×

กลุ่ม G7 บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ในการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ คาดกระทบบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่

06.06.2021
  • LOADING...
กลุ่ม G7

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา อิตาลี และญี่ปุ่น ร่วมด้วยสหภาพยุโรป บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ในการทำให้บริษัทข้ามชาติต้องเสียภาษีมากขึ้น ข้อตกลงนี้ได้รับการประกาศออกมาเมื่อวันเสาร์ ตามเวลาประเทศไทย หลังมีการเจรจากันมานานหลายปี ซึ่งคาดว่าน่าจะกระทบกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น Amazon, Facebook และ Google

 

ที่ผ่านมารัฐบาลหลายประเทศได้ต่อสู้กับความท้าทายในการเก็บภาษีบริษัทระดับโลกที่ดำเนินงานอยู่ในหลายประเทศ ความท้าทายดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกเมื่อมีความเติบโตในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น Amazon หรือ Facebook โดยทุกวันนี้บริษัทข้ามชาติสามารถใช้วิธีตั้งสาขาในประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลต่ำ แล้วจึงประกาศผลกำไรที่ประเทศเหล่านั้น นั่นจึงทำให้บริษัทเหล่านั้นสามารถจ่ายภาษีตามอัตราของประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ แม้ว่ากำไรของบริษัทจะมาจากการขายสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม ซึ่งวิธีนี้ถือว่าถูกกฎหมายและทำกันโดยทั่วไป

 

ซึ่งรัฐมนตรีคลังที่ประชุมกันในกรุงลอนดอนได้ข้อสรุปที่จะต่อสู้กับการเลี่ยงภาษี โดยการบังคับให้บริษัทเหล่านี้ต้องจ่ายภาษีในประเทศที่กำลังมีการขายสินค้าหรือบริการอยู่ และยังตกลงในหลักการที่จะกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำในระดับโลกที่ 15% เพื่อเลี่ยงปัญหาที่บางประเทศอาจปรับลดอัตราภาษีให้ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ คาดว่าจะมีการเพิ่มแรงกดดันต่อไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อให้ปฏิบัติตาม และจะมีการหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมในที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางในกลุ่ม G20 ที่เมืองเวนิส ในเดือนกรกฎาคมนี้

 

แถลงการณ์ของกลุ่ม G7 ระบุว่า กฎนี้จะถูกนำไปใช้กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีอัตรากำไรที่อย่างน้อย 10% โดยหลักการคือจะให้ประเทศที่บริษัทข้ามชาตินั้นๆ ทำธุรกิจอยู่จัดเก็บภาษีอย่างน้อย 20% จากอัตราผลกำไร 10% ส่วนอีกหลักการของข้อตกลงนี้กำหนดให้รัฐต้องกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลระดับโลกขั้นต่ำที่ 15% เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศต่างๆ แข่งกันตัดอัตราภาษีกันเอง

 

ทั้งนี้ การเก็บภาษีเหล่านี้จะมาใช้แทนที่ภาษีบริการดิจิทัล (Digital Service Taxes) ที่หลายประเทศตัดสินใจเก็บภาษีบริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่ด้วยตัวเองไปก่อนแล้วระหว่างรอการเจรจาการปฏิรูประบบภาษีดังกล่าว โดยแถลงการณ์จากที่ประชุม G7 ระบุตอนหนึ่งว่า “เราจะจัดให้มีการประสานงานที่เหมาะสม ระหว่างการบังคับใช้กฎภาษีระหว่างประเทศฉบับใหม่กับการยุติภาษีบริการดิจิทัลทั้งหมด และมาตรการอื่นๆ ที่คล้ายกันในทุกบริษัท”

 

และมีปฏิกิริยาจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่าง เจเน็ต เยลเลน ระบุว่า การกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำนี้จะทำให้การแข่งขันเรื่องการตัดลดอัตราภาษีนิติบุคคลยุติลง ประกันความเป็นธรรมสำหรับชนชั้นกลางและคนทำงานในสหรัฐฯ ตลอดจนทั่วโลก และยังช่วยในความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจโลกโดยการสร้างความเป็นธรรมสำหรับธุรกิจ และส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ แข่งขันกันในแง่บวก ส่วน โอลาฟ ชอล์ส รัฐมนตรีคลังของเยอรมนี ระบุว่า นี่ถือเป็นข่าวดีสำหรับความยุติธรรมทางภาษีและความสามัคคี แต่เป็นข่าวร้ายสำหรับ Tax Haven หรือพื้นที่ที่มีการเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ และบริษัทต่างๆ จะไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะหลบเลี่ยงภาระทางภาษีได้อีกต่อไป ส่วน ริชี สุนัค รัฐมนตรีคลังของสหราชอาณาจักร บอกว่า ข้อตกลงนี้จะทำให้ระบบภาษีของโลกเหมาะสมกับยุคดิจิทัล

 

ส่วนปฏิกิริยาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิ โฆษกของ Google ระบุว่า ทางบริษัทสนับสนุนอย่างยิ่งเกี่ยวกับการดำเนินการที่เกิดขึ้นเพื่อปรับปรุงกฎภาษีระหว่างประเทศ และหวังว่าประเทศต่างๆ จะร่วมกันทำงานต่อไปเพื่อทำให้มั่นใจว่าข้อตกลงที่สมดุลและคงทนจะมีข้อสรุปในเร็วๆ นี้ 

 

ส่วน นิค เคล็กก์ รองประธานด้านกิจการระดับโลกของ Facebook ทวีตข้อความว่า Facebook ได้เรียกร้องมาเป็นเวลานานเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎเกณฑ์ทางภาษีของโลก และยินดีกับความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในที่ประชุม G7 “เราต้องการให้กระบวนการปฏิรูปภาษีระหว่างประเทศประสบความสำเร็จ และตระหนักดีว่านี่อาจหมายถึงการที่ Facebook จะต้องจ่ายภาษีมากขึ้น และจะต้องจ่ายภาษีในที่ต่างๆ กันออกไป” เขาระบุ

 

อย่างไรก็ตาม The New York Times ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า แม้ว่าจะเห็นความก้าวหน้า แต่การทำข้อตกลงที่ครอบคลุมจะไม่ใช่เรื่องง่าย และภัยคุกคามจากสงครามการค้าก็ยังคงอยู่ หากประเทศต่างๆ ตัดสินใจเก็บภาษีบริการดิจิทัลเอาไว้ โดยยกตัวอย่างกรณีที่รัฐบาลของ โจ ไบเดน มีท่าทีที่จะขยับไปสู่การเก็บภาษีสินค้ามูลค่าราว 2.1 พันล้านดอลลาร์จากออสเตรีย อังกฤษ อินเดีย อิตาลี สเปน และตุรกี เพื่อตอบโต้สำหรับการเก็บภาษีบริการดิจิทัลที่ประเทศเหล่านี้เรียกเก็บจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ แต่ก็ยังสั่งระงับไว้ก่อนในช่วงที่การเจรจาเรื่องภาษีระหว่างประเทศยังดำเนินอยู่ นอกจากนี้ไบเดนยังต้องผลักดันให้การแก้ไขกฎหมายภาษีผ่านทั้งสองสภาในรัฐสภาสหรัฐฯ ให้ได้ ซึ่งธุรกิจในสหรัฐฯ อาจต้องรับผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้จากระบบภาษีใหม่ และไบเดนอาจจะต้องเผชิญกับการโต้แย้งจากฝั่งพรรครีพับลิกันว่าอาจเป็นการยกอำนาจด้านภาษีให้กับต่างชาติ

 

และยังมีข้อวิจารณ์จากองค์กรที่ทำงานด้านการรณรงค์บางองค์กร อาทิ Oxfam ที่ระบุว่าข้อตกลงนี้ไม่เพียงพอ โดยชี้ว่า การตั้งอัตราภาษีขั้นต่ำนี้คล้ายกับอัตราภาษีในระดับต่ำที่เก็บโดยบางประเทศที่ Oxfam ระบุว่าเป็น Tax Haven เช่น ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการตั้งมาตรฐานที่ต่ำเกินไป

 

ภาพ: David Mareuil / Anadolu Agency / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising