×

‘ติดพนัน = ติดยา’ ถกปัญหาพนันออนไลน์ ภัยร้ายทำลายเยาวชน

23.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins read
  • ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่าคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะเข้าสู่การพนันเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน จากการสำรวจพบว่าเด็กอายุต่ำสุดที่เล่นการพนันครั้งแรกคือ 7 ขวบ คนไทย 2.172 ล้านคนติดพนัน เป็นเด็กและเยาวชน 207,000 คน และพนันออนไลน์คือภัยคุกคามล่าสุด
  • การติดพนัน ในทางการแพทย์อธิบายว่าเป็นอาการที่คล้ายคลึงกับการติดสารเสพติด ถือว่าเป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งเรียกว่า ‘โรคติดพนัน’ (Gambling Addict) เกิดจากความรู้สึกนึกคิดและความยับยั้งชั่งใจของคนเรา ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสังคม

 

 

การเสี่ยงโชค เสี่ยงทาย เป็นเรื่องปกติของชีวิตมนุษย์ทั่วไป แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นได้ยกระดับขึ้นมาเป็นกิจลักษณะจนถึงขั้นเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ก็ทำให้คนจำนวนหนึ่งหลงใหลและติดหล่มไปในกิจกรรมเหล่านั้น ซึ่งเรียกว่า ‘การพนัน’


สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน การทายผลฟุตบอล เป็น 3 การพนันยอดฮิตสำหรับคนไทย แม้การพนันจะมีทั้งที่อนุญาตให้มีการเล่นอย่างถูกกฎหมาย แต่ที่ผิดกฎหมายก็ยังมีอยู่มาก รวมทั้งการกำกับดูแลของพนันที่ถูกกฎหมายก็มีข้อครหาอยู่เป็นจำนวนมาก

 


พัฒนาการของการพนันตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบันที่เรียกว่า ‘พนันออนไลน์’ ทำให้การเข้าถึงการพนันง่ายขึ้น และเรียกว่าเป็นศูนย์รวมการพนันเกือบทุกประเภท ส่งผลให้ประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อ และส่งผลเสียหายต่อตัวเองเมื่อมีอาการติดพนัน ซึ่งร้ายแรงเท่ากับการติดสารเสพติดจนอาจลุกลามเป็นปัญหาอื่นๆ ต่อสังคมและประเทศชาติ อาชญากรถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากจากสิ่งที่เรียกว่าการพนัน

 

 

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์

 

สถานการณ์พนันโลก สถานการณ์พนันไทย

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน อธิบายไว้ในหนังสือ การพนันในยุคเปลี่ยนผ่าน รายงานประจำปี 2559 ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในตลาดการพนันของโลกอยู่ 3 ประการ ดังนี้


หนึ่ง ตลาดการพนันของโลกนั้นมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดคาสิโน ในเอเชียมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง มีจีนเป็นลูกค้าสำคัญ นโยบายการปราบปรามคอร์รัปชันและการฟอกเงินของจีนทำให้มีการควบคุมการโอนเงินระหว่างประเทศและการเดินทางไปต่างประเทศของข้าราชการเข้มงวดมากขึ้น ทำให้ปริมาณลูกค้าในคาสิโนมาเก๊าและภาพรวมรายได้คาสิโนทั่วประเทศลดลง


สอง การเติบโตของการพนันออนไลน์มีความชัดเจนและต่อเนื่อง ทำให้มีการอนุญาตให้มีการพนันออนไลน์ที่ถูกกฎหมายเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยการพนันทายผลการแข่งขันมีส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาดออนไลน์


สาม ปัญหาคอร์รัปชันในการจัดการแข่งขันกีฬาเพิ่มมากขึ้นจากอิทธิพลของนักพนันทายผลการแข่งขัน ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลปัญหาการทุจริตการจัดการแข่งขัน

 


สถานการณ์เหล่านี้กำลังอธิบายอะไรในแง่ของประเทศไทยที่ต้องยอมรับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการเล่นการพนันมากเช่นเดียวกัน แม้จะไม่ได้มีการอนุญาตให้ตั้งคาสิโนเป็นธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปัญหาการพนันที่ปรากฏอยู่บนหน้าสื่อก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย หากโฟกัสไปที่ ‘พนันออนไลน์’ น่าจะถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านการพนันมาถึงยุคปัจจุบันที่ถาโถมตามความผันผวนของวงการพนันโลกมาสู่ประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


จากรายงานของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันในปี 2558 พบว่า คนไทยเล่นการพนัน 52.4% หรือประมาณ 27.4 ล้านคน ในจำนวนนี้มีนักพนันที่เป็นเด็กและเยาวชนประมาณ 3.1 ล้านคน แต่ละคนจะเล่นการพนันประมาณ 2-11 ประเภท การพนันที่ได้รับความนิยมสูงสุดของคนไทย 3 อันดับแรกคือ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน และพนันทายผลฟุตบอล และข้อมูลที่น่าสนใจพบว่าคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่การพนันเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน โดยมีข้อมูลจากการสำรวจพบว่าเด็กอายุต่ำสุดที่เล่นการพนันครั้งแรกคือ 7 ขวบ มีตัวเลขว่าคนไทย 2.172 ล้านคนติดพนัน ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน 207,000 คน


ขณะที่พนันออนไลน์เป็นความท้าทายใหม่ของการที่จะป้องกันเด็กและเยาวชน เนื่องจากควบคุมได้ยาก เว็บไซต์ที่ให้บริการพนันออนไลน์มีการทำงานที่เป็นเครือข่ายและเป็นระบบ ขณะที่หน่วยงานของรัฐยังไม่มีการทำงานที่เป็นระบบ ทำงานแยกส่วนกันแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งระบบกฎหมายก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ

 

 

รู้จักพนันออนไลน์ผ่านคนทำงานด้านปัญหาการพนัน

หนึ่งในองค์กรที่ทำงานขับเคลื่อนและติดตามสถานการณ์การพนันในประเทศไทยก็คือ ‘โครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ’ ซึ่งมี พงศ์ธร จันทรัศมี เป็นผู้จัดการ เขาและทีมงานได้ติดตามปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่องหลายปี และพบว่าปัญหาพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องน่าห่วง ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องต่ออนาคตของชาติและทิศทางประเทศในวันข้างหน้า THE STANDARD มุ่งตรงไปที่มูลนิธิสุขภาพแห่งชาติเพื่อพูดคุยในประเด็นเหล่านี้


พงศ์ธรอธิบายว่า พนันออนไลน์มีความน่ากลัวอยู่ 3 ประการคือ มันก้าวข้ามเขตแดน สามารถเล่นที่ไหนก็ได้ มันสามารถเล่นได้เร็ว เล่นต่อเนื่องได้ จ่ายเงินได้เร็ว ได้ไว คล่องตัว แก้มือได้เรื่อยๆ ทำให้คนติด โอกาสหมดเนื้อหมดตัวก็มากขึ้น และไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเป็นหลัก “ที่ผ่านมาตำรวจจับได้แต่ตัวคอมพิวเตอร์ แต่ไม่สามารถจับเอาตัวการของปัญหาที่เป็นเจ้าของมาดำเนินคดีได้”


เขาอธิบายว่าสิ่งที่ดำเนินการภายใต้โครงการเหล่านี้เพื่อต้องการที่จะคลี่ภาพให้คนในสังคมไทยเห็นว่าการพนันที่แฝงมากับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ส่งผลเสียและทำให้เกิดปัญหาอย่างไร รวมถึงการควบคุมดูแลที่ไม่มีเอกภาพจากภาครัฐด้วย


“สิ่งที่น่ากลัวของพนันออนไลน์คือคนไม่คิดว่ามันเป็นการพนัน อารมณ์ต่างกันกับการซื้อหวย ซื้อลอตเตอรี่ อันนั้นคนยังคิดว่าเป็นการพนันนะ อันนี้คนมองว่ามันเป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนาน”

 

 


ขณะที่พัฒนาการของพนันออนไลน์​ทำให้มีผลต่อพฤติกรรมที่จะสามารถเสพติดได้ง่าย พงศ์ธรขยายความว่ากฎหมายบ้านเราถือว่าสิ่งนี้ผิดกฎหมาย ไม่มีการปิดเว็บไซต์พนันออนไลน์เหล่านี้อย่างจริงจัง ความน่ากลัวที่สุดคือเด็กและเยาวชนสามารถตั้งตัวเป็นเจ้าของเว็บพนันออนไลน์ได้ เป็นเจ้าของบ่อนขนาดย่อย ทำให้ทัศนคติของเด็กกลายเป็นว่าพนันออนไลน์เป็นมิตรกับเขา เพราะมันสามารถสร้างรายได้ให้เขาได้ มีเด็กอายุต่ำที่สุดคือ 7 ขวบที่เข้ามาเล่นพนันครั้งแรกโดยเริ่มต้นจากไพ่


