×

รายงาน WEF ระบุ ต้องใช้เวลาถึง 202 ปี ในการสร้างสังคมโลกที่เท่าเทียมกันทางเพศ

18.12.2018
  • LOADING...

รายงานล่าสุดของ World Economic Forum (WEF) ระบุว่า ประเด็นความเท่าเทียมในเรื่องเงินเดือนหรือค่าตอบแทนมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2017 ที่ผ่านมา ในขณะที่ดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ (Global Gender Gap) กลับขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

 

ถึงแม้ว่าผู้หญิงอาจจะมีสิทธิและเสียงที่ดังขึ้นในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติและการได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกับผู้ชายเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่รายงาน WEF ยังระบุว่า การต่อสู้และผลักดันในประเด็นนี้ตลอด 108 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถลดช่องว่างระหว่างเพศลงได้ และคาดการณ์ว่าอาจจะต้องใช้เวลาถึง 202 ปี  ในการสร้างสังคมโลกที่เท่าเทียมกันทางเพศ ลดช่องว่างระหว่างเพศในมิติต่างๆ ลงได้

 

 

ในปีนี้ WEF ได้ทำการสำรวจความไม่เท่าเทียมกันทางเพศใน 149 ประเทศทั่วโลก ในมิติทางการศึกษา สุขภาพ โอกาสในการทำงานและการมีส่วนร่วมทางการเมืองพบว่า มีเพียงมิติของโอกาสในการทำงานเท่านั้น ที่ผู้หญิงดูจะสามารถลดช่องว่างระหว่างเพศให้แคบลงได้ในปีนี้ ในขณะที่มิติอื่นๆ ถดถอยเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการบริหารงานในองค์กรต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น 34%

 

รายงานฉบับนี้ยังประเมินอีกว่า ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตกต้องใช้เวลา 61 ปีในการลดช่องว่างระหว่างเพศ ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางรวมถึงแอฟริกาเหนืออาจจะต้องใช้เวลาอีกกว่า 153 ปีเลยทีเดียว ซึ่งกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียถือว่าทำภาพรวมออกมาได้ดีที่สุด ผู้ชายและผู้หญิงมีสิทธิ์และเท่าเทียมกันในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในไอซ์แลนด์ ตามมาด้วยนอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์

 

ส่วนกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G20) อย่างฝรั่งเศสอยู่อันดับ 12 เยอรมนี (อันดับ 14) ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร (อันดับ 15) แคนาดา (อันดับ 16) และแอฟริกาใต้ (อันดับ 19) ในขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่อันดับที่ 51 ลดลงจากเดิม 2 อันดับจากปีที่แล้ว

 

ประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์รั้งอันดับที่ 8 จากหัวตาราง ส่วนไทยรั้งอันดับที่ 73 จาก 149 ประเทศ โดยมีอิรัก ปากีสถาน และเยเมน รั้ง 3 อันดับสุดท้ายจากการสำรวจและเก็บข้อมูลในครั้งนี้

 

ภาพประกอบ: Dreaminem

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X