×

Gaslighting ปั่นหัวด้อยค่าเพื่อบงการ ไทยยังไม่มีกฎหมายเอาผิด

04.12.2023
  • LOADING...
Gaslighting

“คิดดูดีๆ นะ ฉันไม่ได้ผิด เธอต่างหากที่ผิดทุกอย่าง”

 

“เรื่องแค่นี้เอง อย่าตีโพยตีพายให้เป็นเรื่องใหญ่”

 

“ถ้าไม่มีฉัน เธอก็อยู่ไม่ได้หรอก เพราะเธอมันไม่เก่ง ไม่มีความสามารถมากพอ”

 

“เขาบอกว่าฉันผิดและไม่ดีพอ และมันก็คงเป็นอย่างนั้นจริงๆ”

 

ประโยคข้างต้นเหล่านี้ บางส่วนอาจมองว่าเป็นแค่บทสนทนาทั่วไประหว่างคนสองฝ่ายที่กำลังโต้เถียงกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีความคิดและมุมมองของตัวเอง พอคิดเห็นไม่ตรงกันก็จะเกิดการวิพากษ์เช่นนี้อยู่เสมอ 

 

แต่ถ้าประโยคที่ว่ามานี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เกิดขึ้นทุกวัน ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วส่งผลกระทบต่อผู้ฟังจนทำให้เกิดความสูญเสียความมั่นใจ สูญเสียตัวตน การพูดแบบนี้จึงเข้าข่ายโกหก พยายามควบคุมอีกฝ่ายจากผู้ที่มีพฤติกรรม Gaslighting หรือที่คนไทยมักเรียกกันว่า นักปั่นหัว จอมควบคุม

 

การกระทำที่เข้าข่าย Gaslighting ผู้อื่นมีอะไรบ้าง แล้วเราจะรับมือกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร?

 

สำรวจพฤติกรรม Gaslighting เรากำลังถูกใครควบคุมอยู่หรือไม่?

 

ที่มาของคำว่า Gaslighting ปรากฏบ่อยขึ้นหลังภาพยนตร์เรื่อง Gaslight ออกฉายในปี 1944 เนื้อเรื่องเล่าถึงความสัมพันธ์ของคู่รักคู่หนึ่งที่สามีต้องการควบคุมให้ภรรยาอยู่ในอาณัติของตน เพื่อหวังจะฮุบสมบัติของคู่แต่งงาน เขาจะย้ำกับเธออยู่บ่อยๆ ว่าเธอไม่ปกติ มีอาการทางจิต เป็นพวกคิดไปเอง เมื่อได้ฟังคำพูดทำนองนี้ซ้ำๆ ทุกวัน เธอจึงเริ่มคล้อยตาม คิดว่าตัวเองอาจผิดปกติก็ได้ ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น 

 

ดังนั้น ลักษณะของบุคคลที่ถูกนิยามว่ามีพฤติกรรม Gaslighting คือผู้ที่พยายามจัดการ ควบคุม บงการชีวิต และความคิดของอีกฝ่ายด้วยวาจาหรือการกระทำ สร้างอำนาจครอบงำให้อีกฝ่ายเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ ทำให้อีกฝ่ายเกิดความสับสนในความเป็นตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจ ความกล้า ซึ่งการควบคุมนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่มีความสัมพันธ์แบบคนรักเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงใครก็ได้ เช่น คนในครอบครัว เพื่อน คนในที่ทำงาน หรือองค์กรระดับประเทศ 

 

ปัจจุบัน Gaslighting ถือเป็นการควบคุมทางจิตใจรูปแบบหนึ่ง (Psychological Manipulation) ดร.จอร์จ ไซมอน (George Simon) นักจิตวิทยาที่ตีพิมพ์หนังสือ In Sheep’s Clothing: Understanding and Dealing with Manipulative People เคยอธิบายถึงพฤติกรรม Gaslighting ไว้ว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่จะ Gaslighting คนอื่นมักเป็นคนทำผิดแต่ไม่ยอมรับในความผิดของตัวเอง เลยเปลี่ยนไปชักจูงให้อีกฝ่ายเชื่อว่าสิ่งที่ผิดคือเรื่องที่ถูกต้อง จากนั้นทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนค่อยๆ สั่นคลอนความมั่นใจในหลักคิดของอีกฝ่ายได้ในที่สุด  

 

เมื่อลงลึกในรายละเอียดจะพบว่า Gaslighting เป็นได้ทั้งการพูดทั่วไป คำโกหก การพูดเกินจริง นักปั่นหัวจะพูดย้ำๆ กับเหยื่อว่าสิ่งที่เขาหรือเธอคิดนั้นไม่ถูกต้อง ก่อนจะป้อนความคิดในมุมมองของตัวเองให้อีกฝ่ายคล้อยตาม ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการที่คนรักพยายามพูดกรอกหูทุกวันว่าอีกฝ่ายจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเขา พูดย้ำๆ ให้ตัดขาดจากครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเพื่อแยกเหยื่อออกจากสังคม ให้ฟังแต่ความคิดของนักปั่นหัวเพียงคนเดียว ไปจนถึงเรื่องที่สังคมมองว่าผิดศีลธรรมอย่างการที่คนรักพยายามกล่อมว่าการลองมีเซ็กซ์กับคนอื่นไม่ใช่เรื่องผิด ไปจนถึงผู้ต้องหาคดีข่มขืนบางรายที่ตอกย้ำกับเหยื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดคือความยินยอมของทั้งสองฝ่าย 

 

การเกลี้ยกล่อมชักจูงของนักปั่นหัวส่วนใหญ่มักมาพร้อมกับการต่อว่าเสียดสี การลดทอนศักดิ์ศรี ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย ทั้งการด่าทอแรงๆ ว่าทำไมถึงโง่ ทำไมถึงไม่ฉลาด หรือบอกอีกฝ่ายว่าคิดมากไป เป็นโรคหวาดระแวงเกินกว่าเหตุ เป็นพวกเจ้าอารมณ์ เพื่อให้คนที่ Gaslighting สามารถทำพฤติกรรมแย่ๆ ต่อไปได้ 

 

ในที่ทำงานก็พบเห็นพฤติกรรม Gaslighting ได้บ่อยครั้ง เช่น พนักงานคนหนึ่งขาดความมั่นใจในตัวเองเพราะหัวหน้าย้ำทุกวันว่าเขาไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ ความผิดพลาดหลายอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเขา ทั้งที่เหตุการณ์จริงๆ อาจไม่ใช่แบบนั้น เมื่อถูกตอกย้ำบ่อยเข้าจะนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน และเกิดความเครียดสะสมได้ ส่วนผู้ที่ Gaslighting ก็ได้ประโยชน์ด้วยการเข้าควบคุมผู้ร่วมงานคนนั้น ออกคำสั่งและชี้แนะให้เหยื่อทำตามสั่งได้เบ็ดเสร็จ

 

นอกจากนี้ Gaslighting ยังสามารถขยายขอบเขตจากเรื่องของความสัมพันธ์ให้กลายเป็นเรื่องระดับใหญ่ขึ้นได้ด้วย ดร.ฟาราห์ ลาทิฟ (Farah Latif) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน แสดงความคิดเห็นว่า สังคมจะพบการ Gaslighting จากนักการเมืองหรือหน่วยงานทางการเมืองได้บ่อยครั้งในพื้นที่สาธารณะ ด้วยการสร้างวาทกรรมบางอย่างเพื่อสนับสนุนตัวเอง พร้อมกับโจมตีคู่แข่งทางการเมืองด้วยการบิดเบือน ให้ข้อมูลเท็จ ทำให้ประชาชนคล้อยตามได้เหมือนกัน  

 

ดร.อลิซาเบธ ลอมบาร์โด (Elizabeth Lombardo) นักจิตวิทยา นักบำบัด ผู้เขียนหนังสือ Better Than Perfect ให้คำแนะนำต่อผู้ที่ถูกควบคุมและกำลังเผชิญกับความรู้สึกเศร้า เสียใจ โทษตัวเอง เอาไว้ว่า อารมณ์แง่ลบที่เกิดขึ้นจากผู้อื่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่สิ่งที่จะต้องทำคือการอย่าปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้เข้าควบคุมเรา จะต้องใจเย็นๆ แล้วใช้วิจารณญาณของตัวเองตกตะกอนทางความคิด ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดทั้งหมดของเราจริงไหม จะได้ไม่หวั่นไหวไปกับความคิดของอีกฝ่ายแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ 

 

สิ่งที่ต้องทำขั้นต่อมาคือการปฏิเสธ แสดงความชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยว่าสิ่งที่นักปั่นหัวพูดเป็นความจริง แต่เป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวที่หวังจะลดทอนความมั่นใจของเรา ทำให้อีกฝ่ายรู้ว่าไม่สามารถควบคุมเราได้ง่ายๆ  

 

อีกหนึ่งวิธีที่นักจิตวิทยาหลายคนพูดถึง คือการให้ผู้ถูกกระทำบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองเจอมากับบุคคลที่สาม อาจเป็นเพื่อน ญาติพี่น้อง คนในครอบครัว หรือจิตแพทย์ เพราะเลนส์คนที่มองเข้ามาโดยที่ไม่ได้รับผลกระทบจะทำให้เห็นมุมมองอีกมุมหนึ่ง รวมถึงการพยายามเอาตัวออกห่างจากคนที่ Gaslighting ที่อาจต้องค่อยๆ เริ่มถอยห่าง เว้นระยะมากขึ้นเรื่อยๆ  

 

แต่ถึงอย่างนั้น ใครๆ ก็สามารถถูก Gaslighting ได้ ไม่ว่าเขาหรือเธอจะเป็นคนที่เรียนจบระดับปริญญาเอก เป็นคนดังที่มีชื่อเสียง นักกฎหมาย นักวิชาการ ทุกคนมีโอกาสถูกควบคุม และไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าแบบที่ ดร.อลิซาเบธแนะนำได้เสมอไป จนทำให้เห็นหลายกรณีที่เหยื่อเข้าสู่โหมดถูกควบคุมโดยสมบูรณ์ ยากที่จะรู้สึกตัวแล้วก้าวออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษได้ทัน จนสูญเสียความมั่นใจ และเกิดความเครียดสะสมจนต้องพบจิตแพทย์ 

 

ทางด้านของผู้ที่ Gaslighting คนอื่น ที่แสดงพฤติกรรมซ้ำบ่อยครั้ง สำนักข่าว BBC เคยยกกรณีชายคนหนึ่งชื่อ เกรก (นามสมมุติ) ที่มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับผู้หญิงหลายสิบคน เขาจะมีเทคนิคในการทำให้ตัวเอง ‘พ้นผิด’ ด้วยการพูดให้อีกฝ่ายที่ไม่มีความผิดเป็นคนผิดแทน 

 

ท้ายที่สุดเกรกจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดจากจิตแพทย์ ซึ่งจิตแพทย์ต้องวิเคราะห์ต่อว่าผู้กระทำแต่ละคนมีลักษณะการ Gaslighting แบบไหน เช่น บางคนที่ทำนิสัยแบบนี้เพราะโตมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ทำเพราะพยายามเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆ หรือบางคนทำเพราะเป็นผู้ที่มีอาการหลงตัวเองขั้นรุนแรง 

 

เราสามารถเอาผิดคนที่ Gaslighting ผู้อื่นได้หรือไม่?  

 

ในเมื่อการ Gaslighting หลายสถานการณ์ไม่ได้เข้าข่ายทำร้ายร่างกาย หมิ่นประมาท หรือคุกคามทางเพศ พฤติกรรมเหล่านี้จึงเกิดช่องโหว่ทางกฎหมาย ทำให้นัก Gaslighting ทั้งหลายรอดตัวจากการถูกลงโทษ 

 

แต่บางพื้นที่ไม่เป็นแบบนั้น ในปี 2015 รัฐบาลอังกฤษยอมรับว่าพฤติกรรมที่พิสูจน์ได้ว่าควบคุมหรือบีบบังคับคนรักหรือคนในครอบครัว ถือว่ามีความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 (Controlling or coercive behaviour in an intimate or family relationship) มีโทษสูงสุดคือการจำคุก 5 ปี และลงรายละเอียดความผิดปลีกย่อยเอาไว้หลายกรณีด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น บุคคล A กระทำความผิดต่อบุคคล B ด้วยการควบคุมและบีบบังคับซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบร้ายแรงต่อ B หรือการตรวจสอบว่ามีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่า A กำลังกระทำบางอย่างกับ B เพราะหวังผลประโยชน์บางอย่าง รวมถึงมีการจำแนกอายุของผู้ถูกกระทำว่ายังเป็นเด็กและเยาวชนอยู่หรือไม่ เพื่อพิจารณาบทลงโทษต่อไป 

