G7 เห็นพ้องเตรียมกำหนดเพดานราคาน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อลดความสามารถของรัสเซียในการจัดหาเงินทุนสำหรับสงครามในยูเครน และต่อยอดมาตรการคว่ำบาตรที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังต้องการการสนับสนุนจากนานาชาติในวงกว้างเพื่อทำให้มีประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องหารือเกี่ยวกับรายละเอียดอีกมาก รวมไปถึงเพดานราคาด้วย
ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศหรือ G7 ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับมาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันจากรัสเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดรายรับและความสามารถในการทำสงครามของรัสเซีย โดยไม่ทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น พร้อมๆ กับการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 กันยายน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ได้สร้างความคืบหน้าให้แผนการดังกล่าว พร้อมประกาศว่าจะต่อยอดและขยายขอบเขตการคว่ำบาตรที่มีอยู่ โดยเจ้าหน้าที่หลายคนได้เน้นย้ำว่า ยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก ก่อนจะกำหนดราคาสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของข้อเสนอจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงอินเดียและจีนว่าพร้อมจะดำเนินการตามแผนการนี้หรือไม่ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีประเทศใดแสดงความเต็มใจที่จะเข้าร่วม หลังจากรัสเซียเตือนว่าจะตอบโต้ประเทศใดๆ ก็ตามที่มีส่วนร่วมกับแผนการนี้ ด้วยการระงับการจัดส่งน้ำมัน
G7 ตกลงอะไรกันไปแล้วบ้าง?
G7 ได้ตกลงกันว่า จะห้ามการขนส่งน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากรัสเซียทางทะเล ที่มีราคาเหนือเพดานที่เตรียมกำหนด และอาจสั่งระงับการประกันภัยการจัดส่งน้ำมันดังกล่าวด้วย
โดยการประกันภัยการจัดส่งน้ำมันจะได้รับการอนุมัติก็ต่อเมื่อ การซื้อผลิตภัณฑ์อยู่ในราคาเพดานที่กำหนดไว้หรือต่ำกว่า
การกำหนดเพดานส่งผลกระทบต่อมาตรการคว่ำบาตรปัจจุบันหรือไม่?
ในแถลงการณ์ร่วม กลุ่ม G7 ยังระบุว่า การกำหนดเพดานราคาน้ำมันนี้จะมีผลบังคับใช้ควบคู่ไปกับมาตรการคว่ำบาตรครั้งต่อไปของสหภาพยุโรป ซึ่งรวมถึงคำสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียทางทะเล ซึ่งจะเริ่มในช่วงต้นเดือนธันวาคมด้วย
ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศจะออกคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการกำหนดเพดานราคาในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะยังไม่เปิดเผยราคาเพดานอย่างเฉพาะเจาะจง จนกว่าจะถึงวันที่มีผลบังคับใช้
สำหรับสหภาพยุโรปก็เตรียมกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเห็นพ้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ในการแก้ไขมาตรการคว่ำบาตรครั้งที่ 6 ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการห้ามค้าขายน้ำมันดิบของรัสเซียในกลุ่ม รวมถึงการปรับเปลี่ยนมาตรการห้ามบริการประกันภัยด้วย
ความเสี่ยงจากมาตรการกำหนดเพดานราคานี้
รัสเซียอาจส่งออกน้ำมันน้อยลง หากกลุ่ม G7 เริ่มบังคับใช้มาตรการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เชื่อว่า การลดผลผลิตน้ำมันลงอย่างมาก อาจทำให้กำลังการผลิตของรัสเซียลดลงไปด้วย
โดยย้อนกลับไปเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ผลผลิตน้ำมันของรัสเซียลดลงจากระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือต่ำกว่า 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยรัสเซียต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปีในการฟื้นฟูการผลิตให้สูงกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ การส่งออกน้ำมันของรัสเซียก็อาจลดลงเช่นกัน หากรัสเซียไม่สามารถหาเรือบรรทุกน้ำมันที่เต็มใจดำเนินการโดยไม่มีประกันจากตะวันตกได้เพียงพอ
ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่ม G7 ครองสัดส่วนร้อยละ 90 ของการประกันภัยการขนส่งสินค้าทั่วโลก ขณะที่รัสเซียส่งออกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการกลั่นเกือบ 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หมายความว่าต้องใช้เรือจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า รัสเซียอาจเสนอประกันทางเลือกสำหรับการขนส่งน้ำมันได้ ซึ่งประกันดังกล่าวอาจมีราคาแพงกว่า นับเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ซื้อน้ำมันเลือกใช้ระบบจำกัดเพดานราคา
ทำไมจีนและอินเดียถึงมีความสำคัญ
การส่งออกน้ำมันของรัสเซียลดลงประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายหลังการบุกโจมตียูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากผู้ซื้อจำนวนมากในยุโรปออกมาคว่ำบาตรรัสเซียจากกรณีดังกล่าว
โดยก่อนหน้านี้ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เตือนว่า ผลผลิตน้ำมันของรัสเซีย ซึ่งปกติแล้วจะสูงกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจลดลง 3 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในไม่กี่เดือน อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันของรัสเซียกลับมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเนื่องจากอินเดียและจีน
ก่อนเกิดสงครามในยูเครน อินเดียแทบไม่เคยนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเลย แต่ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ อินเดียกลับมีการนำเข้าน้ำมันดิบลดราคาของรัสเซียเกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของอุปทานทั่วโลก ตามรายงานของ Vortexa
โดยความสามารถของรัสเซียในการรักษาการส่งออกได้ช่วยให้ราคาน้ำมันโลกลดลงจากประมาณ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นเดือนมิถุนายน อยู่ที่ประมาณ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือประมาณระดับก่อนสงคราม
อ้างอิง:
- https://www.ft.com/content/1b570176-82ac-45fd-b9dc-96a05bacd8ae?list=intlhomepage
- https://edition.cnn.com/2022/09/02/business/russia-oil-price-cap-g7-intl-hnk/index.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP