หากเราพูดถึงการหาเสียงของนักการเมือง แน่นอนว่าพื้นที่หนึ่งที่ใครหลายคนอาจนึกถึงคือพื้นที่ในพิธีกรรมสำคัญของชีวิตผู้คน โดยเฉพาะ ‘งานศพ’ แต่เอ๊ะ ทำไมงานศพถึงมีบทบาทน้อยลง แล้วบทบาทของงานศพในฐานะพื้นที่หาเสียงลดน้อยจริงไหม วันนี้จะชวนกันมาตั้งข้อสังเกตกัน
หากเราพูดถึงงานศพ พิธีกรรมนี้ถือว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญมากกับชีวิตของคนในสังคม ต้องบอกว่างานศพไม่ได้เป็นเพียงงานที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลหรือประกอบพิธีกรรมขึ้นมาเพื่อผู้ตายเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในฐานะ ‘พื้นที่แสดงสถานะ’ ของคนเป็นด้วย โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนในชนบท
ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่างานศพไม่สำคัญกับวิถีชีวิตคนในเมือง
หลายคนอาจมองว่ามันก็ไม่เห็นจะแตกต่างกันเลย หลายคนก็ตั้งคำถามว่า “มันก็งานศพคล้ายๆ กัน” แตกต่างกันอย่างไร แน่นอนว่าถ้าเรามองงานศพเป็นเพียงพิธีกรรมมันจะไม่แตกต่างกัน แต่หากมองให้ละเอียดมากขึ้นจะเห็นว่าในแง่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน ชุมชน กับพิธีกรรม มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างงานศพของคนในชุมชนเมืองกับคนในชุมชนชนบท
งานศพในชุมชนชนบทจะพบว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน ชุมชน และพิธีกรรมมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง ความสัมพันธ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากความเกื้อกูลและความสัมพันธ์กันอย่างแนบชิดของคนในสังคมชนบท หากมีใครเสียชีวิตในชุมชน งานศพจะถูกจัดขึ้นที่บ้านของผู้เสียชีวิต และงานศพจะถือว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นภาระหน้าที่ของคนในชุมชนจะต้องช่วยเหลือกัน
ปฏิสัมพันธ์ในแง่ของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชนในพิธีกรรมงานศพมีในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดพิธีกรรม การจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่มแม่บ้านชุมชนจะมาช่วยกันเตรียมอาหารเลี้ยงแขกที่จะมาร่วมงาน กลุ่มเยาวชนหมู่บ้านจะมาร่วมกันตักน้ำ เสิร์ฟอาหารให้ผู้มาร่วมงาน จัดดอกไม้ประดับประดาในจุดต่างๆ ล้างถ้วยล้างจาน ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะมาช่วยกันจัดเครื่องบูชาในพิธีกรรมทางศาสนา นิมนต์พระ เตรียมสังฆทาน เครื่องประกอบพิธีกรรมต่างๆ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการจัดเวรผลัดกันมาเฝ้าศพและเจ้าภาพในแต่ละวัน มีการตั้งวงไพ่ ไฮโล เพื่อคลายความโศกเศร้าเป็นกิจกรรมระหว่างเวลาด้วย
หรือแม้แต่กลุ่มญาติๆ ในชุมชนที่จะมาช่วยกันลิสต์รายชื่อญาติของผู้ตายที่มีเครือข่ายครอบคลุมไปไกลถึงต่างหมู่บ้านและต่างจังหวัด เพื่อทำบัตรเชิญร่วมงานศพ ซึ่งในจดหมายเชิญก็จะระบุว่า ผู้เสียชีวิตคือใคร ลูกหลานเป็นใคร ชื่ออะไรบ้าง ตลอดถึงวัน-เวลาในการจัดกิจกรรม-พิธีกรรมจนถึงวันฌาปนกิจ
ดังนั้นงานศพนอกจากเป็นพิธีกรรมเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้ตาย หรือเป็นพื้นที่แสดงสถานะของคนเป็น แต่ยังถือเป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ที่สำคัญของคนในชุมชน เครือข่ายคนในชุมชน และญาติพี่น้องที่ค่อนข้างใหญ่ และด้วยความสำคัญของงานศพนี้ พื้นที่นี้จึงกลายมาเป็นพื้นที่ในทางการเมืองร่วมด้วย
การหาเสียงของนักการเมืองในพื้นที่ชนบทกับพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หรือการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิด ไม่ได้เป็นเพียงลงพื้นที่แจกใบปลิวนโยบาย หรือจัดปราศรัยขนาดเล็กในช่วงเวลาใกล้เลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้นงานศพจึงเป็นพื้นที่สำคัญในการเข้ามามีบทบาทในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวนักการเมืองกับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถทำให้นักการเมืองเข้าถึงพี่น้องประชาชนได้จำนวนมากและหลายกลุ่มคน
นักการเมืองท้องถิ่น หรือหากจะพูดเจาะจงลงไปอย่าง ส.ส. ในพื้นที่ ก็จะเข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ในงานศพเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเข้าไปเป็นประธานในพิธีในกิจกรรมต่างๆ เช่น เป็นประธานในพิธีสวดในแต่ละคืน เป็นประธานในการวางผ้าไตรบังสุกุล เป็นประธานในการประชุมเพลิงหรือฌาปนกิจ หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับประชาชนอย่างใกล้ชิด เช่น ไปร่วมเตรียมอาหารกับกลุ่มแม่บ้าน นั่งพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ขณะเตรียมเครื่องประกอบพิธีกรรม หรือให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น การร่วมเป็นเจ้าภาพน้ำแข็งในงาน การสนับสนุนรถเครื่องเสียงในงาน รวมถึงเต็นท์ที่ใช้รับแขกที่จะมาร่วมงานจำนวนมาก
การเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับชาวบ้านในพื้นที่ในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นเพียงความต้องการของนักการเมืองเพื่อผลประโยชน์ในการหาเสียงเท่านั้น แต่ยังเป็นความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการให้ ส.ส. หรือนักการเมืองในพื้นที่มาร่วมกิจกรรมและพิธีกรรมในงานศพด้วย
ทั้งนี้ ชาวบ้านยังถือว่าการมาร่วมกิจกรรมของ ส.ส. หรือนักการเมืองเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมไว้อาลัยให้กับผู้ตาย เป็นเกียรติให้กับคนเป็น รวมถึงยังสร้างความรู้สึกว่าผู้แทนฯ หรือ ส.ส. คนนี้ยังเห็นความสำคัญและไม่ได้ละทิ้งประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นหากนักการเมืองคนไหนหายหน้าหายตาไป หรือไม่ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมงานศพ ชาวบ้านก็มักจะบ่นกันในทำนองว่า “บ้านศพบ้านซากบ่หันหน้าหันตา จะมาก็ตอนใกล้เลือกตั้ง”
เสียงสะท้อนเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่กับบทบาทหน้าที่ของนักการเมืองหรือผู้แทนฯ ในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปตามพลวัตทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อาจทำให้ ‘งานศพ’ ในมิติชาวบ้านถูกลดบทบาทลงไป แน่นอนว่าบทบาทนี้อาจไม่ถึงขั้นหายไปเลยเสียทีเดียว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของงานศพถูกลดทอนความสำคัญไปจริงๆ
ในแง่ของระบบเครือญาติ ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้มีมิติที่แคบลง จากเดิมที่มีปฏิสัมพันธ์กันในระดับกว้าง กลายเป็นเครือข่ายญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น งานศพจากที่เคยเป็นงานรวมญาติมิตรในวงกว้าง กลับลดเหลือเพียงญาติพี่น้องที่สนิทชิดเชื้อกันจริงๆ เท่านั้น การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของคนในรุ่นลูกหลาน สายสัมพันธ์จึงเริ่มแยกขาดกันออกไป และงานศพเริ่มกลายเป็นงานที่เป็นปัจเจกมากขึ้น
ในแง่ปฏิสัมพันธ์ของเครือข่ายในชุมชนก็ถูกลดทอนลง อาจด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ผู้คนมีทุนทรัพย์ในการจัดงานมากขึ้น จึงทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างงานศพกับชาวบ้านลดน้อยลงไป จากเดิมที่เคยเป็นงานที่ต้องใช้เครือข่ายในชุมชนช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเรื่องของการเตรียมเครื่องประกอบพิธี การเตรียมอาหารเลี้ยงแขก การจัดดอกไม้ กลายมาเป็นการจ้างกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานศพมาจัดการแทนการเกื้อกูลกันในระบบความสัมพันธ์เดิมในชุมชน
ในแง่ของวิธีคิดทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป คนในยุคปัจจุบันมองเห็นคุณค่าทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองมากขึ้น การเมืองในแง่การเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านของนักการเมืองในท้องถิ่นในรูปแบบเดิมจึงอาจมีความสำคัญที่ลดน้อยลงไปในมุมมองของคนรุ่นหลัง เช่น การลงพื้นที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านอาจไม่ได้มีผลในทางการเมืองมากเท่ากับสำนึกทางการเมืองของในรุ่นปัจจุบัน รวมถึงคนรุ่นใหม่อาจเห็นคุณค่าของการลงพื้นที่ในแบบเดิมๆ ของนักการเมืองในท้องถิ่นน้อยลง
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้ก็ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองในพื้นที่ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องกับชาวบ้านหรือในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น หรือก็ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่ทุกคนจะไม่เห็นคุณค่าของการลงพื้นที่ของนักการเมืองไปเสียทุกคน คำอธิบายนี้เพียงจะชี้ให้เห็นว่าบทบาทการทำงานเชิงพื้นที่แบบเดิมอาจมีคุณค่าน้อยลงไปตามพลวัตเท่านั้น
ดังนั้นจากเนื้อหาที่ได้อธิบายไปจึงพอจะสรุปได้ว่า บทบาทของงานศพในฐานะเป็นพื้นที่ทางการเมืองอาจลดน้อยลงในสังคมปัจจุบัน จากพลวัตทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และอาจทำให้การลงพื้นที่ของนักการเมืองท้องถิ่นในรูปแบบเดิมมีผลในทางการเมืองลดน้อยลงไปด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้ก็ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองท้องถิ่นควรลดบทบาทการหาเสียงในพื้นที่ลงนะครับ เพียงต้องการชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเผื่อจะเป็นประโยชน์ในการปรับตัว และก็ยังขอยืนยันว่าการมีปฏิสัมพันธ์ การลงพื้นที่ไปพบปะประชาชน แม้บทบาทของพิธีกรรมจะมีผลทางการเมืองน้อยลง แต่การลงไปพบปะประชาชนในพื้นที่ รับฟังปัญหาของคนในพื้นที่ ก็ยังคงมีความสำคัญไม่น้อยลงไปเลย