 

จูเลีย ฟาร์รูเจีย พอร์เทลลี (Julia Farrugia Portelli) นักการเมืองชาวมอลตา เป็นอีกคนที่ต้องการปรับกฎหมายให้พฤติกรรม Gaslighting มีความผิดฐานก่อความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง เพราะถือว่าพยายามเข้าควบคุมจิตใจ ทำให้เหยื่อเกิดความสับสน โดยเธอมีข้อเสนอแนะกับรัฐบาลของตัวเองว่า ควรเริ่มพิจารณาเคส  Gaslighting จากความรุนแรงในครอบครัวก่อน 

 

ทางด้านกฎหมายไทยก็ยังคงไม่ชัดเจน THE STANDARD ได้สอบถามไปยัง ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและ สส. พรรคก้าวไกล เธอแสดงความคิดเห็นว่า เรื่องนี้ยังมีความกำกวมสูงมาก เพราะการนิยามพฤติกรรมคุกคามหลายคำยังไม่ชัด ทั้งคำว่า Grooming (การล่อลวง), Power Dynamic (การใช้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ) รวมถึง Gaslighting ซึ่งความเข้าใจของผู้คนที่มีต่อคำเหล่านี้ไม่เท่ากัน 

 

ศศินันท์กล่าวว่า Gaslighting ส่วนใหญ่มักมาในรูปแบบคำพูด จริงๆ การใช้คำพูดเป็นความผิดได้เหมือนกัน เพราะมีกฎหมายในเรื่องข่มเหงจิตใจอยู่ ถ้าเป็นสามีภรรยากันแล้วเกิดการด้อยค่า ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ลดทอนคุณค่า ก็จะเป็นเหตุในการฟ้องหย่าได้

 

แต่สำหรับประเด็น Gaslighting ที่ภาพยังไม่ชัด สังคมต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนกันสักพักก่อนจะออกมาเป็นกฎหมาย อย่างกรณีการคุกคามที่เกิดขึ้นในพรรคก้าวไกล เมื่อมองผิวเผินหลายคนอาจคิดว่าไม่มีอะไรมาก แต่พอเราได้เข้าไปสอบจึงได้เห็นความผิดปกติมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในทางหนึ่ง การออกกฎหมายหลายฉบับ ไม่ได้แปลว่าพฤติกรรมคุกคามจะหายไปจากสังคม 

 

ต่อให้มีกฎหมายมากขนาดไหน แต่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมยังคงไม่เข้าใจ เราก็แก้ปัญหาไม่ได้มากอยู่ดี เพราะเวลาคดีเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตำรวจไม่ได้เข้าใจกันทุกคน ไม่รู้ว่าระดับไหนจะเรียกได้ว่าคุกคามข่มเหง พอเข้าสู่ชั้นศาล อัยการศาลก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้เท่ากันอีก เหยื่อหรือผู้เสียหายจะรู้สึกถูกกระทำซ้ำทั้งจากตำรวจที่ซักถาม จากอัยการ และจากศาล ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าสู่กระบวนการทางอาญา 

 

เมื่อเป็นแบบนี้เราเลยต้องตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ผู้เสียหายกล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คำตอบคือตอนนี้คนในองค์กรตำรวจ อัยการ และศาล ไม่ได้มีความรู้หรือมีมุมมองแบบ Gender Lens กันทุกคน จึงจำเป็นต้องมีการอบรมประเด็นเหล่านี้ หรือพิจารณาว่าควรมีแผนกแยกออกไปเลยหรือไม่ ซึ่งหลายประเทศมีการเรียนรู้ตกผลึกมากกว่าเรา 

 

เพราะฉะนั้นความเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ร่วมกันอีกสักพัก ขณะเดียวกันกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็ต้องเดินหน้าไปพร้อมกันด้วย ไม่ใช่ว่าสังคมตระหนัก มีการออกกฎหมายเยอะมาก แต่กระบวนการยุติธรรมกลับตามไม่ทัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising