×

Fund Flow ไหลเข้าหุ้นไทยสูงสุดรอบ 16 ปี ตลาดหลักทรัพย์เชื่อต่างชาติมองไทยเป็น Safe Haven

08.03.2022
  • LOADING...
Fund Flow ไหลเข้าหุ้นไทยสูงสุดรอบ 16 ปี ตลาดหลักทรัพย์เชื่อต่างชาติมองไทยเป็น Safe Haven

ตลาดหลักทรัพย์เผย Fund Flow ไหลเข้าหุ้นไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สูงสุดรอบ 16 ปี เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมองตลาดหุ้นไทยเป็น Safe Haven ที่ใช้หลบความเสี่ยงจากปัจจัยไม่แน่นอนในต่างประเทศ โดยเฉพาะภาวะสงครามที่ผลักดันราคาพลังงานให้ทรงตัวระดับสูง พร้อมจับตาต้นทุนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใกล้ชิด 

 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้ลงทุนต่างชาติย้ายเงินทุนกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วง 2 เดือนแรกมีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดหุ้นมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ไทย (2,363 ล้านดอลลาร์) อินโดนีเซีย (1,645 ล้านดอลลาร์) และมาเลเซีย (759 ล้านดอลลาร์) ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่าเงินทุนจากต่างชาติยังไหลเข้าทั้งตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนไทย 

 

ทั้งนี้ประเมินว่าเป็นเพราะราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากกรณีพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ผู้ลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยเห็นสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนออกจากสินทรัพย์เสี่ยงไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย อีกทั้งพบว่ามีเงินลงทุนจำนวนมากเคลื่อนย้ายจากตลาดทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากกรณีพิพาท ได้แก่ ประเทศในทวีปยุโรป ไปยังกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน

 

“ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สัดส่วนผู้ลงทุนต่างชาติสูงถึง 42.80% ของมูลค่าซื้อขายรวม สะท้อนว่าตลาดหุ้นไทยน่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติ เพราะความผันผวนหุ้นไทยค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบตลาดหุ้นอื่นๆ ขณะที่ P/E ยังไม่สูง ทั้งนี้เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์เดือนเดียว นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิมากสุดรอบ 16 ปี ส่วนยอดถือครองหุ้นไทย YTD ก็อยู่ที่ระดับ 7.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงเช่นกัน”

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามต่อว่าการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติจะมีความต่อเนื่องในระยะยาวหรือไม่ เนื่องจากในขณะนี้นักลงทุนต่างกำลังมองหา Safe Haven เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยไม่แน่นอนต่างๆ ที่ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นผันผวนทั่วโลก

 

ภากรกล่าวเพิ่มว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความผันผวน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ยังจับตาอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่มีการรายงานไปยังผู้กำกับดูแล เนื่องจากประเมินว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ และผลกระทบก็เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่ได้เกิดผลกระทบเฉพาะตลาดหุ้นไทยเท่านั้น 

 

ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยภายในประเทศที่มีความเชื่อมโยงไปยังรัสเซียและยูเครนค่อนข้างน้อย และในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อค่อนข้างจำกัด และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะในภาคบริการและการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมืองในอนาคต ทำให้เห็น Fund Flow จากผู้ลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน 

 

กรณีราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ประเมินว่าในระยะสั้นจะไม่กระทบกับกำไร บจ. เพราะเชื่อว่า บจ. จะสามารถบริหารจัดการเรื่องต้นทุนได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว หากราคาพลังงานยังทรงตัวในระดับสูงก็อาจจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของ บจ. ได้ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด 

 

สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สรุปได้ดังนี้ 

 

  • ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 SET Index ปิดที่ 1,685.18 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 2.2% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในอาเซียน
  • SET Index ใน 2 เดือนแรกปี 2565 ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มการเงิน
  • ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 99,052 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.0% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน 
  • ผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด คิดเป็น 42.80% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ซึ่งเป็นเดือนแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 
  • ผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิเป็นเดือนที่ 3 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 61,336 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิสูงสุดในรอบ 16 ปี
  • ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 1 บริษัท คือ บมจ.พีซแอนด์ลีฟวิ่ง (PEACE) และใน mai 1 บริษัท คือ บมจ.พรีเมียร์ แทงค์ คอร์ปอเรชั่น (PTC)
  • Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ระดับ 18.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.5 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 13.0 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ระดับ 16.0 เท่า
  • อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ระดับ 2.64% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.36%
  • ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 614,587 สัญญา เพิ่มขึ้น 8.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising