(4 ส.ค.) ที่พุทธสถาน จ.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่จัดกิจกรรม ‘จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน’ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ กษิต ภิรมย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ และสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินรายการโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โดยมีประชาชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
กษิต กล่าวว่า นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เป็นต้นมา การพัฒนาประชาธิปไตยติดปัญหาอยู่สามถึงสี่เรื่องจนไม่อาจเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ได้แก่ 1. ทัศนคติค่านิยมสังคมไทยเรื่องอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ ประชาชนจะรู้สึกเกรงกลัวนักการเมือง ข้าราชการ ผู้มีอำนาจ ผู้มีอิทธิพล ขณะเดียวกันนั้นความสัมพันธ์ต่างๆ ของประชาชนกับกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้เอาเรื่องกฎหมายเป็นที่ตั้ง ทำให้ระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงได้ตลอดเวลา 2. ผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือผู้ปกครองส่วนใหญ่คือ โจรการเมือง หมายความว่าจะมีคนที่แฝงเข้ามาโดยหาผลประโยชน์ โกงกิน มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง 3. อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนว่าสถาบันหลัก 4 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหลักนิติรัฐนิติธรรม ว่าเราเข้าใจอย่างไร และ 4. ตนเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็น สปท. ที่ลงมติค้าน และลงประชามติไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ทำให้ประชาธิปไตยของเราถอยหลังเข้าคลอง และรับไม่ได้ที่จะให้มีข้าราชการ ทหาร ที่ยังรับตำแหน่งอยู่มีตำแหน่งทางการเมือง
“สำหรับตัวอย่างประเทศที่มีรัฐธรรมนูญ และมีเนื้อหาที่ระบุไว้ในห้าถึงหกเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ และอยากให้ดูแบบอย่าง เช่น เยอรมนี หรือญี่ปุ่น จะมีการระบุเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นส่วนสำคัญได้แก่ การเป็นรัฐเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้ การเป็นสังคมประชาธิปไตยจะเป็นอื่นไม่ได้ การฉีกรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ การเน้นสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบคนทุกระดับ ส่วนรัฐเป็นผู้ให้บริการประชาชนแบบการมีส่วนร่วม มีการกระจายอำนาจ มีกระบวนการปรึกษาหารือกับประชาชนอย่างเป็นขั้นตอน และสุดท้ายการที่รัฐบาลกลางเล็กลงไม่มีภูมิภาค ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา ต้องเอาประเด็นสำคัญที่อารยประเทศมีเหล่านี้ใส่ไว้ให้ครบ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่คู่มือบริหารราชการ แต่จะต้องให้ประชาชนเป็นใหญ่ มีตัวแทนแล้วร่วมกันคิด ปรึกษาหารือ และตัดสินใจในทุกขั้นตอน ไม่ใช่แค่หย่อนบัตรแล้วจบ รัฐบาล รัฐสภา ต้องกลับมาหาประชาชน เสียงข้างมากเป็นใหญ่ในการบริหารประเทศก็จริง แต่เสียงข้างน้อยมีสิทธิท้วงติงคัดค้านได้ด้วย” กษิตกล่าว
กษิตกล่าวอีกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ชัดเจนว่าเขียนขึ้นตามคำสั่งและความปรารถนาของใคร ประสบความสำเร็จในการยัดเยียดให้กับประชาชนผ่านการลงประชามติ และใช้สืบทอดอำนาจ โดยมีเนื้อหาให้อำนาจรัฐราชการ ทำการบริหารแบบสั่งจากข้างบนลงข้างล่าง ผ่านคณะกรรมการสารพัด นอกจากนี้ยังทำให้อำนาจของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสหายดูสวย คือเป็นเผด็จการแต่เหมือนจะชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะระบุใน 12 นโยบายเร่งด่วน แต่การใช้คำว่าศึกษา สะท้อนความไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง ดังนั้น เป็นหน้าที่ภาคประชาชน พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ต้องร่วมมือกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข ไม่ต้องรอพลเอก ประยุทธ์
โคทมกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์วิกฤตความขัดแย้งวันนี้ เราจะสามารถหาจุดพูดคุยกันได้หรือไม่ ตนยอมรับว่ายาก แต่อย่างไรก็ต้องพยายาม ตนดีใจที่คนหนุ่มสาวได้เชิญให้มาร่วมอีกครั้ง พรรคอนาคตใหม่ชูคบไฟการอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาใหม่ที่มาจากมติร่วมกัน จึงพร้อมยินดีสนับสนุน เพราะการขับเคลื่อนครั้งนี้จะเป็นการพูดคุยกันที่กว้างขวางที่สุด รวมพรรคการเมืองอื่นๆ มากที่สุด ภาคประชาชนมากที่สุด เพื่อให้เกิดข้อตกลงใหม่ และเป็นความเห็นพ้องของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะความขัดแย้งหรือวิกฤตแบบสุดขั้วอย่างนี้ สิ่งที่ได้คือความบอบช้ำ ซึ่งตนเรียกว่า ‘กับดัก’ ได้แก่ 1. กับดักทางเศรษฐกิจ ที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบพูดว่าเราจะขับเคลื่อนผ่านกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งไม่เคยพ้นสักที ดังนั้น ต้องระดมทรัพยากรจากชนทุกชั้นมาขับเคลื่อนร่วมกัน แต่ก่อนอื่นก็ต้องแก้กติกา ก็คือรัฐธรรมนูญที่ใช้ในการปกครองประชาชนทุกชนชั้นด้วย 2. กับดักทางการเมือง เช่น ส.ว. แต่งตั้งมาจากพรรคพวกใคร การตัดสินใจไม่ได้เป็นตัวแทนปวงชนไทยแน่นอน ไม่กว้าง ขาดคุณภาพ และติดความคิดรูปแบบราชการ ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ นี่คือกับดักการเมือง
โคทมกล่าวอีกว่า แนวคิดผู้มีอำนาจแบบนี้เป็นความสุดโต่ง เราได้ยินข้อวิจารณ์จากคนกลุ่มนี้ว่า พรรคอนาคตใหม่คิดอะไรแบบดุเดือด ทั้งที่ความจริงแล้ว ตนคิดว่าคนมีอำนาจนั้นต่างหากที่มีความคิดสุดโต่ง เขารวมศูนย์อำนาจ ไม่กระจายอำนาจเลย หรือบอกว่าจะส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีองค์กรมหาชนคิดว่าเรื่องนวัตกรรมที่คิดเป็นเรื่องดี แต่เป็นสิ่งที่ไปสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม มีเสียงจากประชาชนที่เขาอยากเห็น สิ่งที่ประชาชนอยากสนับสนุนอะไร เขาได้ตอบคำถามแล้วผ่านการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกกลุ่มอำมาตย์ผู้มีลาภยศไม่เอาด้วยและทำลายไป ขณะเดียวกัน ประชาชนก็มีความพยายามอีก แต่คราวนี้กลุ่มอำมาตย์ผู้มีลาภยศก็ค้นพบรัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านฝีมือเนติบริกร ตนคิดว่านี่เป็นปัญหา และเป็นสิ่งที่ประชาชนมองเห็น
.
