ภูฏาน ประเทศขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย และได้ชื่อว่าให้ความสำคัญกับความสุขของประชากรเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เปิดตัวเมกะโปรเจกต์ที่จะสร้างเมืองแห่งสติใน ‘เกเลพู’ (Gelephu Mindfulness City) ซึ่งหากการก่อสร้างแล้วเสร็จจะกินพื้นที่มากถึง 2.5% ของประเทศ หรือใหญ่กว่าพื้นที่ทั้งหมดของประเทศสิงคโปร์รวมกัน
แต่สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ขนาด ทว่าเป็นแนวคิดของภูฏานที่ต้องการผสาน ‘สติ’ เข้ากับ ‘ความยั่งยืน’ และ ‘ความสงบสุข’ เพื่อให้เมืองเติบโตไปพร้อมกับธรรมชาติ และสร้างคุณค่าให้กับคนรุ่นต่อไปที่จะผลิบานเป็นกำลังสำคัญในอนาคต
-
เมืองเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีสติ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2023 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงนำเสนอโครงการเกเลพู เมืองแห่งสติ อย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้ชื่อเมืองนี้อยู่ในความสนใจของทั่วโลก
และเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งภูฏาน เดินทางมากล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับโครงการเกเลพู ‘เมืองแห่งสติ’ นี้อีกครั้งในงานกาลาดินเนอร์ที่จัดโดยกลุ่มนักธุรกิจครอบครัวไทย สมาชิกของ FBX (สมาคมธุรกิจครอบครัวเชิงสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย), มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ และสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทย ณ โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้นำภูฏานอธิบายแนวคิดของโครงการ และมีการเชิญชวนนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ดังกล่าว เป็นการตอกย้ำว่าภูฏานยังคงเดินหน้าเนรมิตเมืองแห่งสตินี้ให้สำเร็จ
โครงการนี้พัฒนาขึ้นภายใต้หลักคิด 3 ประการ คือ ความมีสติ (Mindfulness), ความยั่งยืน (Sustainability) และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข (Harmony) เพื่อสร้างเมืองที่จะพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับธรรมชาติ รวมถึงการดำรงชีวิตอย่างมีสติของผู้คน โดยภูฏานมีเป้าหมายที่อยากผลักดันให้เมืองนี้ก้าวขึ้นเป็นตัวอย่างของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และมีคุณค่าสำหรับกลุ่มคนรุ่นต่อไป
เกเลพู เมืองแห่งสติ จะเป็นเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ทางตอนใต้ของภูฏานบริเวณแนวชายแดนติดกับอินเดีย ซึ่งจะมีขนาดครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางถึง 1,000 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบให้เห็นภาพคือใหญ่กว่าสิงคโปร์ทั้งประเทศ ดินแดนแห่งนี้ถูกออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมของชาวภูฏาน ที่มีดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) และมีมรดกทางจิตวิญญาณที่แข็งแกร่ง
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เคยตรัสด้วยว่า “ภูฏาน ไม่ได้ติดอยู่ในกับดักของมรดกเดิม” แต่ประเทศของพระองค์มีศักยภาพที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และโครงการนี้ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์วิสัยทัศน์ของพระองค์ได้เป็นอย่างดี
-
เปิดแผนแม่บทเกเลพู
เมื่อได้แนวคิดแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการออกแบบเมืองที่จะทำให้แนวคิดกลายเป็นรูปธรรมขึ้นมา ภูฏานรื้อภาพของเมืองแบบเดิมๆ โดยตั้งโจทย์ขึ้นมาใหม่ว่า เมืองยุคใหม่ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร ฟังก์ชันการใช้งานแบบไหนที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัยจริงมากที่สุด โดยได้ BIG – Bjarke Ingels Group บริษัทสถาปนิกชื่อดังมาเป็นหัวเรือใหญ่ในการออกแบบ
พวกเขาวาดภาพให้เกเลพู เมืองแห่งสติ เป็นมหานครที่มีอาคารสูงในระดับต่ำไปจนถึงระดับกลาง โดยมี ‘สะพาน’ หลายแห่งที่จะเชื่อมโยงมิติต่างๆ เข้าหากัน
คำว่าสะพานนั้นไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดนามธรรม เพราะสะพานแต่ละแห่งจะเป็นที่ตั้งของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกหลักของเมือง ไม่ว่าจะเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่, มหาวิทยาลัย, สถานพยาบาลสำหรับการแพทย์ตะวันออกและตะวันตก, เรือนกระจกไฮโดรโปนิกส์, ศูนย์วัฒนธรรม, ศูนย์จิตวิญญาณ, ตลาดสำหรับค้าขายสินค้าท้องถิ่น และเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อวางรากฐานสำหรับการเติบโตในอนาคต และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับพลเมืองผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน
หนึ่งในแลนด์มาร์กที่มีดีไซน์โดดเด่นสะดุดตา คือ Sankosh Temple-Dam ซึ่งจะมีบันไดที่นำไปสู่วัดซึ่งอยู่กึ่งกลาง โดย บีอาร์ก อินเกิลส์ (Bjarke Ingels) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของกลุ่ม Bjarke Ingels เปรียบว่าเหมือน “รังเสือแห่งศตวรรษที่ 21” โดยอ้างถึงวัดทักซังหรือ The Tiger’s Nest ที่โด่งดังที่สุดของภูฏาน และได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกประจำปี 2023 ด้วย
นอกจากนี้ เกเลพู เมืองแห่งสติ ยังมีย่านที่มีลักษณะคล้ายริบบิ้น (Ribbonlike Neighborhoods) อีก 11 แห่ง ย่านต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นมันดาลา (Mandala) หรือวงกลมในภาษาสันสกฤต อันเป็นตัวแทนของจักรวาล โดยมีพื้นที่สาธารณะอยู่ส่วนกลาง
สิ่งที่อยู่เหนือความสวยงามของผังเมือง คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทั้งคนและสิ่งแวดล้อมในบริเวณนี้ ฉะนั้น พวกเขาจึงคิดวางแผนป้องกันเหตุน้ำท่วมในช่วงฤดูมรสุม ด้วยการสร้างนาข้าวขึ้นตามแนวแม่น้ำทั้งสายหลักและสายย่อย จากเหนือสู่ใต้ กลายเป็นพื้นที่ราบเป็นขั้นลดหลั่นทอดยาวจากเนินเขาลงสู่หุบเขาและลำธาร อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศสำหรับพืชและสัตว์ในท้องถิ่น ขณะที่เส้นทางอพยพของช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ ก็ไม่ถูกรบกวนด้วย เพื่อให้ เกเลพู เมืองแห่งสติ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความผูกพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ไม่อาจแยกจากกันได้ และเป็นตัวอย่างของการสร้างพื้นที่ในการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่างยั่งยืน
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ขณะนี้ทางการเริ่มก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่และท่าเรือบกแล้ว แต่กำหนดวันแล้วเสร็จของโครงการยังไม่แน่ชัด เนื่องจากจะขึ้นอยู่กับ ‘ความคืบหน้าของการพัฒนาธุรกิจ’ โดยเป็นโครงการระยะยาวที่จะเติบโตและพัฒนาต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า
อ้างอิง:
- มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ
- https://www.cnbc.com/2024/02/07/bhutans-gelephu-mindfulness-city-heres-what-it-may-look-like.html
- https://archello.com/project/gelephu-mindfulness-city