราบ และอาจต้องเผชิญค่าปรับสูงถึง 25,000 ลารี (ราว 9,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.4 แสนบาท) หากไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ

 

หลายฝ่ายมองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้คล้ายคลึงกับกฎหมายที่รัสเซียเคยประกาศใช้เมื่อปี 2012 ซึ่งนำไปสู่การจำกัดสิทธิเสรีภาพและปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง

 

ท่าทีของฝ่ายต่างๆ

 

การิบาชวิลีและพรรครัฐบาลชี้ว่า หากรัฐสภาจอร์เจียยอมถอนร่างกฎหมายตัวแทนต่างชาตินี้ อาจทำให้จอร์เจียสูญเสียอำนาจอธิปไตย และเผชิญชะตากรรม ‘ไม่ต่างจากยูเครน’ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า การผลักดันร่างกฎหมายนี้จะช่วยส่งเสริมความโปร่งใสและเสริมสร้างอำนาจอธิปไตยให้กับจอร์เจียอีกด้วย แม้หลายฝ่ายจะตั้งคำถามถึงจุดยืนของพรรค Georgian Dream ที่มักจะโน้มเอียงไปหารัสเซียบ่อยครั้ง อีกทั้ง บิดซินา อิวานิชวิลี อดีตนายกรัฐมนตรีจอร์เจียและผู้ก่อตั้งพรรค Georgian Dream ก็ยังมีช่องทางสร้างรายได้มหาศาลและมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย

 

ขณะที่ฝ่ายค้านของจอร์เจียกังวลว่า ร่างกฎหมายนี้จะขัดขวางกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรป (EU) ที่จอร์เจียยื่นความจำนงเมื่อปี 2022 และได้รับสถานะประเทศผู้สมัครเข้า EU อย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

 

โดย ซาโลเม ซูราบิชวิลี ประธานาธิบดีหญิงของจอร์เจียเผยว่า เธอจะยกวีโต้คัดค้านการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว แม้ทราบดีว่าพรรค Georgian Dream ที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาจอร์เจียขณะนี้จะมีสิทธิลงมติเสียงข้างมากยืนยันที่จะผ่านร่างกฎหมายนี้ก็ตาม

 

ด้านทำเนียบขาวชี้ว่า ร่างกฎหมายตัวแทนต่างชาติเป็น ‘การถอยหลังของประชาธิปไตย’ (Democratic Backsliding) พร้อมประกาศเตือนว่าสหรัฐอเมริกาจะประเมินความสัมพันธ์กับจอร์เจียใหม่อีกครั้ง

 

ส่วน ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกเครมลินมองว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกกระแสต่อต้านรัสเซีย (Anti-Russian Sentiment) พร้อมทั้งระบุว่า การวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายนี้ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจอร์เจียอย่างเด่นชัด

 

จอร์เจียกับการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ

 

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดพบว่า ชาวจอร์เจียราว 80% ต้องการเข้าเป็นสมาชิก EU แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า การสกัดกั้นอิทธิพลของรัสเซียที่มีต่อจอร์เจียนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

ประธานาธิบดีหญิงจอร์เจียเน้นย้ำว่า การเลือกตั้งครั้งสำคัญที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมปีนี้ จะช่วยเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวจอร์เจียเพิกถอนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยจะต้องระดมคนเพื่อขับเคลื่อนสังคม และสร้างความกลมเกลียวในหมู่บรรดาพรรคการเมืองเพื่อชนะการเลือกตั้ง (และสร้างความเปลี่ยนแปลง) เพราะนั่นคือวิถีทางของยุโรป

 

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง แสดงความเห็นกับ THE STANDARD ว่า ร่างกฎหมายตัวแทนต่างชาตินี้เอื้อให้รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่พบเห็นได้ในรัฐมหาอำนาจอย่างรัสเซียและจีน การที่ผู้นำรัฐบาลจอร์เจียพยายามที่จะผลักดันร่างกฎหมายนี้ ในมิติหนึ่งอาจสะท้อนถึงความพยายามที่จะนำพาประเทศไปอยู่กับค่ายใดค่ายหนึ่ง แม้รัฐบาลจอร์เจียจะเน้นย้ำถึงการสร้างสมดุลระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกก็ตาม

 

สิ่งที่ต้องตามดูคือ รัฐบาลจะรับมือกับการชุมนุมประท้วงภายในประเทศอย่างไร การแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจจะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน และหลังเลือกตั้งสำคัญใน EU คณะบริหารชุดใหม่ของ EU จะยอมรับแนวทางการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ของจอร์เจียหรือไม่ โดย ศ.ดร.สุรชาติเชื่อว่าร่างกฎหมายนี้จะไม่เป็นปัจจัยเอื้อที่ช่วยให้จอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกใหม่ EU ได้โดยง่าย

 

หรือจอร์เจียจะเป็น ‘ยูเครน 2’

 

หลายฝ่ายกังวลว่าจอร์เจียกำลังตกที่นั่งลำบาก และอาจเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับยูเครน และอาจกลายเป็น ‘ยูเครน 2’ ในท้ายที่สุด เนื่องจากทั้งสองประเทศมีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกัน เช่น มีพรมแดนติดกับรัสเซีย เคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต รวมถึงมีพื้นที่บางส่วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย โดยเฉพาะในกรณีอับคาเซียและเซาท์ออสซีเชียของจอร์เจีย ซึ่งเป็นผลพวงจาก ‘สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย’ เมื่อปี 2008 ประกอบกับการที่รัสเซียประกาศรับรองเอกราชให้กับดินแดนทั้งสอง ทำให้จอร์เจียประกาศตัดสัมพันธ์กับรัสเซียนับตั้งแต่นั้น

 

พงศ์พล ชื่นเจริญ อดีตนักศึกษาทุนรัฐบาลรัสเซียระบุว่า ความเป็นไปทางการเมืองของจอร์เจียนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ‘ไม่ต่างจากยูเครน’ มีรัฐบาลโปรตะวันตกและรัฐบาลโปรรัสเซียสลับกันขึ้นมาบริหารประเทศ

 

สงครามรัสเซีย-จอร์เจียในปี 2008 สะท้อนให้เห็นว่า รัสเซียมองจอร์เจียเป็นอีกหนึ่ง ‘พื้นที่หลังบ้านของตนเอง’ เช่นเดียวกับยูเครน และเป็นพื้นที่ที่ไม่ควรถูกก้าวล่วง โดยเฉพาะจากอิทธิพลมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐฯ

 

พงศ์พลอธิบายว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัสเซียตัดสินใจบุกจอร์เจียเมื่อปี 2008 นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายฝักใฝ่ตะวันตกอย่างสุดโต่งของ มิเคอิล ซาคัชวิลี ประธานาธิบดีจอร์เจียในช่วงเวลานั้น ที่ดำเนินมาตรการ ‘ยั่วยุ’ ต่างๆ เช่น การเชิญสมาชิก NATO มาร่วมซ้อมรบในจอร์เจียบ่อยครั้ง หลังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก ซึ่งสั่นคลอนเสถียรภาพและความมั่นคงของรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนนำไปสู่การทำสงครามสั่งสอนจอร์เจียในปี 2008

 

ส่วนคำถามที่ว่าจอร์เจียจะกลายเป็นยูเครน 2 หรือไม่นั้น ศ.ดร.สุรชาติมองว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียต้องการที่จะรวมแผ่นดินสหภาพโซเวียตเข้าไว้ด้วยกันอีกครั้ง หรือไม่ผู้นำในแผ่นดินเหล่านั้นก็ควรมีท่าทีในลักษณะ ‘สวามิภักดิ์’ (Loyalty) ต่อรัสเซีย เช่นกรณีของเบลารุส

 

ที่ผ่านมามีแรงปะทะเกิดขึ้นที่จอร์เจียเมื่อปี 2008 ก่อนที่จะย้ายไปยังยูเครน ในปี 2014 และ 2022 ส่วนในปี 2024 จะวนกลับมายังจอร์เจียอีกครั้ง และผลักดันให้จอร์เจียกลายเป็นยูเครน 2 หรือไม่นั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะ ศ.ดร.สุรชาติเชื่อว่ามอลโดวารวมถึง 3 รัฐรอบทะเลบอลติกอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ก็ยังเป็นพื้นที่ที่เปราะบางไม่แพ้จอร์เจียในขณะนี้

 

ขณะที่พงศ์พลเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์โดยรวมจะตึงเครียดขึ้น และทำให้จอร์เจียกลายเป็นพื้นที่แข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจอย่างรัสเซียและตะวันตกอีกครั้ง แต่อาจจะ ‘ไม่เข้มข้น’ เท่าในกรณีของยูเครน เนื่องจากข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะการติดพันอยู่กับการสนับสนุนยูเครนในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับปัจจัยเรื่องการจัดเลือกตั้งสำคัญภายใน EU และสหรัฐฯ ในปีนี้

 

แฟ้มภาพ: Tanitost / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X