ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) 2561 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เติบโต 4.8% โดย GDP ในไตรมาสสองที่ผ่านมา (เม.ย.-มิ.ย.) เติบโต 4.6% ถือว่าขยายตัวกว่าภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเติบโต 4.1% และขณะนี้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจถือว่าดี อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ
เมื่อพิจารณาแต่ละปัจจัยสำคัญพบว่า การใช้จ่ายและการบริโภคของภาคเอกชน ขยายตัวที่ 4.5% ซึ่งสภาพัฒน์ชี้ว่าเป็นเพราะฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับสูงสุด 13 ไตรมาส หรือกว่า 3 ปีที่ผ่านมา
สำหรับการใช้จ่ายรัฐบาลขยายตัว 1.4% การลงทุนภาครัฐขยายตัวเป็น 4.9% ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการลงทุนของกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวอย่างมากถึง 8.9%ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยาย 3.2% โดยมากเป็นการลงทุนในเครื่องจักรและสิ่งก่อสร้าง
การส่งออกซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในขณะนี้ มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์อยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 12.3% โดยราคาสินค้าส่งออกปรับเพิ่มขึ้น 4.5% สินค้าที่ประเทศไทยส่งออกได้มากที่สุดได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ โดยตลาดส่งออกหลักยังเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียนและออสเตรเลีย
สำหรับภาคการเกษตรพบว่าขยายตัวสูงถึง 10.4% แต่ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมลดลง 6% เนื่องจากสินค้าบางประเภทมีผลผลิตและส่งออกมาก เช่น ยางพารา ผลไม้ อ้อย และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ทำให้ราคาตกลง โดยรายได้ของเกษตรทั้งระบบเพิ่มขึ้น 6.1% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสที่รายได้เกษตรเพิ่มขึ้น
ส่วนภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 3.1% น้อยลงกว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวได้ดีคือ ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์พ่วงต่อ พลาสติก คอนกรีต และปูน เป็นต้น อุตสาหกรรมที่หดตัวลงคือยางและเฟอร์นิเจอร์ โดยกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบอยู่ที่ 66.6%
สภาพัฒน์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค.) จะขยายตัว 4.2 -4.7% เนื่องจากการส่งออกมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง ทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัว การใช้จ่ายภาครัฐน่าจะเติบโตขึ้นอีก เช่นเดียวกับการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนของฐานรายได้ของประชาชน ปัจจัยสำคัญคือการเร่งเบิกจ่ายและใช้งบประมาณภาครัฐ ทั้งโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ไม่ควรจะต่ำกว่า 22% จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างแข็งแรง
ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ต้องระวังคือปัญหาน้ำท่วม ซึ่งอาจกระทบกับภาคการเกษตร อัตราดอกเบี้ยตลาดโลกที่อาจทำให้เกิดภาวะผันผวนในตลาดเงิน และ มาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน นอกจากนี้ควรยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า