ปิดฉากไปแล้วกับการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 รวม 3 วัน ที่เมืองคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งบรรดาผู้นำต่างเห็นพ้องที่จะผลักดันแนวคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อกระจายวัคซีนช่วยเหลือประเทศที่ยากจนในการต่อสู้กับโควิด-19 ตลอดจนปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ในแถลงการณ์ร่วมที่ออกช่วงท้ายการประชุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (13 มิถุนายน) ผู้นำกลุ่ม G7 ที่ประกอบด้วยแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา พยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศได้กลับมาแล้ว หลังจากที่เสื่อมถอยลงจากวิกฤตโรคระบาดและนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มุ่งให้ความสำคัญกับประเทศตนเป็นอันดับแรก
และนี่คือบทสรุปสำคัญจากที่ประชุมซัมมิต G7
มอบวัคซีน 1 พันล้านโดส
ที่ประชุม G7 ให้คำมั่นว่าจะแบ่งปันวัคซีนกับประเทศรายได้ต่ำที่ต้องการวัคซีนเร่งด่วน โดย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ระบุในแถลงการณ์สรุปผลการประชุมว่า กลุ่ม G7 จะมอบวัคซีนอย่างน้อย 1 พันล้านโดส ซึ่งราวครึ่งหนึ่งจะมาจากสหรัฐฯ และอีก 1 ร้อยล้านโดสจากสหราชอาณาจักร
โดยวัคซีนจำนวนมากจะกระจายผ่านโครงการ COVAX ซึ่งเป็นระบบซื้อขายวัคซีนทั่วโลกที่สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่มพันธมิตรวัคซีน Gavi
อย่างไรก็ตาม ทีโดรส อัดฮานอม เกบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO แสดงความเห็นว่า แผนมอบวัคซีนที่ G7 รับปากไว้นั้นยังไม่เพียงพอกับความต้องการหากจะยุติโรคระบาดให้ได้ เขาเห็นว่าจะต้องใช้วัคซีน 1.1 หมื่นล้านโดสสำหรับฉีดให้ประชากรโลกอย่างน้อย 70% ภายในกลางปี 2022
การสอบสวนต้นตอโควิด-19 อย่างโปร่งใส
ที่ประชุม G7 ยังเรียกร้องให้จีนให้ความร่วมมือกับ WHO ในการสืบสวนต้นตอของโรคระบาดโควิด-19 ในเฟสที่ 2 อย่างโปร่งใส
“เราเรียกร้องให้มีการศึกษาเกี่ยวกับต้นกำเนิดโควิด-19 ในจีนระยะที่ 2 ที่ดำเนินการโดย WHO ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โปร่งใส นำโดยผู้เชี่ยวชาญและตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงตามคำแนะนำจากรายงานของผู้เชี่ยวชาญ” แถลงการณ์ร่วมจาก G7 ระบุ
ยกระดับมาตรการแก้โลกร้อน
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญของการประชุม G7 วันสุดท้าย ซึ่งมีการสนับสนุนการดำเนินการร่วมกันเพื่อจัดการกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม
“เรามุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยคาร์บอนโดยรวมลงครึ่งหนึ่งในช่วง 2 ทศวรรษ จนถึงปี 2030 รวมทั้งเพิ่มและปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณด้านสภาพอากาศจนถึงปี 2025 และอนุรักษ์หรือปกป้องผืนดินและมหาสมุทรอย่างน้อย 30% ภายในปี 2030” แถลงการณ์ร่วมระบุ
ควบคู่ไปกับแผนช่วยเร่งระดมทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีหมุนเวียนและยั่งยืน กลุ่ม G7 ยังรับปากที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายด้านการเงินเพื่อลดคาร์บอนด้วย
กำหนดภาษีขั้นต่ำทั่วโลกสำหรับบริษัทข้ามชาติ
ที่ประชุมเห็นพ้องให้ประเทศต่างๆ เก็บภาษีขั้นต่ำ 15% กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อหยุดปัญหาการที่บริษัทเหล่านี้หลบเลี่ยงภาษีโดยย้ายไปดำเนินงานในดินแดนที่เรียกว่า Tax Havens ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำกว่า โดยข้อเสนอนี้จะผลักดันเข้าเป็นวาระหนึ่งในการประชุมกลุ่ม G20 ที่อิตาลีในเดือนหน้าด้วย
รัสเซียกับการโจมตีทางไซเบอร์
กลุ่ม G7 เรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียดำเนินมาตรการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีทางไซเบอร์และใช้แรนซัมแวร์ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัสเซียสอบสวนกรณีการใช้อาวุธเคมีในดินแดนของรัสเซียเอง
ท้าทายจีน
ผู้นำ G7 ระบุว่า จะทำงานร่วมกันเพื่อท้าทายแนวปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาดของจีน พร้อมเรียกร้องให้จีนเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ต้องการโน้มน้าวให้ผู้นำโลกประชาธิปไตยผนึกกำลังกันให้มากขึ้นเพื่อแข่งขันทางเศรษฐกิจกับจีน พร้อมทั้งเรียกร้องให้จีนหยุดการดำเนินนโยบายที่ไม่เกี่ยวกับตลาดและการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในแถลงการณ์ G7 ระบุว่า “ในส่วนที่เกี่ยวกับจีนและการแข่งในระบบเศรษฐกิจโลกนั้นเราจะหารือกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับแนวทางร่วมกัน เพื่อท้าทายนโยบายและแนวปฏิบัติที่ไม่เกี่ยวกับตลาด ซึ่งทำลายความเป็นไปของระบบเศรษฐกิจโลกที่ยุติธรรมและโปร่งใส”
ภาพ: Leon Neal / Getty Images
อ้างอิง: