×

Furiosa: A Mad Max Saga (2024) แก่น เซี้ยว เปรี้ยว ซ่า ตำนานอีแตน เลือดนักสู้

27.05.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • อย่างที่แฟนๆ หนังชุด Mad Max คงรับรู้รับทราบ หนังเรื่อง Furiosa: A Mad Max Saga ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ ‘Max ผู้บ้าคลั่ง’ อีกต่อไป และมันย้อนกลับไปเล่าสิ่งที่เรียกว่าเป็น Backstory ของ Furiosa หรือมองในอีกแง่หนึ่ง มันคือ The Making of Furiosa ก่อนที่เธอจะกลายมาเป็นตัวละครที่ทนแดดทนฝน และดูเหมือนไม่มีอะไรทำให้เธอหวั่นไหวสะทกสะท้านได้อีกต่อไป
  • แง่มุมที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือบท​ Dementus ของ Chris Hemsworth ที่ฉีกตัวเองจากกับดักของบุคลิกเหล่าร้ายที่แสนจำเจ ที่แน่ๆ เขาไม่ดูแข็งกระด้าง บ้าอำนาจ และดูเป็นภูตผีปีศาจเหมือนกับ Immortan Joe
  • ถ้าพูดอย่างไม่อ้อมค้อม Furiosa: A Mad Max Saga ก็ยังเทียบชั้นไม่ได้กับ Mad Max: Fury Road ซึ่งต้องถือเป็นหนังแอ็กชันที่ทั้งเข้มข้นและจัดจ้านที่สุดของศตวรรษที่ 21 แต่ว่ากันตามจริงหนังแอ็กชันเรื่องไหนก็เอาไปเปรียบกับ Mad Max: Fury Road ไม่ได้

 

Mad Max: Fury Road (2015)

 

หนึ่งในความน่าสนุกและชวนติดตามของหนังแอ็กชันขึ้นหิ้งเรื่อง Mad Max: Fury Road (2015) ของ George Miller นอกเหนือไปจากการออกแบบฉากไล่ล่าที่กระตุ้นให้อะดรีนาลีนพลุ่งพล่านและคนดูหายใจหายคอแทบไม่ทัน ก็คือการออกแบบตัวละคร ซึ่งว่าไปแล้วเกือบทุกคาแรกเตอร์ไม่เพียงแค่ดูเสียสติหรือบ้าบอคอแตกในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ ทว่าบุคลิกเหล่านั้นยังช่วยวาดให้คนดูได้เห็นสภาวการณ์ที่อารยธรรมล่มสลายได้อย่างเป็นรูปธรรม สมจริงสมจัง ข้อสำคัญเปี่ยมด้วยจินตนาการ

 

เรียงลำดับได้ตั้งแต่แก๊ง War Boys ที่รูปโฉมโนมพรรณเหมือนชนเผ่าผีตองเหลือง ขณะที่พฤติการณ์ลอบกัดและซุ่มโจมตีคล้ายคลึงกับฝูงลิงหัวโจกเมืองลพบุรี หรือหัวหน้าวายร้ายตัวฉกาจที่ชื่อ Immortan Joe แห่งอาณาจักร Citadel ที่รูปลักษณ์ภายนอกดูเหมือนนักดนตรีวงเฮฟวีเมทัลตกยุค ที่ต้องสวมหน้ากากช่วยหายใจซึ่งถูกดีไซน์ได้อย่างอุจาดบาดตา และไหนยังมี ‘มือลีดกีตาร์เพลิง’ ผู้ซึ่งมองผิวเผินดูเหมือนไม่มีธุระอะไรในกองทัพปีศาจกลางทะเลทราย ส่วนกลุ่มนางในเพื่อการสืบพันธุ์ของจอมวายร้ายก็ดูเปราะบางอ่อนไหว ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รวมถึงผิดที่ผิดทางมากๆ ในโลกที่สุดแสนหยาบกระด้างและรายล้อมด้วยอันตรายรอบด้าน

 

Charlize Theron – Mad Max: Fury Road (2015)

 

Anya Taylor-Joy – Furiosa: A Mad Max Saga (2024)

 

แต่ทั้งหมดทั้งมวลตัวละครที่โดดเด่นสะดุดตาทั้งในเชิงกายภาพ (สภาวะทุพพลภาพของตัวละครชวนคนดูจินตนาการถึงเหตุการณ์แสนสาหัสก่อนหน้านี้ที่เจ้าตัวต้องเผชิญ) ขณะที่บุคลิก หรืออีกนัยหนึ่งตื้นลึกหนาบางของตัวละคร ก็ทั้งชวนให้ฉงนสนเท่ห์และช่างน่าทึ่ง ก็คงหนีไม่พ้น Furiosa (Charlize Theron) ผู้ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นตัวละครสำคัญของ Mad Max: Fury Road แต่พูดได้ว่าเธอเป็นเจ้าของเรื่องที่บอกเล่าโดยตรง

 

ตั้งแต่ปมขัดแย้งที่ปะทุมาจากเหตุการณ์ที่เธอนำขบวนรถบรรทุกสินค้าแลกน้ำมันและกระสุนปืนเบี่ยงเบนออกนอกเส้นทาง และคนดูได้รับรู้ภายหลังว่าวาระแอบแฝงของตัวละครก็คือการหวนกลับไปดินแดนแห่งความเขียวชอุ่ม หรือที่เรียกว่า The Green Place ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าของเธอและเจ้าตัวต้องพลัดพรากจากมาในช่วงเยาว์วัย จนถึงการที่เธอค้นพบความจริงที่น่าสลดหดหู่ว่าดินแดนยูโทเปียดังกล่าวล่มสลายไปเรียบร้อยแล้ว และโคตรเหง้าศักราชของเธอก็ล้มหายตายจากไปเกือบหมด ขณะที่ตอนจบของ Mad Max: Fury Road ก็ยังลงเอยทำนองว่าเธอและสาวงามคงจะช่วยกันฟื้นฟู Citadel ให้กลายเป็น The Green Place สาขาสอง

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของการสร้างคาแรกเตอร์ที่น่าจดจำนี้ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงอย่างเข้าถึงบทบาทของ Charlize Theron และคนดูทั้งเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยในความมีเลือดมีเนื้อและพร้อมจะล่มหัวจมท้ายไปกับตัวละคร หนึ่งในคุณสมบัติที่โดดเด่นมากๆ นอกจากความคล่องแคล่ว ทะมัดทะแมง คือความเฉลียวฉลาด แต่ขณะเดียวกันก็เก็บงำความรู้สึก เธอแสดงออกเพียงเล็กน้อย ทว่าข้างในดูเหมือนวางแผนและประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา

 

 

โดยปริยายความพิเศษและเป็นเอกเทศของคาแรกเตอร์นี้นำพาให้ใครก็ตามที่มารับช่วงต่อต้องพบกับความยากลำบากในแง่ของการยอมรับแน่ๆ แต่ก็นั่นแหละ การแคสต์ Anya Taylor-Joy ถือเป็นการเลือกที่สะท้อนวิสัยทัศน์แหลมคม แม้ว่าในแง่ของรูปลักษณ์ภายนอกอาจไม่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว แต่ Anya Taylor-Joy ก็สอบผ่านฉลุยในการสร้างตัวละคร Furiosa ในแบบฉบับของเธอ โดยเฉพาะบุคลิกที่เงียบขรึม แต่ลึกๆ สั่งสมไว้ด้วยความโกรธแค้นเดือดดาล อีกทั้งแววตาที่แข็งกร้าวดุดันของตัวละครก็ยิ่งเพิ่มความน่าเกรงขาม และมันแทบจะหลอมละลายใครก็ตามที่ถูกจ้องมอง

 

อย่างที่แฟนๆ หนังชุด Mad Max คงรับรู้รับทราบ หนังเรื่อง Furiosa: A Mad Max Saga ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ ‘Max ผู้บ้าคลั่ง’ อีกต่อไป และมันย้อนกลับไปเล่าสิ่งที่เรียกว่าเป็น Backstory ของ Furiosa หรือมองในอีกแง่หนึ่ง มันคือ The Making of Furiosa ก่อนที่เธอจะกลายมาเป็นตัวละครที่ทนแดดทนฝน และดูเหมือนไม่มีอะไรทำให้เธอหวั่นไหวสะทกสะท้านได้อีกต่อไป ซึ่งนั่นทำให้ไม่มากไม่น้อย นอกเหนือจากความเป็นหนังแอ็กชันระห่ำเดือดแล้ว Furiosa: A Mad Max Saga ก็เป็นหนังแนวศึกษาบุคลิกตัวละครได้เหมือนกัน และว่าไปแล้วเป้าประสงค์ของการแบ่งเรื่องเล่าออกเป็นห้าบท ซึ่งนับเป็นแท็กติกที่ผิดแผกแตกต่างจาก Mad Max: Fury Road ที่เดินเรื่องเป็นเส้นตรงมากๆ ก็คือการแจกแจงให้คนดูได้มองเห็นและร่วมอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ เติบโต เปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่ง ‘เกิดใหม่’ ของตัวละคร

 

 

ไหนๆ ก็ไหนๆ สองบทแรกของหนังบอกเล่าสิ่งที่เรียกว่าเป็นต้นสายปลายเหตุ รวมทั้งยังกำหนดเงื่อนไขเริ่มต้นสำคัญ อันได้แก่ การที่เด็กหญิงถูกแก๊งมอเตอร์ไซค์วายร้ายลักพาตัวจาก ‘ดินแดนแห่งความเขียวชอุ่ม’ และคนที่บุกตะลุยออกไปช่วยเหลือแบบฉายเดี่ยวก็คือแม่ของเธอ (Charlee Fraser) ซึ่งโชว์ให้เห็นทักษะและฝีไม้ลายมือในการกำราบเหล่าลูกสมุนของหัวโจกตัวฉกาจที่ชื่อ Dementus (Chris Hemsworth) จนเกือบจะหมอบราบคาบแก้ว และทีละน้อยคนดูก็สันนิษฐานได้ไม่ยากว่าในท้ายที่สุดแล้ว Furiosa รับมอบพันธุกรรมนักรบที่กร้าวแกร่งห้าวหาญมาจากใคร กระนั้นก็ตามปมเรื่องหลักอาจสรุปได้เป็นสองส่วนด้วยกัน

 

หนึ่งก็คือการที่ Furiosa ตกปากรับคำแม่ของเธอว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เธอต้องหาทางกลับบ้านให้ได้ และปกปักรักษาดินแดนแห่งความเขียวชอุ่ม (นั่นเป็นที่มาของการสักลายแทง The Green Place ซึ่งถือเป็นสถานที่ลี้ลับ ลงบนท้องแขนข้างซ้ายของตัวละคร และเมื่อมันถูกตัดทิ้ง (ดังที่คนดูรู้อยู่แล้ว) ความมุ่งมาดปรารถนาของตัวละครก็พลอยหลุดลอย และสอง การแก้แค้น Dementus ผู้ซึ่งพูดได้ว่าเป็นต้นตอของเรื่องยุ่งยากทั้งมวล และสร้างปมแห่งความเจ็บปวดคับแค้นอย่างแสนสาหัสให้กับตัวละคร

 

 

ข้อสังเกตส่วนตัวที่ผุดขึ้นในระหว่างสำรวจเส้นเรื่องนี้ก็คือ สมมติเล่นๆ ว่าถ้าเราลองเอาเงื่อนไขของความเป็นดิสโทเปียออกไปจากสมการสักพัก ชีวิตอันแสนระหกระเหินเหมือนรถไฟเหาะตีลังกาของ Furiosa ก็เป็นส่วนผสมของนางเอกหนังและนิยายน้ำเน่าที่เราคุ้นเคยนั่นเอง ตั้งแต่ชีวิตที่เหมือนตกจากสรวงสวรรค์ของตัวละครด้วยเหตุไม่คาดฝัน และต้องเผชิญความอำมหิตจากพ่อเลี้ยงใจร้าย ซึ่งพยายามฟูมฟักให้เด็กหญิงเป็นทายาทอสูรโดยชอบธรรม แต่จนแล้วจนรอดเธอก็ถูกขายไปเป็นนางบำเรอของเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลอีกราย ก่อนที่หญิงสาวจะเอาตัวรอดด้วยการปลอมเป็นผู้ชาย จากนั้นเธอดูเหมือนจะพบรักกับชายหนุ่มในฝัน ทว่าชะตาชีวิตก็เล่นตลกให้ตัวละครต้องกลับพบเจอกับพ่อเลี้ยงใจร้ายอีกครั้ง ซึ่งจดจำลูกเลี้ยงตัวเองไม่ได้แล้ว และเนื้อหาหลังจากนั้นก็ขมวดไปสู่บทสรุปที่ไม่ได้อยู่เหนือการคาดเดา แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังอุตส่าห์ปกคลุมไว้ด้วยความขมุกขมัว หม่นมืด และวิปริตพิสดาร

 

ไม่ว่าโครงเรื่องของ Furiosa: A Mad Max Saga จะถูกเล่าซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน แง่มุมที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือบท​ Dementus ของ Chris Hemsworth ที่ฉีกตัวเองจากกับดักของบุคลิกเหล่าร้ายที่แสนจำเจ ที่แน่ๆ เขาไม่ดูแข็งกระด้าง บ้าอำนาจ และดูเป็นภูตผีปีศาจเหมือนกับ Immortan Joe และบุคลิกที่โดดเด่นของตัวละครก็สมชื่อ นั่นคือความเสียสติ วิปลาส อันส่งผลให้อารมณ์ขันและความกระหายเลือดแทบจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ข้อที่น่าครุ่นคิดก็คือบุคลิกจอมวางแผนและแท็กติกในการต่อสู้ที่สะท้อนไหวพริบปฏิภาณของ Dementus ก็น่าจะเป็นแง่มุมที่ Furiosa เรียนรู้และซึมซับด้วยเหมือนกัน ขณะที่อีกส่วนที่ลืมไม่ลงก็คือการออกแบบราชรถแบบโรมันของตัวละคร ซึ่งแทนที่จะเทียมไว้ด้วยม้าจริงๆ กลับเป็นมอเตอร์ไซค์ช็อปเปอร์ 3 คัน ซึ่งมันทั้งดูตลก ประหลาด และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับความบิดเบี้ยวและผิดเพี้ยนของตัวละคร

 

 

แต่ถ้าพูดอย่างไม่อ้อมค้อม Furiosa: A Mad Max Saga ก็ยังเทียบชั้นไม่ได้กับ Mad Max: Fury Road ซึ่งต้องถือเป็นหนังแอ็กชันที่ทั้งเข้มข้นและจัดจ้านที่สุดของศตวรรษที่ 21 แต่ว่ากันตามจริงหนังแอ็กชันเรื่องไหนก็เอาไปเปรียบกับ Mad Max: Fury Road ไม่ได้ และไหนๆ ก็ออกตัวไปแล้วก็คงต้องบอกว่าบรรดาฉากไล่ล่า ฉากต่อสู้ขับเคี่ยว และฉากเสี่ยงตายของ Furiosa: A Mad Max Saga ก็ยังคงเล่นงานคนดูอยู่หมัดเหมือนเดิม ทั้งในแง่ของการออกแบบและจัดวางการเคลื่อนไหวของทั้งกล้องและตัวละคร การถ่ายทำที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์และดึงดูดการรับรู้ของคนดู การลำดับภาพที่ร้อยเรียงให้เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องลื่นไหล และยังสอดแทรกไว้ด้วยลูกล่อลูกชน