“สำหรับตนเอง สิ่งที่อยากจะเห็นคือจินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ถ้าจะให้เป็นคำตอบต้องเป็นกติกาที่เป็นธรรม และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ต้องมีความงดงามทั้งในการเริ่มต้น ทั้งในช่วงกลาง และในตอนปลาย หมายความว่า เราต้องคิดกว้างๆ ว่าอยากเห็นอำนาจรัฐมาจากมนุษย์ ไม่ใช่มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระผู้เป็นเจ้า เราควรเดินทางสายกลาง มีความพอดี ไม่ต้องเขียนไว้สารพัด ผมคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะช่วยปลูกฝังประชาธิปไตยที่มีปัญญาญาณ ประชาธิปไตยที่ช่วยกันสร้างสังคมเกื้อกูลอยู่กันฉันพี่น้อง อยากเห็นรัฐธรรมนูญส่งเสริมความคิดใหม่ๆ การแข่งขันเสรีที่ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน อาจต้องเริ่มช้าหน่อย ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปไม่ต้องใจร้อน อาจมีคณะกรรมการอิสระทำหน้าที่เริ่มต้น โดยการพูดคุยหากติกาที่เป็นธรรม รับกันได้ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่เป็นหน้าที่เราที่สื่อสาร รณรงค์ให้คนเห็นว่าเราอยากมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นกติกาที่เป็นธรรม เป็นกติกาที่จะเปิดประตูให้กับประเทศ” โคทมกล่าว
ด้านสุรีรัตน์กล่าวว่า ความขัดแย้งย้อนไป 10 กว่าปี เป็นความขัดแย้งที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนสร้าง แต่เป็นกลุ่มชนชั้นนำ เป็นความขัดแย้งของอำมาตย์ เป็นเรื่องผลประโยชน์ ความไม่เท่าเทียมกัน ความขัดแย้งนี้ประชาชนไม่ได้อะไรเลย และที่สำคัญยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมยังอยู่มากขึ้น ในส่วนของรัฐธรรมนูญ บทเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ภาคประชาชนเรียกร้องวันนี้ก็ยังใช้ไม่ได้ ยังมีความเป็นอำมาตย์ การที่บอกว่าทุกคนมีสิทธิได้รับการดูแลจากรัฐ มีชีวิตที่ดี มีการศึกษา มีบริการสาธารณสุข ต้องเป็นของทุกคน ซึ่งเอ็นจีโออย่างเราพยายามผลักดันสวัสดิการพื้นฐานทั่วหน้าแบบนี้มาตลอด แต่ทว่าก็ไม่เกิดขึ้นจริง ยังเป็นการสงเคราะห์ ยังเป็นเบี้ยยังชีพ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็ยิ่งตอกย้ำในเรื่องนี้
“สำหรับภาคประชาสังคม เรายอมรับว่ารัฐธรรมนูญเป็นหมุดหมาย และเป็นเป้าหมายของเราในการสร้างจินตนาการร่วมกัน เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ในการจินตนาการ เราต้องร่วมกันคิดต่อว่า รัฐธรรมนูญต้องเป็นแบบไหน การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เหมาะควรเป็นอย่างไร สิ่งที่เป็นบทเรียนเราตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่หลายคนภูมิใจว่ามีส่วนร่วมในการได้มานั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอประกาศใช้แล้วตัดขาดประชาชนไปหรือไม่ รัฐธรรมนูญใหม่ของเรานี้ต้องไม่เป็นอย่างนั้น ต้องค่อยๆ คุยกันว่าอะไรคือความตั้งใจร่วมกัน เป้าหมายร่วมกันว่า นั่นคือสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ เราไม่ต้องรักกันก็ได้ แต่อย่าชังกัน จินตนาการใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เคารพความเป็นมนุษย์ และรัฐธรรมนูญใหม่นั้น จะฝากกับรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องจับมือกัน ไม่ต้องรอว่าใครจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เรา เราประชาชนตั้งกันเอง เป็นสภาประชาชน เป็นสภาพลเมือง ทำในทุกหย่อมย่านมาถกเถียงอภิปรายกันว่า เราจะมีจินตนาการสังคมอย่างไร” สุรีรัตน์กล่าว
สมชัยกล่าวว่า เส้นทางการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ คดเคี้ยวเหมือนสัญลักษณ์ที่มีการออกแบบสำหรับงานนี้ แต่อยากบอกว่าอย่าท้อ ถ้าเราฝันว่าจะไปถึง ต้องช่วยกัน ยอมรับว่าที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยรุนแรงร้าวลึก ตนเห็นว่ามีสาเหตุมาจาก 1. นักการเมืองมุ่งเอาชนะ โดยใช้ประชาชนเป็นฐาน ใช้เครื่องมือทำให้ประชาชนคิดเชื่อคล้อยตาม 2. ชนชั้นนำในสังคมหรือคนที่มีโอกาสครอบงำสังคมอยู่ สร้างประเด็นความขัดแย้งขึ้น และตนได้ประโยชน์ 3. ประชาชนเอาจริงเอาจังกับการอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไป ฟังแต่กลุ่มตน เปิดทีวีคนละช่อง แม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องรู้ทันการเมืองด้วย ไม่ใช่เอาจริงจังจนเป็นเครื่องมือฝ่ายการเมือง และ 4. เทคโนโลยีข่าวสารที่ไปถึงเร็วมาก มีระบบอัลกอริทึมกลั่นกรองข้อมูลแต่พวกเดียวกัน กลั่นกรองข้อมูลให้รับรู้ซ้ำซาก กรอกหูทุกวัน ทำให้เปลี่ยนแปลงทัศนคติมองฝ่ายตนถูกเสมอ และอีกฝ่ายผิดเสมอ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่มีส่วนทำให้เกิดสภาพขัดแย้งในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา
สมชัยกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ตอนนี้มีคนพูดกันมากว่า ควรไปแก้ปัญหาปากท้องก่อนไม่ดีกว่าหรือ แม้แต่นักการเมืองเองที่เคยชูเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นประเด็นหลักในการหาเสียง ก็มาพูดทำนองนี้ หรือพวกฝ่ายตรงข้ามพรรคอนาคตใหม่ก็พูดอย่างนี้ ซึ่งตนอยากบอกว่า ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ ปัญหาปากท้องแก้ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญช่วยให้เกิดระบบการเมืองที่จะไปแก้ปัญหาประชาชน ถ้ารัฐธรรมนูญไม่สร้างระบบการเมืองที่อยู่ในความไว้วางใจ แต่เอื้อประโยชน์ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คำถามคือ แล้วจะช่วยให้เรากินดีอยู่ดีได้อย่างไร รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับปากท้องอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบให้ได้มาซึ่งฝ่ายการเมืองที่มีความรู้ มีความสามารถ นำพาประเทศชาติ แก้ไขปัญหาประเทศชาติ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญเอื้อคนกลุ่มหนึ่ง ชาตินี้ก็คงกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อไป สำหรับตน มองว่ารัฐธรรมนูญต้องออกแบบให้มีการกำกับตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ ตรวจสอบถ่วงดุลได้โดยรัฐสภา โดยองค์กรอิสระ และโดยประชาชน ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ซึ่งร่างมาโดยพื้นฐาน 3 อย่างคือ 1. ความกลัว 2. ความอยาก และ 3. ความเขลา นั่นคือ กลัวพรรคการเมืองหนึ่งจะชนะเลือกตั้ง อยากที่จะให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป เลยสร้างกลไกต่างๆ มากมาย และความเขลา หรืออวิชชาและความไม่รู้ต่างๆ
“สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นสำหรับรัฐธรรมนูญใหม่ 1. เป็นกติกาที่ต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับคนทุกฝ่ายในสังคม ไม่ใช่ให้ใครฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ กฎเกณฑ์เป็นธรรมเกิดขึ้น ความขัดแย้งจะน้อยลง 2. ต้องสร้างกลไกในการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี ทั้ง รัฐสภา การกำกับดูแลข้าราชการประจำ เกิดการบริหารราชการบ้านเมืองที่มีประสิทธิภาพ การเมืองมีสเถียรภาพ 3. มีกลไกในการกำกับตรวจสอบถ่วงดุล คนจะเก่ง ดี อย่างไรก็ต้องมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุล เพราะการมองเรื่องหนึ่งจากหลายมุม จะช่วยกันให้เกิดผลที่สมบูรณ์ อย่าเชื่อว่าคนดีคนเก่งถูกทุกอย่าง และ 4. ต้องเป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งสามอย่างที่พูดมาเป็นจริง” สมชัยกล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์