ทุกวันนี้เวลาอ่านข่าวออนไลน์หรืออยากหาหนังสือใหม่ๆ สักเล่มมาอ่าน เรื่องที่ผมเห็นผ่านตาเยอะที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องที่พูดถึง ‘โลกอนาคต’ ซึ่งคงไม่แปลกอะไร เพราะ ณ วันที่ผมเขียนบทความนี้ อีกไม่กี่วันเราก็จะเข้าสู่ปี 2018 แล้ว
เรากำลังอยู่ท่ามกลางกระแสข่าวแห่งอนาคตมากมาย และเรื่องหนึ่งที่หนีไม่พ้นก็คือเรื่องของ AI ครับ เรียกว่ามีข่าวกันแบบรายวันว่ามันฉลาดขึ้นเรื่อยๆ โดยหลายอย่างที่ AI ทำได้นั้นเริ่มทำให้หลายคนวิตกเกี่ยวกับอนาคตที่มนุษย์กับ AI จะต้องอยู่ด้วยกัน แต่ในทางกลับกันก็ยังมีอีกหลายคนที่มองอนาคตเรื่อง AI อย่างสดใส
ฝ่ายแรกคิดว่ามันจะมาช่วยเสริมความเข้มแข็งของเผ่าพันธุ์มนุษย์ มาช่วยให้มนุษย์เราฉลาดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเราสามารถเชื่อมต่อ AI เข้ากับสมองของเราได้ โอกาสในการสร้างสิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้นอย่างที่เราไม่สามารถจินตนาการได้เลยในวันนี้ เราอาจไม่ต้องเผชิญโรคร้าย ความเจ็บป่วย หรือแม้แต่ความทุกข์อีกต่อไป
และที่สุดโต่งไปกว่านั้นคือการเชื่อมต่อ AI เข้ากับสมองมนุษย์ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการอัพโหลดจิตสำนึกของเราเข้าสู่เมนเฟรม (Mainframe) หมายถึงว่าเราจะอยู่ตลอดไปในโลกเสมือนจริง ความฝันสูงสุดในการได้อยู่ชั่วนิรันดร์ของมนุษย์จะใกล้ความจริงที่สุดก็คราวนี้แหละครับ
แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับคิดตรงกันข้ามว่า ต่อไป AI จะอันตรายและเป็นภัยที่รุนแรง และหากควบคุมมันไม่ได้ดีก็อาจเป็นหายนะที่ใหญ่ที่สุดของเราก็เป็นได้
โดยแซม แฮร์ริส (Sam Harris) ได้กล่าวเปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจครับว่า โอกาสที่ AI จะสร้างหุ่นยนต์ออกมาฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุมนุษย์นั้นเหมือนในหนัง The Terminator คงเกิดขึ้นได้ยาก แต่วันที่ AI ฉลาดล้ำหน้ากว่ามนุษย์มากเกินการควบคุมของเราไปแล้ว สิ่งที่น่ากลัวคือเมื่อเป้าหมายของ AI กับมนุษย์นั้นขัดแย้งกันอย่างรุนแรง
ถ้า AI ฉลาดกว่าเรามากๆ ก็ลองเปรียบเทียบว่า AI คือมนุษย์ และมนุษย์กลายเป็นมด โดยปกติมนุษย์ (AI) ไม่ได้ออกมาไล่ฆ่ามดเพื่อความสนุกสนาน ตรงกันข้าม จริงๆ มนุษย์พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการฆ่ามด หรือหลายครั้งก็ช่วยชีวิตมดด้วยซ้ำ แต่ถ้าเป้าหมายของมดกับมนุษย์ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เช่น มนุษย์ต้องการจะตอกเสาเข็มสร้างตึก และบังเอิญตรงนั้นเป็นที่อยู่ของมดพอดี การฆ่ามดจำนวนมากต้องเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน
และนี่คือสิ่งที่น่ากลัวเกี่ยวกับ AI เมื่อวันหนึ่งเป้าหมายของเรากับ AI ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แต่เรากลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่ด้อยกว่าไปแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นก็ยังไม่มีใครตอบได้ครับ
แต่สิ่งที่ทั้งสองฟากของความคิดเห็นตรงกันเรื่องหนึ่งแน่ๆ คือพัฒนาการของ AI นั้นไม่มีวันหยุด เพราะความฉลาด (Intelligence) มีมูลค่ากับมนุษย์มากเหลือเกิน และด้วยธรรมชาติของมนุษย์ การพัฒนาเรื่องนี้จึงไม่มีทางหยุดลงอย่างแน่นอน อาจจะชะลอบ้าง ช้าบ้าง แต่ไม่หยุดแน่ๆ
ทีนี้คำถามที่น่าสนใจคือเราควรจะรับมือกับอนาคตอย่างไรดี?
สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือ ณ เวลานี้ที่เราอยู่คือช่วงรอยต่อของอนาคตที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ และอนาคตต่อจากวันนี้จะเป็นสิ่งที่ท้าทายและคาดการณ์ยากมาก
1.
คำถามคือเราใช้วิธีรับมือกับคำถามนี้แบบเดียวกับที่เรารับมือกับคำถามทางธุรกิจที่ท้าทายและคาดการณ์ได้ยากได้ไหม? หรือเราทำ prototype อนาคตได้ไหม?
และมีคนทำแบบนั้นจริงๆ ครับ เธอคนนี้ชื่อว่าเอนาบ เจน (Anab Jain) โดยเธอทำงานกับสามีอยู่ในสตูดิโอชื่อ Superflux
สำหรับคำถามที่เธอใช้ในการทำงานคือ อนาคตที่พวกเราอยู่จะเป็นอย่างไรบ้าง? ต่อจากนั้นพวกเขาก็ตั้งสมมติฐานและสร้าง prototype ครับ
แนวคิดของเธอน่าสนใจมากครับ เธอบอกว่า
“We have learned in our work that one of the most powerful means of effecting change is when people can directly, tangibly and emotionally experience some of the future consequences of their actions today.”
“สิ่งที่ทรงพลังที่สุดสำหรับมนุษย์ที่จะตระหนักถึงอนาคตได้คือ การให้เราได้สัมผัสถึงเสี้ยวหนึ่งของอนาคตที่จะมาถึงจากการกระทำของเราในวันนี้”
เธอยกตัวอย่างงานของเธอที่ทำให้กับรัฐบาล UAE เพื่อช่วยวางแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ตั้งแต่วันนี้ถึงปี 2050 โดยเธอได้เสนอทางเลือกหลากหลายรูปแบบเกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานให้รัฐบาลพิจารณา
ขณะที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจในห้องนั้นกำลังครุ่นคิดถึงอนาคตของประเทศอยู่นั้นก็มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าคนในอนาคตจะเลิกใช้รถส่วนตัวและหันมาใช้บริการของการขนส่งสาธารณะกันหมด” เขาพูดต่อว่า “ผมไม่มีทางบอกให้ลูกชายผมเลิกขับรถได้แน่นอน” (ที่นี่คือ UAE เพราะฉะนั้นผมพอเข้าใจเหตุผลของคนพูดได้ดีทีเดียว)
ทว่าเจนเตรียมคำตอบสำหรับเรื่องนี้มาแล้วครับ เธอเลยพาชายผู้นี้เดินไปที่อุปกรณ์หนึ่ง ซึ่งในนั้นมีอากาศที่ถูกจำลองขึ้นมาในห้องแล็บ มันคือการจำลองสภาพอากาศของปี 2030 ถ้าหากว่ามนุษย์ยังคงพฤติกรรมเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลงแล้วจะเป็นอย่างไร
เพียงแค่ได้สูดอากาศนี้เพียงครั้งเดียว มันตอบคำถามของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจทั้งหมดในห้องนั้นได้เป็นอย่างดี มากกว่าตัวเลขข้อมูลหรือกราฟใดๆ พวกเขาเข้าใจดีแล้วว่าอากาศในปี 2030 จะเลวร้ายมากหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น และไม่มีใครอยากทิ้งมรดกนี้ไว้ให้ลูกหลาน วันรุ่งขึ้นรัฐบาล UAE จัดการแถลงข่าวครั้งใหญ่ในการลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐกับโครงการพลังงานสะอาดที่สอดคล้องกับการลดการปล่อยมลพิษของประเทศ
เราไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่หวังว่าความพยายามของรัฐบาล UAE ในครั้งนี้จะไม่ทำให้อากาศเป็นเหมือนอากาศที่มาจากห้องแล็บของเจน แต่อย่างน้อยมันก็ดีกว่าไม่ทำอะไรแน่ๆ
2.
สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของเราก็คือ หลายครั้งที่ของบางอย่างถูกสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจที่ดีงาม หรือต้องการที่จะใช้มันเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ แต่เมื่อมันออกจากห้องแล็บและเข้าสู่โลกความเป็นจริงแล้ว มันกลับถูกบิดเบือนความตั้งใจไปอย่างที่นึกไม่ถึงเลยก็มี
ถ้าเราคิดในแง่มุมนี้ เราก็สามารถจำลองเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาก่อนได้เช่นกันเพื่อดูว่าเรารับผลข้างเคียงของมันได้ไหม?
เจนได้ลองศึกษาเรื่อง Medical Genomics ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังถูกพูดถึงกันอย่างมากในตอนนี้ มันคือการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมของเราในการสร้างยาที่เหมาะสมกับเราที่สุดแค่คนเดียว (Personalized Medicine) การออกฤทธิ์ของการรักษาจะได้ผลดีที่สุด ฟังดูดีมากๆใช่ไหมครับ
คำถามคือ อะไรคือผลที่เราคาดไม่ถึงของเรื่องนี้?
เพื่อตอบคำถามนี้ ทีมงานของเธอลองตั้งสมมติฐานต่างๆ แล้วพบว่า มันมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความขึ้นได้ เพราะ Medical Genomics สร้างให้เกิดแรงจูงใจในการทำผิดกฎหมาย
การฟ้องร้องแบบสมมตินี้เกิดขึ้นหลังจากที่ชายคนหนึ่งส่งตัวอย่างน้ำลายของเขาไปให้ NHI (The National Health Insurance) เขาต้องช็อกกับเบี้ยประกันที่เห็น เพราะมันแพงเกินกว่าที่เขาจะสามารถจ่ายได้ไปเยอะ สาเหตุก็มาจากอัลกอริทึมของ NHI วิเคราะห์ว่า ในอนาคตชายคนนี้มี ‘โอกาสสูง’ ที่จะป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาให้หายขาดได้ยาก
นั่นหมายความว่าเขาต้องจ่ายราคาของโรคนี้ตั้งแต่วันที่เขายังไม่ได้เป็นผ่านเบี้ยประกันที่แพงหูฉี่ ทางออกของชายคนนี้คือคลินิกเถื่อน ที่คลินิกแห่งนี้สามารถแก้ไขดีเอ็นเอของเขาเพื่อที่ NHI จะมองไม่เห็นความเสี่ยงของการเกิดโรคอีกต่อไป แต่แน่นอน เขาถูกจับได้และถูกดำเนินคดีหลายข้อหา ทั้งการให้ข้อมูลเท็จ รวมไปถึงการละเมิดสิทธิบัตร Genetic Meterial ของบริษัท Biotech ยักษ์ใหญ่ด้วย
ทีมงานของเจนได้จำลองการฟ้องร้องจริงขึ้น โดยสร้างห้องแล็บเถื่อนและสร้าง subject จริงๆ ขึ้นมา มีเอกสารการฟ้องร้อง หลักฐานทางดีเอ็นเอ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถ ‘สัมผัส’ ได้ถึงอนาคตว่า ถ้ามีเทคโนโลยีนี้โดยไม่ได้มีการควบคุมตั้งแต่ต้น อะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว หน้าตาของเหตุการณ์มันจะเป็นอย่างไร
เมื่อได้สัมผัสแล้วคนจะเข้าใจ เมื่อเข้าใจก็จะถามคำถามที่ถูกต้อง เช่น การอยู่ในโลกที่เราถูกตัดสินจากข้อมูลทางพันธุกรรมของเรามันเป็นอย่างไร ความปลอดภัยของข้อมูลทางพันธุกรรมของเรามีแค่ไหน ใครควรรู้ข้อมูลทางพันธุกรรมของเราบ้าง และขอบเขตของมันควรจบที่ไหน ฯลฯ
เมื่อตั้งคำถามถูกแล้วก็จะส่งผลต่อการกระทำที่ถูกต้องด้วย เช่น ตอนนี้มีความพยายามแก้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง Genetic Data ชื่อ HR1313 อยู่ในสภาคองเกรส เป็นต้น
ทั้งหมดที่เขียนมา ผมต้องการจะบอกว่าเราอยู่ในห้วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุด เรากำลังจะเผชิญกับความท้าทายที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าอนาคตจะพาเราไปที่ไหนบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่รู้คือเราจะรอให้อนาคตมันเกิดขึ้นกับเราก็ได้ หรือเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างอนาคตที่เราอยากเห็นก็ได้
จะได้ไม่ต้องมาเสียใจทีหลังว่า “ถ้ารู้งี้นะ…..”