เมื่อจำนวนประชากรบนโลกใบนี้มีแต่อัตราเพิ่มขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีอยู่มากมายก็เริ่มลดน้อยถอยลง ทั้งยังมีการบริโภคและผลิตขยะจนทุกวันนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้เท่าไรก็ไม่หมด ทุกวันนี้จึงมีทั้งภาคประชาชน และองค์กรเอกชนหลายภาคส่วนที่ร่วมใจกันเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมดีๆ เพื่อสร้างค่านิยมและความตระหนักรู้ในการต้านวิกฤตดังกล่าว และรักษาให้โลกเรายังคงน่าอยู่ หนึ่งในโครงการดีๆ ที่ THE STANDARD เห็นว่าน่าสนใจมาก และอยากจะแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกันก็คือ ‘U ปรับ โลกเปลี่ยน’ โดย PTT Global Chemical หรือ GC ร่วมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ที่อยากส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก และเข้าใจถึงแนวคิด Circular Living หรือการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน เต็มคุณค่า พร้อมนำแนวคิดนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างจริงจัง
สองคู่รัก ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา
วิทยากร Circular Icon ขวัญใจคนรุ่นใหม่
ด้วยเล็งเห็นว่าคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้ GC จึงได้จัดโครงการบ่มเพาะความตระหนักรู้ให้นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ได้รู้จักกับไลฟ์สไตล์ในแบบ Circular Living ที่สอดคล้องกับหลัก Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนอันจะช่วยลดการเกิดขยะและของเสีย ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรและการอนุรักษ์ทรัพยากร (Resource Revolution) เพื่อคงรักษาไว้ให้ลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต โดยโครงการนี้ได้บุกเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนจำนวนถึง 10 แห่งด้วยกัน
ด้วยโจทย์สำคัญคือการสอนเรื่องที่มีสาระอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ จึงได้จัดให้มีกระบวนการเรียนรู้อย่างสนุกสนานและเป็นกันเอง นำโดยวิทยากร Circular Icon ขวัญใจคนรุ่นใหม่อย่างสองคู่รัก ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ผู้มีไลฟ์สไตล์ใส่ใจในเรื่องการใช้ทรัพยากร ทั้งคู่เป็น KOL ทางด้านสิ่งแวดล้อมและ Ecosystem ตัวจริงที่ทุกคนต่างก็ยอมรับ
น้องๆ นักศึกษาต่างก็มีส่วนร่วมกันอย่างกระตือรือร้น
มิวสิกวิดีโอที่ให้ทั้งความสนุกสนานและข้อคิด
กิจกรรมนี้ดำเนินไปอย่างสนุกสนาน โดยทั้งท็อปและนุ่นได้นำมิวสิกวิดีโอเรื่องราวสนุกๆ เกี่ยวกับ Circular Living มาให้ชม ทั้งยังชักชวนให้น้องๆ นักศึกษาได้ทำความรู้จักกับไลฟ์สไตล์ในแบบของ Circular Living ซึ่งทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตจริงของตัวเองได้อย่างง่ายๆ และยังให้กำลังใจกับน้องๆ ด้วยว่า ทุกคนล้วนมีพลังสามารถช่วยกันปรับเปลี่ยนให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น
ท็อปและนุ่นยังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการทรัพยากรในแบบ Circular Living อีกด้วยว่า ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและการรู้จักใช้ ซึ่งในปัจจุบันนั้นมักจะมีการมองว่าพลาสติกนั้นเป็นผู้ร้าย หากอันที่จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นจริงตามนั้นเสมอไป เพราะหากรู้จักใช้แล้วจริงๆ แล้วก็สามารถทำประโยชน์ได้มากมาย ทว่ามนุษย์เองต่างหากที่เป็นผู้กระทำ โดยมลพิษในสิ่งแวดล้อมและปัญหาขยะนั้นเป็นผลจากการขาดจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
“เราสามารถลดการสร้างขยะได้ด้วยการพกพาภาชนะในชีวิตประจำวัน การพกกระบอกน้ำและปิ่นโตอาจจะเป็นเรื่องลำบากในตอนเริ่มแรก แต่เชื่อพวกพี่เถอะว่าพอเราทำจนชินติดเป็นนิสัยก็ง่ายแล้ว ทำให้สามารถช่วยลดการใช้ Single-use Plastic ได้ตั้งมากมาย และเมื่อจะทิ้งก็คัดแยกขยะลงถังรีไซเคิล ที่สำคัญคือต้องรู้ว่าขยะที่รีไซเคิลไม่ได้คือที่ปนเปื้อนกับเศษอาหาร ดังนั้นสิ่งที่เราพอจะช่วยกันทำได้คือการล้างทำความสะอาดและคัดแยกขยะเพื่อให้นำกลับไปรีไซเคิลได้ Circular Icon ทั้งสองคนกล่าว
ตัวอย่างเนกไทผลิตภัณฑ์ที่ทอจากเส้นใยพลาสติกเป็นส่วนประกอบ
นอกจากนี้ยังได้มีตัวอย่างการใช้พลาสติกอย่างสร้างสรรค์ เช่น การใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่าด้วยการนำมาใช้ซ้ำ การรีไซเคิล หรือการอัพไซเคิล และเพิ่มคุณค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ และนวัตกรรมทางด้านวัสดุในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น สินค้าแฟชั่น ของตกแต่งบ้าน นำไปสู่การสร้างสรรค์ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“ขยะที่ไร้ค่าจริงๆ แล้วไม่ไร้ค่า เพราะเราสามารถนำมารีไซเคิลและดีไซน์ใช้ใหม่ได้ พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย พลาสติกก็เหมือนกับความรัก ถ้าเราดูแลเป็น มันมีคุณค่าเสมอ ถ้าเรารู้จักใช้ รู้จักวิธีจัดการ เช่น สามารถเอาไปใช้ในทางการแพทย์ เราสามารถนำเอาพลาสติกไปผสมเส้นใยผลิตเสื้อผ้า และที่เจ๋งกว่านั้นก็อย่างการนำขยะทะเลมารีไซเคิลเป็นเส้นใยในการทอเสื้อผ้า อย่างเสื้อที่พวกพี่ใส่กันมาวันนี้ก็มีเส้นใยพลาสติกอยู่ด้วยนะ หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพรมหรือรองเท้า ไปจนถึงดีไซน์ใช้ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกตั้งมากมาย ถุงผ้าเองก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป พลาสติกเองก็มีประโยชน์ถ้าเรารู้จักที่จะใช้อย่างสร้างสรรค์” ท็อปและนุ่นสรุป
นักศึกษาผู้โชคดีที่ร่วมกิจกรรมรับของที่ระลึก
ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ Upcycling ตามหลัก Circular Living
เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมสุดสร้างสรรค์ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ นักศึกษาได้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และหันมาเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยกันใช้ชีวิตในแบบ Circular Living อันจะช่วยให้โลกเรายังคงน่าอยู่ยิ่งขึ้น เชื่อแน่ว่าจากโครงการ U ปรับ โลกเปลี่ยน ในครั้งนี้จะต้องมีคนรุ่นใหม่ที่หันมาช่วยกันเพิ่มขึ้นอีกมากแน่นอน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
- 10 สถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการ U ปรับ โลกเปลี่ยน ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (รังสิต), มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
- ติดตามเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับ โครงการ U ปรับ โลกเปลี่ยน และ Circular Living ได้ที่ bit.ly/2nzfgcO