“คนที่เสพติดพนันมากที่สุดคือรัฐบาล เพราะหาเงินได้ง่าย หาเงินจากประชาชนเพื่อเข้ารัฐได้ด้วยการเปิดคาสิโน หรือการทำให้หวยใต้ดินมาอยู่บนดิน มันจะวนเวียนกลับมาให้เราพูดกันตลอด รัฐบาลก็จะมองแต่เรื่องรายได้ แล้วก็จะพูดแค่ว่าก็เอามาทำให้ถูกกฎหมายสิ ในเมื่อมันมีอยู่แล้ว แต่ที่ไม่เคยพูดเลยก็คือการดูแลควบคุม แถมยังพยายามที่จะทำให้ถูกกฎหมาย”


สำหรับเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่เห็นพ่อแม่เล่นหวยอย่างบ้าคลั่งก็มีส่วนให้เขาซึมซับ พูดง่ายๆ คือสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนสำคัญให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้เลียนแบบและมองว่าเป็นเรื่องปกติ และแม้ว่าจะบอกว่าพนันเป็นสิ่งไม่ดี ผิดกฎหมาย เราก็อยู่กับมันมาตลอดจนหลายอย่างเราคิดว่ามันไม่ใช่การพนัน เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งจริงๆ แล้วโดยรูปแบบมันคือการพนัน แต่รัฐทำให้มันถูกกฎหมาย คนก็เชื่อเช่นนั้น


“พ่อแม่ที่เล่นการพนันจะมีการฝังสิ่งเหล่านี้ลงไปในพันธุกรรม เป็นงานวิจัยที่บอกว่าพ่อแม่มีผลต่อลูกที่เติบโต แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน เพราะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วย แต่ปัญหาก็คือเด็กส่วนใหญ่ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ พ่อแม่และครอบครัวมีส่วนในการส่งเสริมพฤติกรรมการเล่นพนันให้กับเขาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม”

 

เยาวชนกับปัญหาติดการพนัน และทางรอดของสังคมไทย

พงศ์ธรอธิบายว่า ในทางการแพทย์มีวิธีทดสอบว่าอะไรจะบ่งชี้ว่าแต่ละคนมีอาการติดการพนันหรือไม่ด้วยวิธีการทำแบบทดสอบ ซึ่ง 3 อาการที่สามารถเป็นพฤติกรรมเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่ามีอาการติดพนันก็คือ มีการคิดวนเวียนอยู่แต่เรื่องพนัน อยากเล่นตลอดเวลา ต่อมาก็จะรู้สึกกับตัวเองว่าเล่นแล้วรู้สึกผิด ไม่น่าเล่นเลย ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสุดท้ายคืออยากเอาคืน อยากแก้ตัว หากมีพฤติกรรมแบบนี้แสดงว่าสุ่มเสี่ยงต่อการติดการพนัน และในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถสังเกตอาการได้จากภายนอกเพียงอย่างเดียว อีกทั้งคนส่วนใหญ่ก็มักปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้มีอาการติดพนัน


สำหรับอาการติดการพนัน ในทางการแพทย์อธิบายว่าเป็นอาการที่คล้ายคลึงกับการติดสารเสพติด ถือว่าเป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งเรียกว่า ‘โรคติดพนัน’ (Gambling Addict) เกิดจากความรู้สึกนึกคิดและความยับยั้งชั่งใจของคนเรา โดยเฉพาะในวัยเด็ก หากได้ถลำลึกไปสู่วังวนการพนันและเสพติดจนป่วยเป็นโรคนี้จะมีผลต่อ ‘สมอง’ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง และก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา


“กลุ่มคนเล่นพนันออนไลน์มีอายุระหว่าง 15-55 ปี มีความหลากหลายทางวิชาชีพ คือเล่นกันทุกอาชีพ แต่กลุ่มนักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีการเพิ่มจำนวนของผู้เล่นมากขึ้น”


การควบคุม กำกับ จัดการพนันออนไลน์ เมื่อไปดูโมเดลต่างประเทศคือต้องห้ามเด็กไม่ให้เข้าถึงการพนัน แม้ว่าการพนันนั้นจะถูกกฎหมาย เพราะว่าเด็กและเยาวชนยังไม่มีวุฒิภาวะที่สามารถจะควบคุมตัวเองได้ กฎหมายไทยก็มี แต่ก็ไม่มีหน่วยงานที่ดูแลกำกับหรือติดตามเรื่องนี้ ต่อมาคือต้องดูประเภทการพนัน ต้องดูว่าการพนันอะไรเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบวงกว้างต่อประชาชน อย่างเราไม่ยอมให้มีการตั้งคาสิโน ก็แสดงว่าต้องมีคนมองเห็นว่าการพนันเหล่านี้มีปัญหา รวมทั้งการทายผลฟุตบอลผ่านช่องทางออนไลน์


“พนันที่เราพูดคือธุรกิจการพนันที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน มีรางวัล มีเงินมูลค่าสูงๆ มาล่อตาล่อใจ การเล่นในครอบครัวยังเบา แต่นั่นก็ส่งผลต่อพฤติกรรมเลียนแบบจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา


“พูดอย่างจริงจังคือเราต้องปิดกั้นการเข้าถึงช่องทางเว็บไซต์ของพนันออนไลน์ แม้จะมีคนบอกว่าปิดขนาดไหนก็สามารถที่จะเปิดได้อีก แต่นั่นแหละ ในต่างประเทศเขาก็สามารถทำได้ มีทั้งระบบยืนยันตัวตน ระบบไล่ปิดเว็บ เราก็ต้องจริงจังกับเรื่องนี้ไม่ให้มีช่องทางที่จะเติบโตและเข้าไปในพื้นที่ของเด็กและเยาวชนมากขึ้น

 

“ต้องทำให้ชัดเจน กล้าที่จะพูดว่าอะไรคือการพนัน เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาลคือการพนัน วัดและสถานที่ราชการต้องปลอดพนัน ถ้าทำเรื่องนี้ในสังคมให้จริงจัง เด็กก็จะเข้าใจได้ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ถูกต้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมองว่ามันเป็นปัญหาอย่างจริงจัง ต้องลุกขึ้นมาแก้ไข ต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ”

 


สื่อมวลชนเป็นอีกส่วนสำคัญที่ให้พื้นที่ของการติดพนันมีบทบาทต่อสังคมมาก เราจะเห็นว่าวันที่ 1 และวันที่ 16 จะมีการถ่ายทอดสดผลการออกรางวัล ซึ่งจริงๆ นี่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่เราก็ไม่ได้กำกับดูแลอย่างเข้มงวด ควรจะมีแนวปฏิบัติในการออกข่าว เช่น ข่าวสิ่งเหนือธรรมชาติที่กระตุ้นการเข้าถึง การอยากลุ้นผลสลากฯ ก็มักจะมาก่อนการออกรางวัล อาจเป็นเพราะต้องการยอดคนดู แต่ก็ควรต้องให้พอเหมาะพอควร “สื่อมีบทบาทเป็นดาบสองคม คือเป็นทั้งไฟที่ส่องให้เห็นปัญหา และเป็นไฟที่เผาทำลายไปในตัวเองด้วย


“ต้องยุติไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการพนัน ตีตราว่าการพนันเป็นสิ่งไม่ดีต่อสังคม” พงศ์ธรทิ้งท้าย


และเมื่อปัญหานี้ไม่มีทางที่จะหมดไปจากสังคมมนุษย์ ก็ต้องควบคุมให้กระทบต่อชีวิตผู้คนและสังคมให้ได้มากที่สุด เมื่อเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มจะเข้าสู่การพนันได้เร็วขึ้น โดยเฉลี่ยคนจะเริ่มเล่นพนันครั้งแรกเมื่ออายุ 22 ปี และหวยใต้ดิน ไพ่ และสลากกินแบ่งรัฐบาลคือ 3 การพนันยอดฮิตของการเริ่มต้นเดินเข้าสู่สิ่งนี้ ก็ต้องหาวัคซีนให้เด็กและสังคม ภาคส่วนต่างๆ ต้องช่วยกันเพื่อให้การแก้ปัญหามีความยั่งยืน

 

FYI
  • โครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มี พงศ์ธร จันทรัศมี เป็นผู้จัดการโครงการ และมีนักวิชาการอีก 3 คนคือ สุวลัย เมืองเจริญ, ชาญณรงค์ สังข์อยุทธ และกัญญารัตน์ ลบเมฆ ที่ทำงานต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายเหล่านี้มาเกือบ 10 ปี มีที่ตั้งอยู่ที่มูลนิธิสุขภาพแห่งชาติ หากต้องการข้อมูลและติดตามประเด็นเหล่านี้เพื่อช่วยสะท้อนปัญหาหรือกระตุ้นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถมาร่วมพูดคุยกับพวกเขาได้
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising