ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และบรรดาอดีตประธานาธิบดีที่ยังมีชีวิตอยู่ เดินทางมาร่วมรัฐพิธีศพของ จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีคนที่ 41 ที่มหาวิหารแห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อย่างพร้อมหน้า เพื่ออำลารัฐบุรุษผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย ท่ามกลางบรรยากาศที่เศร้าโศก
ในพิธีศพอดีตประธานาธิบดีซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ เจอรัลด์ ฟอร์ด ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 2006 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง นั่งอยู่ในแถวหน้าร่วมกับ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีคนที่ 44, มิเชล โอบามา อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง, บิล คลินตัน ประธานาธิบดีคนที่ 42 และฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
โอกาสนี้ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีคนที่ 43 ของสหรัฐฯ และบุตรชายคนโตของ จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ได้กล่าวสุนทรพจน์แสดงความอาลัย โดยยกย่องบิดาว่าเป็นชายผู้สูงส่งและเป็นพ่อที่ดีที่สุด
เมื่อวานนี้ (5 ธ.ค.) ทรัมป์ได้ประกาศให้เป็นวันไว้ทุกข์ทั่วประเทศ และให้หน่วยงานรัฐบาลหยุดทำการ 1 วัน
ก่อนหน้ารัฐพิธีศพ ร่างของ จอร์จ บุช ซีเนียร์ ในหีบศพที่คลุมด้วยธงชาติสหรัฐอเมริกา ถูกนำมาวางไว้ที่ห้องโถงกลมของอาคารรัฐสภา (Capitol) เพื่อให้ประชาชน นักการเมือง และบุคคลในแวดวงต่างๆ เดินทางมาแสดงความเคารพและอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย
หลังจากนี้ร่างของบุชจะถูกเคลื่อนย้ายกลับไปยังรัฐเท็กซัส เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาอีกครั้งที่โบสถ์เซนต์มาร์ตินในเมืองฮิวสตัน ก่อนจะนำไปฝังอยู่เคียงข้าง บาร์บารา บุช ภริยาและอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ที่หอสมุดประธานาธิบดีในเมืองคอลเลจสเตชัน รัฐเท็กซัส
จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช หรือชื่อเต็มว่า จอร์จ เฮอร์เบิร์ต วอล์กเกอร์ บุช ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 94 ปี ที่เมืองฮิวสตัน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังต่อสู้กับปัญหาสุขภาพมานานหลายปี เขาเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงปี 1989-1993 และผ่านหน้าฉากเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของภูมิทัศน์การเมืองโลก ทั้งการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: