×

เพชร วัชรพล เบื้องหลังความสำเร็จของ ‘Gadhouse’ แบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงไทยที่เจาะตลาดไกลทั้งไทยและเทศ

05.04.2022
  • LOADING...

หากเดินเข้าร้านค้าที่เป็น Selected Store สักร้านในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เรารับประกันว่าคุณจะต้องเจอเครื่องเล่นแผ่นเสียงสไตล์เรโทรสีสดใสจาก Gadhouse วางเป็นสินค้าแนะนำอยู่มากกว่าครึ่งหนึ่งแน่ จนคุณอาจนึกสงสัยว่านี่คือแบรนด์อะไร ทำไมถึงทำการตลาดได้ทั่วถึงทุกมุมเมืองขนาดนี้

 

และหากจะว่ากันตรงๆ ไม่ใช่แค่ตลาดไทยเท่านั้นที่ Gadhouse เจาะตลาดได้ หากย้อนไปในช่วงตั้งต้น Gadhouse เริ่มต้นเปิดตัวในตลาดต่างประเทศอย่างอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น ก่อนด้วยซ้ำ แล้วจึงกลับมาบุกตลาดไทยอย่างจริงจังในช่วง 2-3 ปีให้หลังนี้

 

ด้วยรูปลักษณ์ที่ดึงดูดใจ การใช้งานที่เป็นมิตรกับกลุ่มผู้ใช้งานที่สนใจอยากเริ่มต้นเข้าวงการแผ่นเสียง Gadhouse ยังได้คอลแล็บกับศิลปินแนวหน้าทั้งไทยและเทศไม่ว่าจะเป็น Polycat, Honne หรือแม้แต่การรับผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นพิเศษกับ Lisa BLACKPINK 

 

THE STANDARD POP ขอพาคุณผู้อ่านไปคุยกับ เพชร-วัชรพล เตียวสุวรรณ์ ผู้อยู่เบื้องหลัง Gadhouse มาตั้งแต่วันที่แบรนด์ยังเป็นเพียงแค่ไอเดีย ว่าอะไรที่ทำให้เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบรนด์ไทยอย่าง Gadhouse ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้  

 

 

สังเกตว่าช่วงนี้คนเริ่มหันมาเล่นแผ่นเสียงกันจริงจังมากขึ้น นับเป็นยุคทองของแผ่นเสียงในประเทศไทยอีกครั้งได้เลยไหม

เพชร: ยอมรับว่าคึกคักมาก วงการแผ่นเสียงในไทยโตขึ้นจนเริ่มมีโรงงานที่ผลิตแผ่นเสียงในไทยด้วย วงดนตรีก็เริ่มออกแผ่นพร้อมกับการปล่อยเพลงใหม่เลย มันเป็นช่วงขาขึ้นที่คนเล่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่ตก ความชันของกราฟอาจไม่ได้พุ่งเท่าตอนที่คนเห็นว่ามันเป็นสิ่งใหม่ วัยรุ่นเห็นเป็นเทรนด์แล้วกลับมาเล่นกันแรกๆ แต่ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างแมส มีคนเข้าถึงมากขึ้น ไม่ได้จับต้องยากเหมือนเมื่อก่อน ทุกวันนี้ลูกค้าที่เข้ามาหาเราก็เริ่มเป็นลูกค้าที่เขยิบไปเป็นกลุ่มที่เล่นกันจริงจังขึ้น  

 

 

ต่างจากยุคที่คุณเริ่มต้นเข้าสู่วงการอย่างไรบ้าง บรรยากาศตอนนั้นเป็นแบบไหน

เพชร: ยุคที่ผมเริ่มชอบแผ่นเสียงมันกลายเป็นของเก่าไปแล้ว ถ้าพูดถึงยุคทองของแผ่นเสียงจริงๆ มันคงเป็นยุคก่อนที่ของใช้ต่างๆ มันยังเป็นอะนาล็อก ยังมีโรงงานแผ่นเสียง มีการผลิตแผ่นเสียง มีวิทยุที่เปิดด้วยแผ่นเสียง ที่ไทยเองก็เคยมีแบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงอยู่ด้วยเหมือนกัน แต่ผมก็ไม่ทันยุคนั้นนะ (หัวเราะ)

 

ช่วงปี 2008-2009 ที่ผมเริ่มสนใจ ตอนนั้น iPod อยู่ในช่วงพีคแล้ว แพลตฟอร์มที่ใช้ฟังก็เป็น iTunes มีให้กดซื้อเพลง ระบบสตรีมมิงเริ่มมา แต่ยังไม่ได้ฟรีขนาดนั้น แผ่นซีดีก็ยังมีอยู่ ตอนนั้นแผ่นเสียงเหมือนเป็นสิ่งใหม่ของวัยรุ่น วงอินดี้ในอเมริกาเริ่มผลิตแผ่นจำนวนไม่เยอะมากมาเพื่อ Record Store Day

 

แต่ในฝั่งเอเชีย ญี่ปุ่นนี่เขาเล่นมาเรื่อยๆ อยู่แล้วนะ มีกลุ่มที่เขาเล่นกันอย่างจริงจังและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

 

 

แล้วอะไรทำให้คุณชอบสิ่งนี้จนรู้สึกว่าแค่ชอบและสะสมอย่างเดียวไม่พอ ขอทำแบรนด์ด้วยเลยดีกว่า

เพชร: เป็นลักษณะนิสัยของเรามากกว่า เราชอบฟังเพลงแล้วมันก็ค่อยๆ ถลำลึกจนไปชอบพวกเครื่องเสียงด้วย เหมือนพอศึกษาไปเจอสิ่งที่ตายไปแล้วอย่างแผ่นเสียง และเริ่มเห็นว่ามีกลุ่มคนในอเมริกาเริ่มกลับมาเล่นกัน เริ่มมีแผ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกครั้ง เราก็สนใจ

 

เราเห็นว่าในอเมริกามีช่องทางพอให้ไปได้ด้วย มันมีช่องทางออนไลน์ที่เป็นโอกาสให้เราเข้าไปขายของได้ และแบรนด์ที่เน้นเสิร์ฟคนที่เพิ่งก้าวเข้ามาสู่โลกอะนาล็อก สู่เครื่องเล่นแผ่นเสียง ซึ่งเป็นโพสิชันเดียวกับเราก็ยังมีไม่เยอะมาก ตอนที่คิดจะทำเราเลยเหมือนใช้ความชอบขับเคลื่อนไปก่อน ในวัยนั้นเราก็ไม่ได้กลัวอะไรมากด้วย เพราะเรายังมีงานประจำรองรับอยู่ ยังไม่ต้องระวังหลังอะไร มีแค่เรากับพาร์ตเนอร์ ก็เลยทำให้ลุยได้เต็มที่

 

 

ถ้ามองว่าวงการแผ่นเสียงของญี่ปุ่นไม่เคยดรอปลงเลย ทำไมตอนเริ่มทำแบรนด์คุณถึงเริ่มด้วยตลาดอเมริกา แทนที่จะบุกญี่ปุ่น

เพชร: ภาษาและความยากในการเข้าใจเขา ด้วยความที่วัฒนธรรมบ้านเขาไม่ค่อยเปิดรับกับภาษาอังกฤษ เราต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นสื่อสารกับเขาทั้งหมด เราเลยเริ่มจากสิ่งที่เราเข้าใจและพร้อมกว่าคือภาษาอังกฤษ

 

จริงๆ สเต็ปการทำแบรนด์ของเราก็ใช้วิธีการคิดธุรกิจทั่วไปเลย ดูว่ามีจุดแข็ง-จุดอ่อนตรงไหน ดูว่าตลาดจะไปทางไหนได้ แล้วก็กลับมาดูว่าเรามีทรัพยากรอะไรอยู่ ที่มีเพิ่มมากหน่อยก็อาจจะเป็นเรื่องความชอบ ความถนัด เลยทำให้เรามีแรงใจในการทำแบรนด์เพิ่มขึ้น

 

เราเห็นแล้วว่าในตอนนั้นตลาดบ้านเรายังไม่พร้อม ก็เลยเริ่มต้นจากที่ที่มันมีตลาดอยู่แล้วก่อน ทำสินค้าให้ดูอินเตอร์เพื่อจะได้ดูน่าเชื่อถือ โชคดีที่คนใช้สินค้าประเภทนี้มักจะชอบแบ่งปันไลฟ์สไตล์ตัวเองให้คนอื่นเห็นด้วย การบอกว่าเราชอบฟังเพลงนี้ เราชอบสิ่งนี้ มันเลยเหมือนเป็นปากต่อปากไปในตัวมันเองอยู่แล้ว

 

 

ถ้าให้วิเคราะห์ อะไรทำให้ Gadhouse ไปถึงระดับโกลบอลได้ อะไรทำให้คนชอบแบรนด์เรา

เพชร: ผมว่าเพราะเพลงมันเป็นภาษาของโลกด้วย พฤติกรรมคนเล่นแผ่นเสียง คนฟังเพลงคล้ายกันหมด คนเลยเข้าถึงสินค้าของเราง่ายโดยที่ไม่ต้องอธิบายกันเยอะ เขาคงมีไลฟ์สไตล์คล้ายๆ กับที่เราเป็นนี่แหละ

 

ซึ่งจริงๆ ตอนทำตลาดออนไลน์ในต่างประเทศมันก็มีอุปสรรคนะ มีเรื่องที่เราไม่เคยรู้เลย อย่างเรื่องการเงิน การคิดกำไร-ขาดทุน การคิดจุดคุ้มทุน หรือแม้แต่ออนไลน์เองตอนนั้นก็เป็นศาสตร์ใหม่ที่เราต้องลองผิดลองถูก แต่การยอมลำบากช่วงแรกก็ทำให้เรารู้และเข้าใจ พอเราเริ่มต้นด้วยการไปขายในต่างประเทศไกลๆ ได้ วิธีการมันก็จะคล้ายๆ กัน เราจะเข้าใจภาพและเอาไปใช้กับที่อื่นได้ ยิ่งพอมาทำตลาดที่ไทยเลยยิ่งง่ายขึ้น เพราะพออยู่ที่เดียวกับลูกค้า การจะทำอะไรสนุกๆ มันก็ง่าย มีคอนเทนต์อีเวนต์ที่เราเล่นกับคนไทยได้เยอะกว่าตอนแรกที่เราขายออนไลน์ในต่างประเทศอย่างเดียวเยอะมาก

 

นอกจากนั้นก็เป็นเพราะตัวตนที่เราเป็น ความเรโทรที่เราออกแบบมามันยังตอบสนองกับตลาดได้อยู่ ไม่มีใครเหมือนเราเท่าไร เราเลยยังไปได้อยู่ แต่ถึงอย่างนั้นจริงๆ แล้ววันแรกที่ทำเราไม่ได้คิดว่าทุกคนทั่วโลกจะต้องรู้จักเรานะ เราแค่อยากให้มันอินเตอร์ อาจจะอยู่แค่ในเอเชียก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่การขายแค่ตลาดเดียว ประเทศเดียวแน่นอน เพราะถ้าเป็นแบบนั้นตลาดมันจะเล็กมาก เราอยู่ไม่ได้หรอก เรามีภาพว่าจะขายหลายๆ ตลาดอยู่แล้ว แค่ยังมองไม่ออกว่ามันจะโตไปได้ขนาดไหน

 

 

ในวันแรกเริ่มคุณมองภาพ Gadhouse ไว้อย่างไร และ Gadhouse ในทุกวันนี้จะเดินต่อไปในทิศทางไหน

เพชร: เป็นแบรนด์สินค้าเรโทรที่แฝงความทันสมัยอยู่ในนั้น เราแทนภาพของสินค้าแต่ละชนิดด้วยคาแรกเตอร์ของคนแต่ละแบบ ให้สินค้าเป็นตัวแทนของคนที่มีความชอบ มีสไตล์ต่างกันไป อยู่ในแนวคิดเดียวกันคือ House of Gadget คอนเซปต์แรกเราไม่ได้เน้นว่าจะเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงด้วยซ้ำ

 

ทุกวันนี้เราก็ยังพยายามเติมหมวดหมู่สินค้าใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น พัฒนาโปรดักต์ไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปตามตลาด มีทั้งเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามา รวมถึงมีการคอลแล็บกับศิลปินที่มีกลุ่มผู้ติดตามใกล้เคียงกัน Overlab กันได้มาช่วยเพิ่ม Awareness ให้คนกลุ่มอื่นๆ รู้จักเรามากขึ้น

 

เราอยากให้โปรดักต์ของเรามีความดิจิทัลและโมเดิร์นทันตลาดได้มากที่สุด สามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันได้ และถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มันไปถึงโกลบอลจริงๆ ให้เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศจริงๆ โดยที่เราก็จะไม่ลืมพยายามซัพพอร์ตวงการ ซัพพอร์ตคนที่เล่น มีอีเวนต์และสถานที่อย่าง Format ให้คนที่ชอบแผ่นเสียงได้มาเจอกัน เป็น Music Comunity ที่มีทั้งโชว์รูม Gadhouse ร้านน้ำชา บาร์ แล้วก็แบรนด์เครื่องเสียง Hi-End มารวมกัน ให้คนสามารถเจอเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้ตั้งแต่รุ่นถูกสุดยันแพงสุดได้ในที่เดียว

 

 

ทุกวันนี้ Gadhouse เองก็ไม่ใช่แค่แบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียง แต่กลายเป็นคอมมูนิตี้ย่อมๆ ของคนรักเสียงเพลงและการฟังเพลงจากแผ่นเสียง ในแพลตฟอร์มออนไลน์ของพวกเขามีเรื่องราวน่ารู้ในวงการให้คอยติดตาม อีกทั้งยังมีร้าน Format BKK ที่คุณสามารถไปดูเครื่อง ช้อปแผ่น และฟังเพลงกันได้ ที่สำคัญพวกเขากำลังวางแผนจัดงาน Record Store Day ในเดือนเมษายนนี้ด้วย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยที่ https://www.facebook.com/gadhousethailand

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X