 

ฉากหนึ่งที่ George Miller เล่าเรื่องได้เก่งกาจ แต่ขณะเดียวกันประหยัดถ้อยคำมากๆ อยู่ราวๆ ครึ่งค่อนชั่วโมงแรกที่ Dementus จัดการให้ลูกน้องไฮแจ็กรถขนส่งน้ำมันจากเมืองแก๊สทาวน์ ซึ่งแทนที่หนังจะจับภาพในระยะใกล้และตัดสลับไปมาเพื่อแสดงแอ็กชันและรีแอ็กชันระหว่างคนปล้นกับคนถูกปล้น กลับนำเสนอด้วยภาพไกลสุดขอบฟ้าในลักษณะที่เป็นมุมมองของ Dementus และเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นและสิ้นสุดอย่างรวดเร็ว คนดูอาจไม่ตื่นเต้นกับการซุ่มโจมตีครั้งนี้ แต่นี่เป็นฉากที่บ่งบอกถึงสติปัญญาอันเฉียบแหลมและความเจ้าเล่ห์แสนกลของตัวละคร

 

 

อีกหนึ่งอย่างซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของ Furiosa: A Mad Max Saga ก็คือฉากรถบรรทุกสัมภาระของตัวละครที่ชื่อ Praetorian Jack (ซึ่ง Furiosa แอบซ่อนอยู่ใต้ท้องรถ) ถูกจู่โจม และในขณะที่สถานการณ์ดูสับสนอลหม่านทีเดียวเพราะผู้ร้ายมาจากทุกทิศทาง ทว่าความแม่นยำและแยบยลในการบอกเล่าด้วยกลวิธีนานัปการของ George Miller ก็ดลบันดาลให้แอ็กชันที่ดูเหลือเชื่อ กระทั่งเป็นไปไม่ได้ กลับดูขึงขังจริงจังและโน้มน้าวชักจูง และสิ่งที่ต้องหมายเหตุ ณ ที่นี้ก็คือหนังของ George Miller ไม่เคยละเมิดกฎแรงโน้มถ่วงของ Isaac Newton อันส่งผลให้บรรดาฉากสตันท์และฉากผาดโผนทั้งหลายไม่เคยดูเหลวไหลไร้สาระเหมือนกับหนังแข่งรถตระกูล Fast ที่นับวันยิ่งดูโง่เขลาเบาปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ

 

ข้อมูลที่ต้องระบุทิ้งท้ายก็คือ ปีนี้ George Miller อายุ 79 ปี แต่ประมวลจากความดุเดือดเลือดพล่านของสิ่งที่บอกเล่าทั้งใน Mad Max: Fury Road และ Furiosa: A Mad Max Saga ไม่มีตรงไหนที่บอกถึงวัยที่ร่วงโรย และอายุเป็นเพียงตัวเลขจริงๆ หรือว่าไปแล้วนี่เป็นหนังที่สร้างด้วยสปิริตเดียวกันกับของคนหนุ่มที่สร้างหนังเรื่อง Mad Max เมื่อ 45 ปีก่อนหน้านั้น และนับเนื่องจนถึงปัจจุบัน ‘คนหนุ่ม’ วัยเกือบ 80 ปีผู้นี้ก็ยังคงเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่ฝีไม้ลายมือแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

 


 

Furiosa: A Mad Max Saga

กำกับ: George Miller

ผู้แสดง: Anya Taylor-Joy, Chris Hemsworth, Tom Burke, Alyla Browne

 


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising