เมื่อสังคมเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ เราจึงได้เห็นหลายๆ ประเทศไฟเขียวให้กับกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรืออนุมัติเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อให้ตรงตามเพศสภาพของบุคคลมากยิ่งขึ้น แต่นอกจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้ผู้ที่นิยามตัวเองนอกเหนือจากคำว่าชายหรือหญิงได้มีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตตามเพศสภาพของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว ผลการวิจัยเผยว่า ยังส่งผลต่อ ‘สุขภาพจิต’ ในเชิงบวกอีกด้วย
JAMA Surgery รายงานผลการเปรียบเทียบระดับความทุกข์ในจิตใจ ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และการใช้สารเสพติดของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (Transgender) ที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว กับผู้ที่ต้องการแต่ยังไม่ได้รับการผ่าตัด พบว่า อาสาสมัครที่ไม่ได้รับการผ่าตั มีแนวโน้มที่จะรายงานว่าพวกเขามีความทุกข์และคิดฆ่าตัวตายมากกว่าเท่าตัว และรายงานมีการดื่มสุราหรือใช้ยาสูบสูงขึ้นเช่นกัน
แอนโทนี อัลมาซาน นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 จากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษานี้เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การผ่าตัดแปลงเพศหรือการยืนยันเพศสภาพที่แท้จริง ‘ทุกรูปแบบ’ สามารถช่วยชีวิตกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้ ซึ่งพื้นที่ที่มีนโยบายจำกัดการเข้าถึงการดูแลเหล่านี้อาจทำให้ชีวิตของพวกเขาอยู่ในความเสี่ยง และจากหลักฐานที่เราได้มา ก็ทำให้เห็นแล้วว่าเราควรขยายการดูแลเหล่านี้มากขึ้น
ในปัจจุบัน การแพทย์ที่สามารถช่วยยืนยันเพศสภาพของบุคคลนั้นมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งการศัลยกรรมปรับโครงหน้า การผ่าตัดเปลี่ยนหลอดลม การเสริมหน้าอก การผ่าตัดมดลูก หรือการผ่าตัดช่องคลอด
รายงานของ JAMA Surgery ยังพบอีกว่า ในบรรดาผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม ระบุว่าตนมีความสนใจที่จะทำขั้นตอนเหล่านี้อย่างน้อย 1 ขั้นตอน โดย 13% ของพวกเขาได้รับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 ปีก่อนที่จะเข้ารับการสอบถาม ในขณะที่อีก 59% ต้องการที่จะทำ แต่ยังไม่เคยทำ
โดยรวมแล้ว การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพช่วยลดความทุกข์ในจิตใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศลงถึง 42% ลดความคิดอยากฆ่าตัวตายลง 44% และลดการใช้สารเสพติดลง 35% แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ทำแบบสอบถามกล่าวว่า อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาค้นพบก็คือ เราไม่ควรตีความว่าคนข้ามเพศทุกคนต้องการที่จะรับการผ่าตัดเสมอไป
อเล็กซ์ เคอโรห์เลียน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาด้านสุขภาพของ LGBTQIA+ แห่งชาติในบอสตันระบุว่า “การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพมีหลากหลายวิธี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องการวิธีเหล่านี้ เรายังไม่สามารถตั้งสมมติฐานใดๆ ได้”
อเล็กซ์ยังเสริมอีกว่า บทบาทของแพทย์และศัลยแพทย์คือการช่วยให้แต่ละบุคคลได้มีโอกาสพิจารณาว่าอะไรที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา และเขาก็ได้อ้างอิงผลการศึกษาในปี 2020 ที่พบว่า การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อตามเพศสภาพที่ชอบด้วยกฎหมายมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ในขณะเดียวกันก็มีความเห็นที่เกี่ยวข้องจาก เดวิน คูน หัวหน้าผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของ Johns Hopkins Center for Transgender Health โดยเขาและเพื่อนร่วมงานระบุว่า การศึกษานี้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนประสิทธิภาพของการผ่าตัดยืนยันเพศสภาพที่มีต่อสุขภาพจิต แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่างของข้อมูล เช่น คำถามที่ใช้ในแบบสำรวจเพื่อหาระดับความทุกข์ทางจิตสังคม (Psychosocial) หรือความเป็นไปได้ในการคัดกรองสุขภาพจิตที่จำเป็นสำหรับการผ่าตัด ซึ่งเหล่านี้อาจทำให้ผลวิจัยมีความสับสน
อย่างไรก็ตาม เดวินได้กล่าวทิ้งท้าย โดยหวังว่าเมื่อการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพเป็นเรื่องที่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น หรือข้อมูลที่เก็บมาประสิทธิภาพที่มากพอ ก็จะสามารถสนับสนุนแนวทางที่ดีที่สุดให้กับกลุ่มหลากหลายทางเพศได้
แม้การศัลยกรรมหรือการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพจะเป็นทางเลือกหรือการตัดสินใจส่วนบุคคลของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่จากผลการศึกษาดังกล่าวทำให้เห็นว่า รัฐบาลควรเล็งเห็นความสำคัญของการตั้งนโยบายหรือการเข้าถึงการดูแลเหล่านี้ เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตของพวกเขาในระยะยาว
ภาพ: Sabrina Bracher via ShutterStock
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.nbcnews.com/feature/nbc-out/gender-affirming-surgery-linked-better-mental-health-study-finds-n1266033
- https://www.psychiatry.org/newsroom/news-releases/study-finds-long-term-mental-health-benefits-of-gender-affirming-surgery-for-transgender-individuals
- https://www.healio.com/news/endocrinology/20210503/mental-health-improves-following-genderaffirming-surgery