×

กสิกรไทยปรับเป้า GDP ปี 63 ติดลบ 6% ชี้ท่องเที่ยว-ยานยนต์-อสังหาฯ ฟื้นตัวช้า

02.06.2020
  • LOADING...

วันนี้ (2 มิถุนายน) ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 ประเมินว่า GDP จะติดลบ 6% ติดลบมากขึ้นจากก่อนหน้าที่คาดว่าจะติดลบ 5% สาเหตุเพราะภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวลึกขึ้น และจากปัญหาการจ้างงาน ส่วนปัจจัยภายนอกยังมีความเสี่ยงเศรษฐกิจต่างประเทศที่ไม่แน่นอนจากประเด็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยด้านการเมืองของสหรัฐฯ ทั้งในและระหว่างประเทศ

 

ทั้งนี้ ปี 2563 มองว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่หดตัว โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีนี้จะลดลดเกือบ 60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  และจากความไม่แน่นอนด้านรายได้ที่เกิดขึ้นกับประชาชน คาดว่าจะเห็นการปรับพฤติกรรมโดยจะเก็บออมและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นการใช้จ่ายครัวเรือนจะหดตัวลงกว่าที่ประเมินไว้เดิม

 

ขณะที่ส่วนของภาครัฐ ระดับหนี้สาธารณะในระยะสั้น (2-3 ปี) ยังไม่น่ากังวล แม้ว่าจะมีการกู้เงินพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 1 ล้านล้านบาท และทำให้ปีหน้าหนี้สาธารณะต่อหัวจะอยู่ที่ระดับ 57% ถือว่าอยู่ในกรอบที่ไม่เกิน 60% โดยหนี้สาธารณะต้องดูระยะยาว 5 ปีขึ้นไป และสิ่งสำคัญมากกว่าหนี้สาธารณะ คือรัฐบาลจะใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร ซึ่งเงินกู้นี้จะใช้เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือและเยียวยาธุรกิจที่ประสบปัญหาในการฟื้นตัวหลังจากช่วงผ่อนคลายล็อกดาวน์นี้

 

วิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ โดยข้อมูลจากผลสำรวจระบุว่าประชาชนต้องการอาชีพ ดังนั้นภาครัฐมีนโยบายที่จะใช้เงินเพื่อสร้างอาชีพในระดับท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรส่งเสริมการออมให้มากขึ้น โดยในช่วงวิกฤตเห็นยอดเงินฝากเพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะคนตระหนักถึงการออม โดยมองถึงช่วงวิกฤตมากขึ้น 

 

ส่วน เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ธุรกิจหลักของไทยอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปี ในการฟื้นตัวให้กลับสู่ระดับก่อนเกิดเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 (ช่วงปี 2562) โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าอุตสาหกรรมอื่น ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ 

 

ทั้งนี้ หากมองจากมิติของการจ้างงาน ธุรกิจท่องเที่ยวมีแรงงานในห่วงโซ่ถึง 4 ล้านคน จึงเป็นธุรกิจที่ภาครัฐจะพุ่งเป้าหมายการเยียวยาเป็นอันดับต้นๆ โดยต้องยอมรับว่า สำหรับนโยบายการเงินยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญ โดยหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังสามารถทำได้ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ได้แย่ถึงกับมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising