×

เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ-มาตรการด้านโลกร้อน สรุปผลที่ประชุมขุนคลัง-ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ G7 ครั้งประวัติศาสตร์

07.06.2021
  • LOADING...
G7 ภาษีบริษัทข้ามชาติ

เป็นข่าวใหญ่ให้สำนักข่าวทั่วโลกได้ขึ้นพาดหัวกันทั่วหน้า เมื่อการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา อิตาลี และญี่ปุ่น ร่วมด้วยสหภาพยุโรป ซึ่งพบกันที่กรุงลอนดอนร่วมกับบรรดาผู้นำขององค์กรทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ของโลก ได้บรรลุข้อตกลง ซึ่งสื่อมวลชนต่างระบุว่าเป็นข้อตกลง ‘ครั้งประวัติศาสตร์’ ที่จะปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีในระดับโลก ซึ่งมุ่งเป้าโดยตรงไปที่บริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและได้กำไรมากที่สุด โดยจะบังคับให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ต้องจ่ายภาษีในประเทศที่พวกเขาไปขายสินค้าและบริการอยู่ ไม่ใช่จ่ายภาษีเฉพาะในประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลต่ำและบริษัทเหล่านั้นเลือกไปตั้งสาขาอีกต่อไป ซึ่งบริษัทที่คาดกันว่าจะเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มที่จะต้องจ่ายภาษีตามกฎใหม่หากเกิดขึ้นจริง ก็เช่นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Amazon หรือ Facebook เป็นต้น

 

แต่นอกจากเรื่องภาษีที่มีการเจรจากันมานานแล้ว ยังมีผลลัพธ์อะไรจากการประชุมนี้อีกบ้าง เราไปสำรวจผลการประชุมบางส่วนที่ออกมาผ่านแถลงการณ์ของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางในกลุ่ม G7 กัน

 

1. ด้านการส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็ง ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม

 

  • G7 บอกว่าจะทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าการฟื้นตัวทั่วโลกที่แข็งแกร่ง ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม จะกลับมาดีขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมถึงตระหนักต่อผลกระทบที่ไม่ได้สัดส่วนของการระบาดต่อบุคคลเฉพาะกลุ่ม ซึ่งรวมทั้งผู้หญิง เยาวชน และประชากรกลุ่มเปราะบาง และเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเปิดอีกครั้งก็จะดำเนินการเพื่อจำกัดผลกระทบจากวิกฤต โดยมุ่งเป้าหมายการสนับสนุนไปสู่พื้นที่ที่ต้องการมากที่สุด

 

  • นอกจากนี้ พวกเขาบอกว่าได้ให้ความช่วยเหลือที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงทุกเสาหลักในความร่วมมือ ACT-Accelerator ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับโลก เพื่อเร่งการพัฒนา ผลิต และเข้าถึงการทดสอบ รักษา และวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม รวมถึงยินดีกับการให้การสนับสนุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากสมาชิกกลุ่ม G7 บางส่วน และยังหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อปิดช่องว่างด้านเงินทุน รวมทั้งขอให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยา ให้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อต่อสู้กับการระบาด และสนับสนุนการผลิตและเข้าถึงวัคซีน

 

2. ด้านความพยายามในการเปลี่ยนแปลง เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

 

  • บรรดารัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางในกลุ่ม G7 ได้ให้คำมั่นในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการบรรลุคำมั่นสัญญาด้านการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์และวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำให้ระบบการเงินโลกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การตัดสินใจทางการเงินคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ และบอกว่าพวกเขาจะนำข้อพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปใช้ในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างเหมาะสมด้วย

 

  • G7 ยังสนับสนุนการมุ่งไปสู่การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศแบบภาคบังคับ เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสม่ำเสมอต่อการตัดสินใจสำหรับผู้มีส่วนร่วมในตลาด ซึ่งอยู่บนฐานของคณะทำงานเกี่ยวกับกรอบการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวและสอดคล้องกับกรอบการกำกับดูแลภายในประเทศ นอกจากนี้ยังเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นในการจัดทำมาตรฐานการรายงานในระดับสากล เพื่อความยั่งยืนที่แต่ละเขตการปกครองสามารถเข้ามาเสริมให้สมบูรณ์ได้

 

  • G7 ยังแสดงความคาดหวังว่าจะได้เห็นการจัดตั้งคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ รวมถึงคำแนะนำจากคณะทำงานชุดดังกล่าว และเน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการกำกับดูแลสถาบันการเงินและเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งมีทั้งความเสี่ยงทางตรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบของการออกกฎระเบียบเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเป้าหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วในการระดมเงินทุนนับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อช่วยสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้คำมั่นว่าจะเพิ่มและปรับปรุงการสนับสนุนทางการเงินดังกล่าวจนถึงปี 2025

 

  • แถลงการณ์นี้ยังกล่าวถึงอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในการสนับสนุนเงินทุนต่อกิจกรรมผิดกฎหมาย ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน ตลอดจนอาชญากรรมข้ามชาติ และระบุว่าพวกเขาเห็นด้วยว่าการจดทะเบียนผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการสนับสนุนเงินทุนให้แก่กิจกรรมผิดกฎหมาย ซึ่งพวกเขากำลังดำเนินการและเสริมสร้างความเข้มแข็งเกี่ยวกับการจดทะเบียนดังกล่าว เพื่อให้ผู้บังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานที่มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลได้ทันท่วงที ถูกต้อง เพียงพอ และเป็นปัจจุบัน

 

3. การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องไปยังประเทศกลุ่มที่มีรายได้น้อยและเปราะบาง

 

  • บรรดารัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางในกลุ่ม G7 ยังคงให้คำมั่นในการสนับสนุนประเทศที่มีรายได้น้อยและเปราะบางที่สุด ในขณะที่ประเทศเหล่านี้จัดการกับความท้าทายด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และสนับสนุนการจัดสรรสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDRs) ใหม่เป็นการทั่วไปจำนวน 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยตอบสนองความต้องการสินทรัพย์สำรองในระยะยาวของโลก โดยกระตุ้นให้มีการดำเนินการจัดสรรภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2021 และส่งเสริมให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาตัวเลือกในการจัดสรร SDRs เพื่อสนับสนุนความต้องการทางสาธารณสุข และช่วยในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

  • แถลงการณ์ยังกล่าวถึงความสำคัญในการต่อสู้กับความเสี่ยงด้านหนี้สินและการส่งเสริมความโปร่งใสเกี่ยวกับหนี้ ตลอดจนเน้นย้ำคำมั่นที่จะดำเนินการตามกรอบการทำงานทั่วไป เพื่อการบรรเทาหนี้นอกเหนือจากกลไกการริเริ่มการพักชำระหนี้ (Common Framework for Debt Treatments beyond the DSSI) ของกลุ่มประเทศ G20 และ Paris Club ที่มีขึ้นเพื่อประสานงานและร่วมมือในการบรรเทาภาระหนี้สำหรับ 73 ประเทศรายได้ที่มีต่ำ และกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบางประเทศเป็นการเฉพาะ

 

4. การสร้างอนาคตที่ปลอดภัยและรุ่งเรืองสำหรับทุกคน

 

  • พวกเขาบรรลุข้อตกลงในการจัดสรรสิทธิการเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติ โดยการบังคับให้บริษัทเหล่านี้ต้องจ่ายภาษีในประเทศที่กำลังมีการขายสินค้าหรือบริการอยู่ กฎนี้จะถูกนำไปใช้กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีอัตรากำไรที่อย่างน้อย 10% โดยหลักการคือจะให้ประเทศที่บริษัทข้ามชาตินั้นๆ ทำธุรกิจอยู่จัดเก็บภาษีอย่างน้อย 20% จากอัตราผลกำไร 10% ส่วนอีกหลักการของข้อตกลงนี้กำหนดให้รัฐต้องกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลระดับโลกขั้นต่ำที่ 15% เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศต่างๆ แข่งกันตัดอัตราภาษีกันเอง ซึ่งการเก็บภาษีดังกล่าวจะมาใช้แทนที่ภาษีบริการดิจิทัล (Digital Service Tax) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

  • แถลงการณ์ของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางในกลุ่ม G7 ยังระบุว่า ธนาคารกลางในกลุ่ม G7 ได้สำรวจโอกาส ความท้าทาย และผลที่ตามมาในด้านเสถียรภาพทางการเงินของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currencies: CBDCs) และให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันในด้านผลของนโยบายสาธารณะในวงกว้าง พร้อมระบุด้วยว่า CBDCs ควรเป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง เป็นสินทรัพย์ที่สามารถชำระหนี้ได้อย่างปลอดภัย และเป็นหลักหนึ่งสำหรับระบบการชำระเงิน และย้ำว่าไม่ควรมีโครงการสกุลเงินดิจิทัลที่เป็น Stablecoin (สกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าค่อนข้างคงที่) ใดๆ ที่จะเริ่มดำเนินการ จนกว่าจะได้ระบุข้อกำหนดทางกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ ผ่านการออกแบบที่เหมาะสมและโดยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่บังคับใช้

 

  • การนำมาตรฐานของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ไปปฏิบัติทั่วโลกเพื่อต่อต้านการฟอกเงิน การสนับสนุนเงินทุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธยังคงไม่สม่ำเสมอ ซึ่งรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางในกลุ่ม G7 ให้คำมั่นในการจัดหาผู้ประเมินอีกอย่างน้อย 46 ราย และเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่โครงการประเมินผลขององค์การในระดับภูมิภาค (FSRBs) ระหว่างปี 2021-2024

 

  • พวกเขาย้ำว่าการเรียนรู้บทเรียนจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ และต้องทำให้มั่นใจว่าเราจะพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ในอนาคต ซึ่งพวกเขารอคอยที่จะได้เห็นรายงานความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาดที่จะนำเสนอต่อบรรดาผู้นำในกลุ่ม G7 ตลอดจนข้อค้นพบของคณะกรรมการอิสระระดับสูงของกลุ่ม G20 (19 ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ บวกสหภาพยุโรป) และจะพิจารณาข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะด้านกลไกทางการเงิน นอกจากนี้ จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนในระดับนานาชาติ และในครึ่งปีหลังของปี 2021 นี้ จะได้ทำงานร่วมกับผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขซึ่งรวมถึงในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจข้อเสนอในการเสริมสร้างแรงจูงใจด้านตลาดในการพัฒนายาปฏิชีวนะเพื่อช่วยต่อสู้กับการดื้อยาของเชื้อโรค

 

ภาพ: Pavlo Gonchar / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X