×

G7 ตกลงขยายมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันรัสเซีย

โดย THE STANDARD TEAM
04.02.2023
  • LOADING...

สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร เห็นพ้องจำกัดเพดานราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเกรดพรีเมียมของรัสเซีย อาทิ น้ำมันดีเซลที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจำกัดเพดานราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันมูลค่าต่ำ เช่น น้ำมันเตา ที่ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการขยายมาตรการคว่ำบาตรต่ออุตสาหกรรมน้ำมันของรัสเซีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ทางกลุ่ม G7 มีมติจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมราคาน้ำมันของรัสเซียในตลาดโลกให้คงที่ ขณะเดียวกันก็ลดรายได้ของเครมลินเพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครน

 

การจำกัดเพดานราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันของรัสเซียล่าสุดนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันอาทิตย์นี้ (5 กุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สหภาพยุโรป (EU) ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ของรัสเซียเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิก

 

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ ร่วมด้วยออสเตรเลีย ประกาศเพดานราคาใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 กุมภาพันธ์) ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับบทลงโทษครั้งใหม่ต่อรัสเซีย

 

“เราต้องเดินหน้ากีดกันรัสเซียให้หยุดทำสงครามกับยูเครน” อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย “เรากำหนดเพดานราคาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ร่วมกับ G7 เพื่อลดรายได้ของรัสเซีย ในขณะที่รับประกันเสถียรภาพให้กับตลาดพลังงานทั่วโลก”

 

ผู้ค้าน้ำมันและบริษัทขนส่งไม่คิดว่าการคว่ำบาตรครั้งใหม่จะส่งผลให้ตลาดพลังงานหยุดชะงักในทันที ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายเตือนว่า ยุโรปอาจประสบปัญหาด้านอุปทานน้ำมันสำหรับรถยนต์ โรงงาน และฟาร์มต่างๆ หากไม่นำเข้าน้ำมันดีเซลจากรัสเซียในอนาคต

 

รายงานข่าวระบุว่า ราคาน้ำมันดีเซลในยุโรปพุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทต่างๆ แห่กักตุนน้ำมันไว้ล่วงหน้าก่อนการคว่ำบาตรจะมีผลบังคับใช้

 

ข้อมูลด้านการขนส่งยังแสดงให้เห็นด้วยว่าการนำเข้าเชื้อเพลิงของยุโรปจากตะวันออกกลาง อินเดีย และจีน กำลังเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของรัสเซียกำลังเริ่มหาตลาดใหม่ในแอฟริกาเหนือและลาตินอเมริกา

 

เพดานราคาน้ำมันดิบของรัสเซียซึ่งกำหนดไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อตลาดโลกนับตั้งแต่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม แต่ในขณะเดียวกันมาตรการนี้ก็สร้างแรงกดดันต่องบประมาณของเครมลินเช่นกัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา น้ำมันดิบเกรดหลักของรัสเซียซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับน้ำมันดิบเบรนต์ซึ่งซื้อขายกันที่ประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามรายงานของ S&P Global Commodity Insights

 

เจ้าหน้าที่ตะวันตกส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ของพวกเขาได้ผลแล้วเมื่อพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา แต่มีเสียงเรียกร้องจากเจ้าหน้าที่จากยุโรปตะวันออกให้ปรับลดเพดานราคาน้ำมันดิบลงจาก 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จนในที่สุด G7 ก็ยอมตกลงที่จะทบทวนเพดานราคาดังกล่าวในเดือนมีนาคมนี้

 

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางแผนเพดานราคาน้ำมันดังกล่าว ระบุในแถลงการณ์เกี่ยวกับการทบทวนเพดานน้ำมันดิบว่าจะคำนึงถึงเป้าหมายสำคัญสองประการ คือเพื่อลดรายได้ของรัสเซียต่อไป ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนเสถียรภาพของตลาดพลังงาน

 

ภาพ: Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising