×

จับตาการประชุม G7 เวทีความร่วมมือหรือสังเวียนท้าชนสหรัฐ-EU

08.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • ซัมมิต G7 ปีนี้จัดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับแคนาดาและสหภาพยุโรปในประเด็นการค้า รวมถึงความไม่ลงรอยในจุดยืนการแก้ปัญหาโลกร้อนและปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน
  • คาดว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วม เนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนกรานจะไม่ยอมรอมชอมกับผู้นำฝรั่งเศส เยอรมนี และแคนาดา เพื่อแก้ปัญหาพิพาทระหว่างกัน

การประชุมสุดยอดของ 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 เปิดฉากขึ้นที่รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ท่ามกลางบรรยากาศอันอึมครึมของสงครามการค้า หลังสหรัฐฯ ประกาศตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากแคนาดาและสหภาพยุโรป ซึ่งมีฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลีรวมอยู่ด้วย

 

ความบาดหมางที่เกิดขึ้นทำให้ซัมมิต G7 ปีนี้แตกต่างไปจากเดิม ถึงขนาดมีคนเหน็บแนมว่าเป็นเวที G6+1 หรือ G6+สหรัฐฯ

 

ที่ผ่านมาซัมมิต G7 ถูกปรามาสอยู่แล้วว่าเป็นเวทีประชุมที่สร้างฉันทามติแบบหลวมๆ ต่อประเด็นระหว่างประเทศที่กำลังเป็นกระแสหรืออยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านความมั่นคง สิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจ เนื่องจากแถลงการณ์ร่วมไม่มีพันธกรณีต่อประเทศใดๆ อย่างชัดเจน อีกทั้งไม่ก่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจนหลายฝ่ายมองว่าเป็นการประชุมที่น่าเบื่อ

 

แต่ปีนี้อาจไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไป

 

 

ซัมมิต G7 ปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม ‘การลงทุนเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ดีสำหรับทุกคน’ ‘เตรียมตัวสำหรับตำแหน่งงานในอนาคต’ และ ‘การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ’ แต่คาดว่าหัวข้อเหล่านี้จะกลายเป็นประเด็นรอง เพราะผู้นำฝรั่งเศส เยอรมนี และประเทศเจ้าภาพอย่างแคนาดา เตรียมใช้เวทีนี้งัดข้อกับสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องข้อตกลงการค้าเสรี การแก้ปัญหาโลกร้อน และข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

 

อย่างที่ทราบกันว่า นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาได้ตัดสินใจนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ‘ข้อตกลงปารีส’ และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) นอกจากนี้ทรัมป์ยังต้องการฉีกข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เพื่อบีบแคนาดาและเม็กซิโกให้เจรจาเงื่อนไขกับสหรัฐฯ ใหม่อีกด้วย

 

 

ทรัมป์พร้อมท้าชน

แลร์รี คุดโลว์ ที่ปรึกษาสูงสุดด้านเศรษฐกิจของทรัมป์เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในจุดยืนของตัวเองและจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อประเด็นพิพาทต่างๆ นอกจากนี้ทรัมป์ยังเตรียมประกาศมาตรการทางภาษีกับแคนาดาเพิ่มเติมด้วย

 

ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้ประกาศบังคับใช้มาตรการเก็บอากรขาเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอะลูมิเนียมที่อัตรา 10% กับสหภาพยุโรป แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศเหล่านี้ เพราะ EU แคนาดา และเม็กซิโก มียอดส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ รวมสูงถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐมูลค่า 4.8 หมื่นล้านเหรียญในปี 2017

 

มาตรการล่าสุดของสหรัฐฯ ได้จุดชนวนสงครามการค้าขึ้น โดยแคนาดาประกาศว่าจะตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยมาตรการภาษีเช่นกัน โดยจะเริ่มเก็บอากรขาเข้ากับสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในอัตรา 25% ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ครอบคลุมสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคตั้งแต่เมล็ดกาแฟคั่ว วิสกี้ ไปจนถึงโยเกิร์ต

 

ขณะที่ EU เตรียมตอบโต้ด้วยบัญชีขึ้นภาษีสินค้ายาวเป็นหางว่าวจำนวน 10 หน้ากระดาษ ตั้งแต่ถั่วไปจนถึงยานัตถุ์

 

ด้วยบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์เป็นวงกว้างว่าช่วงท้ายซัมมิต G7 ครั้งนี้อาจไม่มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมต่อจุดยืนในนโยบายต่างๆ เนื่องจากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันของชาติสมาชิก ทำให้ไม่สามารถรอมชอมกันได้

 

ล่าสุดรัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนีประกาศเตือนว่าจะไม่เซ็นข้อตกลงขั้นสุดท้ายอย่างแน่นอน หากสหรัฐฯ ไม่ยอมถอย

 

 

นอกจากนี้ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในกลุ่ม G7 ลุกขึ้นต่อต้านนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามใหม่จากวอชิงตันที่พยายามใช้อิทธิพลครอบงำประเทศพันธมิตร

 

ผู้นำแดนน้ำหอมยังออกแถลงการณ์ร่วมกับ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ก่อนซัมมิตจะเริ่มต้นขึ้นว่า ผู้นำ G7 ไม่ควรลดทอนความสำคัญของแถลงการณ์ร่วมด้วยการทำลายค่านิยมร่วมกันเพียงเพื่อจะเอาใจสหรัฐฯ

 

ขณะที่ทรัมป์ตอบโต้ว่ารัฐบาลแคนาดาและฝรั่งเศสต่างดำเนินนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรมด้วยการบ่อนทำลายผู้ผลิตสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ผู้นำสหรัฐฯ ยังยืนกรานว่าจะไม่ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ สามารถดำเนินนโยบายต่างๆ ได้ด้วยตัวเองตามลำพัง หากชาติสมาชิกที่เหลือดึงดันสร้างปัญหายุ่งยากในระหว่างการประชุม    

 

ดังนั้นจึงน่าจับตาว่าซัมมิต G7 ปีนี้จะลงเอยอย่างไร แต่มีความเป็นไปได้สูงที่แถลงการณ์ร่วมในที่ประชุมอาจปราศจากลายเซ็นของผู้นำหลายประเทศ ซึ่งขัดกับธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา

 

กระแสจับตาในเวลานี้จึงอยู่ที่ความไม่เป็นเอกภาพภายในกลุ่ม G7 นอกเหนือจากความเป็นเสือกระดาษที่ไม่มีนโยบายผูกมัดอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีสัญญาณที่เด่นชัดด้วยว่าสหรัฐฯ กำลังตีตนออกห่างประเทศมหามิตรตามนโยบาย ‘America First’ ของโดนัลด์ ทรัมป์

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising