ภายหลังจากรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นการพูดถึงร่างกฎหมายควบคุมเกมที่คาดว่าจะส่งผลกระทบกับบุคลากรในวงการ รวมถึงผู้ที่มีบทบาทในวงการเกม ผ่านกฎบังคับเป็นรายละเอียดแยกย่อยที่ต่างกันออกไป
ล่าสุดวันนี้ (8 กรกฎาคม) ในงาน ‘ตีป้อม เปิดแมป ปล่อยของ วิถีแห่งเกมและสุขภาวะของเยาวชนไทย’ จัดโดย ‘เพื่อไทยพลัส’ เวทีสนทนาในประเด็นเรื่องกฎหมายควบคุมเกม ที่อาจเกิดขึ้นและจะกลายเป็นตัวกำหนดวงการเกมในอนาคตอันใกล้ โดยมีผู้ร่วมพูดคุย เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย, ธานิน ภิรมย์หวาด ประธานกรรมการบริหาร Electronics Extreme, ตรีภพ เที่ยงตรง หรือ Xyclopz นักพากย์และเจ้าของธุรกิจ อีสปอร์ต และบุคลากรในวงการอีกมากมาย ร่วมวงสนทนาในครั้งนี้
โดยสิ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยเป็นประเด็นหลักๆ คือเงื่อนไขที่อาจถูกผูกมากับตัวกฎหมายควบคุมเกม เช่น การห้ามสตรีมเมอร์ทำการสตรีมเกมนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง การห้ามจัดการแข่งขันอีสปอร์ตในสถานศึกษา และห้ามเล่นเกมแนว FPS หรือเกมแนวยิงผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งทั้งหมดกำลังสร้างผลกระทบให้บุคคลหลายภาคส่วน
เริ่มจากประเด็นการจำกัดเวลาสตรีมเกมไม่เกิน 2 ชั่วโมง ตัวแทนจากสื่อ ‘แวดวงอีสปอร์ต’ กล่าวว่า ก่อนอื่นทุกคนต้องมีความเข้าใจที่ตรงกันว่า รายได้ส่วนใหญ่จะเกิดจากจำนวนคนดูและยอดชั่วโมงที่สตรีมเกม นั่นเท่ากับว่ายิ่งเหล่าสตรีมเมอร์ทำงานนานขึ้น ก็จะส่งผลให้รายได้โตขึ้นด้วยเช่นกัน อีกทั้งที่สำคัญตลอดระยะเวลาที่สตรีมนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องสตรีมตลอดเวลา โดยผู้ทำหน้าที่ก็จะมีการพักร่างกายด้วยการหยุดดื่มน้ำ ทานอาหาร พูดคุยกับผู้ชมทางบ้าน ดังนั้นปัญหาจึงสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่พิจารณาหรือบุคคลที่กำลังเขียนร่างกฎหมายนี้เข้าใจในสิ่งนี้ดีหรือยัง
ขณะเดียวกันเรื่องการจำกัดการเล่นเกมแนว FPS จากเหตุผลเรื่องความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ แต่ในประเด็นนี้อาจส่งผลในแง่ของการซื้อ การลิดรอนสิทธิ์ในการเลือกเล่นเกมของบุคคลนั้นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งมันจะไม่กระทบเพียงแค่สตรีมเมอร์กับผู้ชม แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างผลกระทบที่บานปลายถึงผู้ประกอบธุรกิจในวงการเกม
ขณะที่ธานินกล่าวเสริมในประเด็นข้างต้นเกี่ยวกับมุมมองของธุรกิจว่า หากมีการแบนเกมแนว FPS จริง จะเกิดผลกระทบในแง่รายได้แน่นอน และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าต่อให้แบนเกมในประเทศ เด็กๆ ก็สามารถเล่นเกมจากต่างประเทศได้อยู่ดี เพราะปัจจุบันโลกออนไลน์สามารถเชื่อมถึงกันได้ค่อนข้างง่าย หากมีการซื้อเกมจากต่างประเทศ ก็จะทำให้รายได้ที่ควรเข้าประเทศอาจไหลออกจากไทยโดยสมบูรณ์แบบ
นอกจากนี้ ดลประภพ เทียนดำ หรือ ‘SunWaltz’ นักพากย์เกมชื่อดังของเมืองไทย กล่าวถึงกรณีการห้ามจัดการแข่งขันอีสปอร์ตในสถานศึกษา ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มองได้หลายมุม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่เฝ้าจับตามองเหมือนกันว่าการจัดการแข่งขันในสถานศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่
แต่ขณะเดียวกันสิ่งนี้อาจเป็นการจุดประกายในการสร้างอาชีพได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในหลากเหตุผล เนื่องจากการจัดการแข่งขันในสถานศึกษาอาจเป็นตัวช่วยให้นักศึกษาได้ทดลองงาน อย่างการจัดทัวร์นาเมนต์แข่งเกมสักรายการหนึ่งไปในตัว ก็จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ซึมซับและเข้าใจการทำงานด้านนี้ได้ดี และที่สำคัญเรื่องนี้เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน เรื่องของสุขภาพเยาวชนก็เป็นเรื่องที่ชวนคิด แต่ขณะเดียวกันก็ควรจะต้องคิดถึงคนในวงการอย่างทั่วถึงด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวโดยสรุปว่า ประเด็นทั้งหมดควรเป็นสิ่งที่ต้องมีการพูดคุย พร้อมร่วมเสดงความคิดเห็นจากบุคคลหลายฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างผู้ที่ประกอบอาชีพอยู่ในสายวงการเกม
อีกทั้งในอนาคตข้างหน้าเรื่องของดิจิทัล เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จะเป็นฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศไทย ที่อาจสร้างเม็ดเงินราว 20,000 ล้านบาทให้ประเทศได้ แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ คือผู้ที่มีส่วนในการกำกับดูแลเรื่องนี้ดูจะไม่ค่อยมีความเข้าใจกับประเด็นที่กล่าวมาพอสมควร
ทั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์เปรยว่า ในเวทีสนทนาต่อไปจะมีการเชิญผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในร่างกฎหมายนี้มาคุยกับกลุ่มตัวแทนที่ทำงานในวงการ ผ่านการประมวลข้อมูลที่ได้สะท้อนกันออกมาจากภาคประชาชนและกลุ่มคนในวงการว่า ที่สุดแล้วกฎหมายแบบไหนคือความพอดี และที่สำคัญทุกอย่างต้องผ่านการฟังความเห็นจากคนในวงการด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์