×

บทสรุปภาพแห่งปี ซัมมิต G7 เวทีแลกหมัดผู้นำโลก ความบาดหมางร้าวลึก และโอกาสทองของจีน

11.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MINS READ
  • ที่ประชุม G7 ปีนี้สะท้อนปัญหาขัดแย้งภายในกลุ่มแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ตัดสินใจเดินออกจากที่ประชุมก่อนกำหนด และปฏิเสธลงนามรับรองแถลงการณ์ของ G7 ที่มีต่อนโยบายต่อต้านการกีดกันการค้า การแก้ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน และความร่วมมือลดปัญหาโลกร้อน
  • สัญญาณการถดถอยของกลุ่ม G7 กลายเป็นโอกาสขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ซึ่งผงาดสวนทางขึ้นมาอย่างโดดเด่น โดยจีนสามารถผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในที่ประชุม ซึ่งจัดขึ้นไล่เลี่ยกับซัมมิต G7 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปิดฉากลงไปแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ที่รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าคว้าน้ำเหลวตามคาด เนื่องจากบรรดาผู้นำได้เปลี่ยนเวทีความร่วมมือและเวทีแสดงฉันทามติในจุดยืนที่มีต่อปัญหาสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ให้กลายเป็นสังเวียนทำสงครามน้ำลายระหว่างประเทศสมาชิก G7 จากมูลเหตุของสงครามการค้าที่จุดชนวนโดยสหรัฐฯ  

 

ภาพไวรัลภาพหนึ่งจากซัมมิต G7 ครั้งนี้ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียลมีเดีย เพราะสามารถสรุปเรื่องราวทั้งหมดของการประชุมปีนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ

 

เป็นภาพที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั่งกอดอกด้วยสีหน้าขึงขัง และถูกห้อมล้อมโดย อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่เอามือเท้าโต๊ะขณะยืนคุยกับทรัมป์อย่างเคร่งเครียด ขนาบข้างด้วย เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

 

ภาพดังกล่าวเป็นผลงานของเจสโก เดนเซล ช่างภาพของรัฐบาลเยอรมนี และเผยแพร่โดย สเตฟเฟน ไซเบิร์ต โฆษกประจำตัวของแมร์เคิล

 

จริงๆ แล้วในห้องประชุมนี้ยังมี จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา (ยืนด้านหลังทรัมป์) และ จูเซปเป คอนเต้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลี (ยืนอยู่ด้านซ้ายของทรัมป์) แต่ทั้งสองไม่ปรากฏอยู่ในภาพ ขณะที่ข้างกายทรัมป์ยังมี แลร์รี คุดโลว์ ที่ปรึกษาสูงสุดด้านเศรษฐกิจของทรัมป์ และจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติด้วย  

 

อะไรคือชนวนความบาดหมางล่าสุดภายในกลุ่ม G7

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่บรรดาผู้นำ G7 จะลงนามในแถลงการณ์ร่วมในช่วงท้ายการประชุมเพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กำลังเป็นกระแสหรืออยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

แต่ปีนี้ทรัมป์ได้ตัดสินใจออกจากที่ประชุมก่อนกำหนดเพื่อเดินทางไปร่วมประชุมซัมมิตกับคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือที่ประเทศสิงคโปร์ โดยทรัมป์ได้ปฏิเสธลงนามรับรองเนื้อหาของแถลงการณ์ร่วม G7 ซ้ำยังกำชับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ไม่ให้ลงนามแทนเขาด้วย

 

อันที่จริงแล้วปัญหาระหองระแหงระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป (EU) แคนาดา และญี่ปุ่นได้สั่งสมมาระยะหนึ่งแล้ว นับตั้งแต่ทรัมป์ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2017 เริ่มจากทรัมป์วิจารณ์เยอรมนีและญี่ปุ่นว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลทุกปี นอกจากนี้ทรัมป์ยังฉีกข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เพื่อบีบแคนาดาและเม็กซิโกให้ตั้งโต๊ะเจรจาเงื่อนไขกับสหรัฐฯ ใหม่อีกครั้ง ตลอดจนการที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

 

ในประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ สหรัฐฯ และ EU ก็มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่สหรัฐฯ จัดทำขึ้นร่วมกับ 5 ชาติมหาอำนาจในยุคสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ถึงแม้ว่า EU จะเห็นดีเห็นงามกับข้อตกลงดังกล่าวเพื่อให้อิหร่านยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ แต่ทรัมป์กลับคัดค้านอย่างหนัก โดยอ้างว่าอิหร่านไม่จริงใจ และมองว่าข้อตกลงนี้มีเงื่อนไขจำกัดขอบเขตกิจกรรมทางนิวเคลียร์ของอิหร่านภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดเท่านั้น แต่ไม่มีกลไกห้ามปรามอิหร่านในการพัฒนาขีปนาวุธ ดังนั้นจึงไม่สามารถตรวจสอบและควบคุมได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะไม่สามารถหยุดยั้งอิหร่านไม่ให้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้จริง

 

นอกจากนี้ EU และแคนาดายังไม่พอใจที่สหรัฐฯ หันหลังให้กับความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ‘ข้อตกลงปารีส’ แถมยังแสดงความเห็นปัดความรับผิดชอบที่ว่าสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตัวการที่สำคัญของปัญหาโลกร้อน เพราะเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่พอๆ กับจีน

 

ความกระด้างกระเดื่องที่ทรัมป์มีต่อกฎกติการะหว่างประเทศ ทำให้หลายประเทศในซีกโลกตะวันตกเกิดความเอือมระอา และฟางเส้นสุดท้ายก็ได้ขาดสะบั้นลง เมื่อสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีกับประเทศพันธมิตรและคู่ค้าเก่าแก่ โดยเรียกเก็บอากรขาเข้ากับเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และ EU ที่อัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศเหล่านี้เป็นอย่างมาก เพราะ EU แคนาดา และเม็กซิโก มียอดส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ รวมมูลค่าสูงถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปี 2017

 

ไม่เพียงเท่านี้ ทรัมป์ยังขู่บนเวที G7 ด้วยว่าจะขยายขอบเขตมาตรการภาษีให้ครอบคลุมถึงสินค้าหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีและอิตาลี ประเทศผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก

 

แน่นอนว่ามาตรการด้านศุลกากรของทรัมป์ทำให้หลายประเทศอยู่นิ่งเฉยไม่ได้และต้องงัดกำแพงภาษีขึ้นมาตอบโต้สหรัฐฯ เช่นกัน โดยแคนาดาประกาศตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยมาตรการภาษี โดยจะเริ่มเก็บอากรขาเข้ากับสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในอัตรา 25% ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ครอบคลุมสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคตั้งแต่เมล็ดกาแฟคั่ว วิสกี้ ไปจนถึงโยเกิร์ต

 

ขณะที่ EU เตรียมตอบโต้ด้วยบัญชีขึ้นภาษีอากรสินค้ายาวเป็นหางว่าวจำนวน 10 หน้ากระดาษ ตั้งแต่ถั่วไปจนถึงยานัตถุ์

 

สารัตถะของแถลงการณ์ร่วม G7 ประจำปี 2018 คืออะไร

ด้วยบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร ส่งผลให้สหรัฐฯ และประเทศที่เหลือในกลุ่ม G7 ไม่สามารถรอมชอมกันได้ และทำให้ทรัมป์ตัดสินใจไม่ลงนามในแถลงการณ์ร่วม แม้ว่าอีก 6 ประเทศจะสนับสนุนแถลงการณ์ของที่ประชุมปีนี้ก็ตาม

 

สำหรับประเด็นการค้าซึ่งเป็นหนึ่งในวาระหลักของการประชุมครั้งนี้นั้น ทั้งแคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ต่างก็เห็นพ้องว่าทุกประเทศจำเป็นต้องส่งเสริมการค้าเสรี มีความยุติธรรม และมอบผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการต่อสู้กับนโยบายกีดกันทางการค้าของหลายประเทศ

 

นอกจากเรื่องการค้าแล้ว ที่ประชุม G7 ยังต้องการให้รัสเซียยุติพฤติการณ์ที่บั่นทอนเสถียรภาพในยุโรปและตะวันออกกลาง รวมถึงเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากซีเรีย และยุติการสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธเคมีเข่นฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์ แต่ทรัมป์กลับสวนกระแสโดยเรียกร้องให้ G7 เปิดประตูต้อนรับรัสเซียให้กลับเข้ามาเจรจาในกลุ่ม G8 อีกครั้ง

 

ส่วนประเด็นอิหร่านที่ถกเถียงกันมานานนั้น ในที่ประชุม G7 ครั้งนี้มี 6 ประเทศที่แสดงจุดยืนร่วมสร้างหลักประกันอย่างถาวรว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านจะเป็นโครงการเพื่อสันติ

 

นอกจากนี้แถลงการณ์ร่วมยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ ที่ไม่ยอมลงนามในข้อตกลงช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน หลังจากทรัมป์ได้ประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสไปก่อนหน้านี้

 

ที่ประชุม G7 ยังเห็นพ้องที่จะจัดสรรงบประมาณจำนวน 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กผู้หญิงและสตรีผู้ยากไร้ทั่วโลก

 

การแลกหมัดระหว่างผู้นำ

ถึงแม้การประชุม G7 จะปิดฉากลงแล้วด้วยการออกแถลงการณ์ร่วม แต่ทรัมป์ยังคงเปิดศึกกับบรรดาผู้นำอย่างไม่หยุดหย่อน เริ่มด้วยการวิจารณ์ถ้อยแถลงของนายกฯ จัสติน ทรูโด ในกรณีข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ และย้ำว่าแคนาดาเป็นฝ่ายผิดต่อสหรัฐฯ ก่อน โดยการตั้งกำแพงภาษีใส่เกษตรกร แรงงาน และบริษัทอเมริกัน

 

ทรัมป์ยังทวีตข้อความหลังเดินทางถึงสิงคโปร์ด้วยว่า การค้าที่เป็นธรรมถูกเรียกขานว่าการค้าแบบโง่ๆ แล้วในขณะนี้ เพราะนี่ไม่ใช่การค้าต่างตอบแทน เนื่องจากแคนาดามีรายได้สูงถึง 1 แสนล้านเหรียญจากการค้ากับสหรัฐฯ แต่จำนวนนี้เป็นเงินจากอากรนำเข้าผลิตภัณฑ์นมที่แคนาดากำหนดไว้สูงถึง 270%

 

อย่างไรก็ดี อัลเบิร์ต แคมป์ส รองนายกสมาคม Alberta Milk ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนเกษตรกรในรัฐแอลเบอร์ตาของแคนาดาออกมาโต้แย้งทรัมป์ว่า ในความเป็นจริงแล้ว แคนาดาอนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากนมโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีในสัดส่วน 10% แรก แต่ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯ กลับยกเว้นภาษีให้เพียง 3% แรกกับผลิตภัณฑ์นำเข้าหมวดเดียวกัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเกิดความไม่สมดุลขึ้น

 

ขณะที่ คริสตา ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศของแคนาดาระบุว่า ข้ออ้างที่ทรัมป์ใช้ในการเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดาเป็นเรื่องที่ไร้สาระและเป็นการดูหมิ่นคนแคนาดาอย่างโจ่งแจ้ง หลังทรัมป์อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงโดยระบุว่าการที่ประเทศจะมีกองทัพที่ยิ่งใหญ่ได้จำเป็นต้องมีรายรับและรายจ่ายที่สมดุล

 

สงครามน้ำลายระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และแคนาดาเป็นไปอย่างดุเดือด หลัง ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษานโยบายการค้าของทรัมป์ได้แสดงความเห็นกับ Fox News เมื่อวานนี้ว่า มีสถานที่พิเศษในนรกสำหรับผู้นำต่างชาติ หากพวกเขามีวิธีปฏิบัติในทางการทูตต่อทรัมป์แบบไม่น่าไว้ใจ และพยายามจะแทงข้างหลังในระหว่างที่เขาเดินออกจากห้องประชุม

 

ขณะที่ แลร์รี คุดโลว์ กล่าวเสริมว่า ทรูโดเป็นคนทรยศและหักหลังทรัมป์

 

การปะทะคารมกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และแคนาดาเป็นเรื่องที่เราพบเห็นไม่บ่อยครั้งนัก โดยนักวิเคราะห์มองว่าทรัมป์กำลังฉุดความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ดำดิ่งสู่ห้วงความขัดแย้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี

 

ล่าสุดทรูโดยืนยันว่าแคนาดาจะไม่ยอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ ในเรื่องนี้อย่างแน่นอน และพร้อมเดินหน้าตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยกำแพงภาษีตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป

 

ไม่เพียงแค่ทรูโดเท่านั้น อังเกลา แมร์เคิล ก็ออกมากล่าวโจมตีทรัมป์และแสดงความผิดหวังที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ลงนามในแถลงการณ์ร่วมของ G7 โดยระบุว่าเป็นการตัดสินใจที่น่าเศร้าสลด

 

ก่อนหน้านี้ เอ็มมานูเอล มาครง ได้เรียกร้องให้ 6 ประเทศในกลุ่ม G7 ร่วมมือกันต่อต้านนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐฯ โดยระบุว่าเป็นภัยคุกคามใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ กำลังใช้อิทธิพลครอบงำประเทศพันธมิตร

 

มาครงยังออกแถลงการณ์ร่วมกับทรูโดก่อนที่ซัมมิตจะเริ่มต้นขึ้นว่า ผู้นำ G7 ไม่ควรลดทอนความสำคัญของแถลงการณ์ร่วมด้วยการทำลายค่านิยมร่วมกันเพียงเพื่อจะเอาใจสหรัฐฯ ดังนั้นทุกประเทศจึงไม่ควรอ่อนข้อให้ทรัมป์

 

เปรียบเวที G7 กับ SCO ที่มีจีนเป็นหัวหอก

แม้องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO จะเป็นเวทีความร่วมมือที่แตกต่างจากกลุ่ม G7 แต่เนื่องจากสองเวทีจัดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน จึงทำให้หลายคนอดนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะในขณะที่ผู้นำ G7 ผลักดันแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือภายในกลุ่มอย่างทุลักทุเล แต่จีนกลับเฉิดฉายขึ้นมาในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมความเป็นเอกภาพขององค์การ SCO ในระหว่างการประชุมซัมมิต ณ เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา  

 

SCO ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2001 ด้วยจุดประสงค์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงภายในกลุ่มประเทศยูเรเชีย ปัจจุบันมี 8 ประเทศสมาชิก ได้แก่ จีน, รัสเซีย, อินเดีย, ปากีสถาน, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน นอกจากนี้ยังมี 4 ประเทศผู้สังเกตการณ์ ประกอบด้วย มองโกเลีย, อิหร่าน, อัฟกานิสถาน และเบลารุส และ 6 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ อาร์เมเนีย, อาเซอร์ไบจาน, กัมพูชา, เนปาล, ศรีลังกา และตุรกี

 

ในขณะที่ผู้นำ G7 ไม่สามารถบรรลุฉันทามติร่วมกันในเนื้อหาของแถลงการณ์จากที่ประชุม แต่ในอีกซีกโลกหนึ่ง ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกลับสามารถเชิดชูจิตวิญญาณขององค์การ SCO ซึ่งให้ความสำคัญกับการแสวงหาความร่วมมือบนผลประโยชน์ร่วมกัน โดยละทิ้งปัญหาขัดแย้งไว้เบื้องหลัง

 

ในที่ประชุม SCO ยังมีมติรับรองเอกสารความร่วมมือ 17 ฉบับ ครอบคลุมแผนปฏิบัติการสำหรับปี 2018-2022 ว่าด้วยการปฏิบัติตามสนธิสัญญาความเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีและความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิก SCO ในระยะยาว ตลอดจนโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการต่อต้านการก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน และลัทธิสุดโต่ง

 

นอกจากความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมแตกต่างจากเวที G7 แล้ว การปรากฏตัวของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย, นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย และประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานีของอิหร่าน ยังทำให้เวที SCO ดูมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในสายตาชาวโลก จนมีผู้คาดหวังว่าองค์การ SCO อาจมีบทบาทกำหนดทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกในอนาคต

 

สีจิ้นผิงยังใช้เวที SCO ในการแสดงจุดยืนต่อต้านนโยบายเอกภาคนิยม และการกีดกันทางการค้า

 

“เราควรปฏิเสธแนวคิดการทำสงครามเย็นและการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มความร่วมมือต่างๆ และควรต่อต้านการกระทำที่มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงให้กับตนเองเพียงฝ่ายเดียวโดยแลกมาด้วยผลประโยชน์ของประเทศอื่นๆ” สีจิ้นผิงกล่าว

 

ถึงแม้สีจิ้นผิงจะไม่ได้เอ่ยชื่อสหรัฐฯ แต่มีความชัดเจนว่าเขาพยายามพาดพิงนโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของโดนัลด์ ทรัมป์ และเรียกร้องให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีและสร้างระบบเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง

 

นอกจากจุดยืนของกลุ่ม SCO ที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว จีนยังประสบความสำเร็จในการแสดงบทบาทคนกลางที่คอยประสานความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ โดยสามารถดึงผู้นำอินเดียและปากีสถาน ซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อกันมาร่วมเจรจาในเวทีเดียวกัน ขณะที่จีนเองแม้ว่าจะไม่ถูกกับอินเดียนัก เพราะมีปัญหาพิพาทเรื่องดินแดนและการเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ก็สามารถแสดงให้โลกเห็นว่าจีนพร้อมจะทิ้งปัญหาขัดแย้งไว้เบื้องหลังเพื่อสานต่อความร่วมมือในมิติอื่นๆ ก่อน

 

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นเครื่องหมายคำถามว่า อนาคตของ G7 จะเป็นเช่นไร เพราะบทบาทในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกของ G7 เริ่มเสื่อมถอยลงทุกขณะ สวนทางกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ในกลุ่ม SCO ที่มีสิทธิ์มีเสียงบนเวทีโลกมากขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งภายใน G7 ยิ่งทำให้กลุ่มอ่อนแอลงไปอีก ซึ่งอาจกลายเป็นโอกาสสำหรับกลุ่ม SCO ในการผงาดขึ้นมามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ   

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X