วันนี้ (11 มิถุนายน) ตามเวลาท้องถิ่นของสหราชอาณาจักร การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา อิตาลี และญี่ปุ่น ร่วมด้วยตัวแทนจากสหภาพยุโรป ที่กินเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันอาทิตย์นี้ ณ เมืองคอร์นวอลล์ของอังกฤษจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ปีนี้บรรดาผู้นำจากเกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมด้วย
รายงานจากสำนักข่าว BBC ระบุว่า บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ส่วนหนึ่งเดินทางถึงเมืองคอร์นวอลล์แล้ว อาทิ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อม จิล ไบเดน ภริยา, โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น, เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส พร้อมด้วยภริยา และ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โดยผู้เข้าร่วมการประชุมจะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามปกติ ส่วนรายงานจากสำนักข่าว Reuters ระบุว่า ผู้นำและตัวแทนจากชาติที่ได้รับเชิญให้ร่วมประชุม รวมถึง อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ จะเดินทางมาถึงในวันพรุ่งนี้ (วันเสาร์) และอินเดียจะเข้าร่วมการประชุมนี้ผ่านระบบทางไกล
กำหนดการระบุว่า การหารือในวันศุกร์จะอยู่ในประเด็นการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ในช่วงเย็นบรรดาผู้นำมีกำหนดเข้าร่วมพิธีต้อนรับร่วมกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2, เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์, เจ้าชายวิลเลียม และแคทเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ จากนั้นจึงรับประทานอาหารเย็น และคาดว่าในวันอาทิตย์นี้จะมีการออกแถลงการณ์ร่วมจากบรรดาผู้นำด้วย
ส่วนสถานการณ์ก่อนเริ่มการประชุมนั้น เมื่อวานนี้ (10 มิถุนายน) บอริส จอห์นสัน เผยแพร่ข้อเขียนผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ระบุว่านี่ถือเป็นการเยือนทวีปยุโรปเป็นครั้งแรกของไบเดนหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และเป็นครั้งแรกที่ผู้นำประเทศประชาธิปไตยที่ร่ำรวยและทรงพลังมากที่สุดในโลกได้มีโอกาสพบปะด้วยตนเองตั้งแต่เกิดโรคระบาดเมื่อ 18 เดือนที่แล้ว และตอกย้ำถึงประเด็นที่จะมีการหารือกันในที่ประชุม เช่น การกระจายวัคซีนไปยังทั่วโลก ข้อตกลงเรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับโรคระบาด การกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งการปล่อยคาร์บอน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการทำให้เด็กผู้หญิงได้เข้าสู่โรงเรียนเพิ่มเติมกว่า 40 ล้านคนภายในปี 2025 ตลอดจนการลงนามกฎบัตรแอตแลนติกฉบับใหม่ที่ครอบคลุมประเด็นทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การค้า และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรที่มีต่อองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งจอห์นสันบอกว่า “เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับความมั่นคงของเรามานานหลายทศวรรษ”
ขณะที่สำนักข่าว CNN เผยแพร่บทความเกี่ยวกับอิทธิพลของจีนต่อการประชุม G7 ในครั้งนี้มีใจความว่า แม้จีนจะไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม G7 แต่การมีอยู่ของจีนก็มีอิทธิพลต่อการประชุมดังกล่าว โดยความท้าทายในเชิงอุดมการณ์จากการเติบโตที่เกิดจากการเติบโตของจีนถูกวางให้เป็นหนึ่งในหัวข้อเร่งด่วนที่สุดในการประชุมครั้งนี้ และในการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของไบเดนในฐานะประธานาธิบดีไบเดนถูกคาดว่าจะพยายามโน้มน้าวพันธมิตรเพื่อร่วมกับสหรัฐฯ ในการแสดงจุดยืนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อจีนเกี่ยวกับสถานการณ์ในหลายพื้นที่ อาทิ ซินเจียง ฮ่องกง และทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ในบางประเด็นก็เริ่มเห็นสัญญาณของแนวร่วมดังกล่าว อาทิ แถลงการณ์ร่วมระหว่างไบเดน และบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรที่ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการสอบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโควิด-19 ซึ่งรวมถึงในประเทศจีน และแรงสนับสนุนจากสหราชอาณาจักร ตลอดจนสมาชิกอื่นในกลุ่ม G7 จะเพิ่มน้ำหนักให้กับแรงผลักดันของไบเดนในการสอบสวนประเด็นนี้
CNN ยังระบุต่อไปว่า การประชุมดังกล่าวถูกคาดหมายว่าจะเห็นการเปิดตัวโครงการทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งริเริ่มโดยไบเดนเพื่อเป็นคู่แข่งของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่ได้รับเชิญให้ร่วมการประชุมอย่างออสเตรเลียก็อาจจะใช้โอกาสนี้ในการหาการสนับสนุนในกรณีข้อพิพาททางการค้ากับจีนด้วย
ซึ่งปฏิกิริยาของสหรัฐฯ และการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรนี้ดูเหมือนจะเป็นปฏิปักษ์กับทางการจีน โดยการผลักดันของไบเดนให้สอบสวนต้นกำเนิดของโควิด-19 ซึ่งรวมถึงทฤษฎีเรื่องเชื้อไวรัสหลุดจากห้องปฏิบัติการถูกทางการจีนกล่าวหาว่าเป็นการจัดการทางการเมืองเพื่อปัดการถูกตำหนิ ส่วนกรณีการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรเพื่อคุมอำนาจของจีน ทางการจีนกล่าวหาว่าสิ่งนี้คือการกระตุ้นการเผชิญหน้า พร้อมบอกด้วยว่าการใฝ่หาพันธมิตรทางการเมืองและจัดตั้งกลุ่มเล็กๆ นั้นไม่เป็นที่นิยมและจะล้มเหลว ซึ่งจีนขอให้ประเทศที่เกี่ยวข้องจะละทิ้งอคติทางอุดมการณ์และมองจีนในแง่ซึ่งอยู่บนความเป็นจริงและมีเหตุผล
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมุมมองหนึ่งที่ได้รับความสนใจในจีนว่า G7 เป็นเพียงสิ่งที่หลงเหลือมาจากอดีต และอิทธิพลของกลุ่มนี้รวมถึงชาติที่เข้าร่วมกำลังอยู่ในภาวะถดถอย ความคิดเห็นนี้ซึ่งถูกโปรโมตอย่างหนักโดยสื่อของรัฐบาลจีนนั้นได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างชัดเจนของจีนหลังช่วงโรคระบาด นอกจากนี้ความเห็นที่ปรากฏในสื่อจีนยังบอกด้วยว่าอิทธิพลและอำนาจของกลุ่ม G7 นั้นไม่เป็นที่คุ้มค่าที่จะรอคอยอีกต่อไป โดยอ้างว่าศูนย์กลางของแรงดึงดูดของโลกในทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ย้ายมาทางตะวันออกเรียบร้อยแล้ว CNN ชี้ว่าท่ามกลางแนวโน้มที่ประเทศในกลุ่ม G7 อาจมุ่งไปสู่การเป็นแนวร่วมในบางประเด็น ก็ยังต้องจับตาดูต่อไปว่าประเทศต่างๆ จะเต็มใจเสี่ยงที่จะทำลายความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีนหรือไม่ และเน้นย้ำว่าแม้โลกจะเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 แต่ประเทศทางตะวันตกหลายประเทศยังคงต้องพึ่งพาตลาดและการลงทุนของจีนเช่นเดิม ส่วนจีนเองก็ไม่ได้เคอะเขินที่จะใช้ประโยชน์จากการพึ่งพานั้น ดังจะเห็นตัวอย่างจากวันก่อนการประชุม G7 จะเริ่มขึ้น จีนก็ผ่านกฎหมายเพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรจากต่างประเทศเช่นกัน
ขณะเดียวกันก็มีการแสดงออกจากกลุ่มรณรงค์ต่างๆ เคียงไปกับการประชุม โดยวันนี้กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ Extinction Rebellion ได้รวมตัวกันในเมืองคอร์นวอลล์ เรียกร้องการดำเนินการในทันทีจากผู้นำกลุ่ม G7 และมีแผนที่จะเดินขบวนไปยังใจกลางเมือง รวมถึงมีประติมากรอย่าง โจ รัช ที่นำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาสร้างเป็นประติมากรรมที่มีรูปร่างคล้ายใบหน้าของผู้นำกลุ่ม G7 โดยให้ชื่อว่า ‘Mount Recyclemore’ เพื่อเน้นย้ำถึงความเสียหายที่เกิดจากการกำจัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และกระตุ้นให้เกิดการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่รีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย
ภาพ: Andrew Parsons / Downing Street / Pool / Anadolu Agency via Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.gov.uk/government/speeches/boris-johnson-g7-summit-is-a-chance-to-show-the-world-our-values
- https://www.bbc.com/news/live/uk-57433737
- https://www.reuters.com/world/uk/what-is-g7-summit-agenda-what-is-dinner-menu-2021-06-10/
- https://edition.cnn.com/2021/06/11/china/g7-summit-agenda-mic-intl-hnk/index.html