ช่วง 5 วันทำการของตลาดหุ้นไทยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หรือตั้งแต่วันที่ 1-8 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนี SET ขยับขึ้นมายืนเหนือระดับ 1,600 จุด นักลงทุนต่างชาติเริ่มเป็นฝ่ายที่กลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยอีกครั้งด้วยมูลค่า 4.67 พันล้านบาท (ราว 150 ล้านดอลลาร์) สวนทางกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 4.08 พันล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยที่ขายสุทธิ 1.20 พันล้านบาท
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (9 มิถุนายน) นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นฝ่ายที่ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยอีก 2,846 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศก็เริ่มกลับมาซื้อสุทธิในวานนี้จำนวน 1,835 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ขายสุทธิจำนวน 4,603 ล้านบาท ทางด้านพอร์ตลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 79.49 ล้านบาท
ในขณะที่ดัชนีหุ้นไทยวานนี้ ปิดทำการที่ระดับ 1,626.27 จุด เพิ่มขึ้น 13.39 จุด หรือ 0.83% มูลค่าการซื้อขายรวม 94,107 ล้านบาท
การกลับมาซื้อสุทธิของผู้ลงทุนต่างชาติในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ถือเป็นครั้งแรกหลังจากที่ในช่วง 5 เดือนก่อนหน้านี้ได้เทขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท (ราว 2,000 ล้านดอลลาร์) โดยในช่วงท้ายของเดือนพฤษภาคม หรือระหว่างวันที่ 10-28 พฤษภาคม นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิถึง 14 วันทำการติดต่อกัน
ทิศทางของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในภูมิภาคเอเชียปีนี้ ภาพรวมยังคงติดลบเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเพียงอินเดียและอินโดนีเซียที่เงินลงทุนยังไหลเข้าและยังต่อเนื่องในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเริ่มมีเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาอีกครั้ง หลังจากดัชนี SET กลับมายืนเหนือ 1,600 จุด
มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มองว่า แรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้ามาในเอเชียหลังจากที่สถานการณ์ของโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มทรงตัว แต่การเข้าซื้อในครั้งนี้อาจยังไม่ใช่ลักษณะของการลงทุนยาว เป็นเพียงการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นเท่านั้นหลังจากที่ได้ขายออกไปจำนวนมากในช่วงก่อนหน้านี้
สำหรับตลาดหุ้นไทยที่ราคาวิ่งขึ้นมาในระดับหนึ่ง ทำให้ทางเลือกในการเข้าลงทุนอาจจะไม่ได้มากนัก ซึ่งการเข้าซื้อของนักลงทุนต่างชาติในรอบนี้เริ่มเห็นชัดเจนในช่วงบริเวณเกือบๆ 1,600 จุด หลังจากที่นักลงทุนในประเทศเริ่มเข้าซื้อก่อนหน้านั้น
“ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างใจเย็น โดยรอให้สถานการณ์ต่างๆ เริ่มนิ่งก่อน แต่จากการที่ต่างชาติเข้าซื้อหุ้นไทยช้ากว่า ทำให้การขึ้นรอบนี้น่าจะทำผลตอบแทนแพ้นักลงทุนไทย”
แนวโน้มของหุ้นไทยในระยะถัดไปเชื่อว่าในช่วง 1 เดือนข้างหน้า ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสขยับไปทดสอบ 1,630-1,650 จุด โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญคือ การที่นักวิเคราะห์ทยอยปรับประมาณการกำไรของตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นกว่า 10% จากต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นที่ค่อนข้างโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
“ส่วนตัวยังมองบวกต่อตลาดหุ้นไทย แต่สิ่งที่อาจจะทำให้ตลาดสะดุดได้คือการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนนี้ ซึ่งต้องติดตามผลที่ออกมา ส่วนปัจจัยอื่นๆ ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดปรับขึ้นมากกว่า โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นอย่างมาก”
สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจเรียงตามแนวโน้มความน่าสนใจ ได้แก่
- กลุ่มที่ถูกกระทบจากโควิดอย่างหนักก่อนหน้านี้ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าและโรงแรม มองหุ้นน่าสนใจคือ CRC, CENTEL และ CPN
- กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเริ่มเห็นบริษัทในตลาดทยอยประกาศเข้าลงทุน EV เพิ่มขึ้น หุ้นเด่นคือ EA, GPSC และ KCE
- กลุ่มน้ำมัน ราคาหุ้นน่าจะเริ่มทยอยฟื้นตัวตามราคาน้ำมันได้ หุ้นเด่นคือ PTTEP
- กลุ่มธนาคาร ด้วยมูลค่าหุ้นที่ยังถูกและโอกาสฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ หุ้นเด่นคือ KBANK
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า แรงขายต่อเนื่องของต่างชาติเมื่อปลายเดือนก่อนเป็นผลจากการปรับพอร์ตลงทุนตามการปรับน้ำหนักหุ้นไทยของ MSCI ส่วนการซื้อกลับในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มักจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการปรับน้ำหนักจบลง
“โดยปกติแล้วแรงซื้อกลับมักจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากการปรับพอร์ตของนักลงทุน แต่แรงซื้อจะต่อเนื่องหรือไม่ คงต้องดูบริบทที่จะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากนี้ ซึ่งประเด็นสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดคือการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนนี้ (15-16 มิถุนายน)”
เชื่อว่าในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ต่างชาติและกองทุนในประเทศอาจจะยังไม่ได้ซื้อหรือขายอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อรอดูผลจากการประชุมของธนาคารกลางสำคัญๆ ซึ่งคงต้องรอประเมินอีกครั้งว่าจะมีการส่งสัญญาณรูปแบบใดออกมา
สำหรับแนวทางที่จะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นคือการประชุมในรอบนี้ไม่ได้มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ทั้งในส่วนของถ้อยแถลงและการให้สัมภาษณ์หลังการประชุม โดยเฉพาะการที่ธนาคารกลางต่างๆ ยังไม่ได้ส่งสัญญาณของการลดวงเงินอัดฉีดสภาพคล่อง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาดูควบคู่กันไปด้วยคือตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เพราะหากตัวเลขเหล่านี้ออกมาดีมาก นักลงทุนอาจจะตีความไปก่อนได้ว่าอีกไม่นานจะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นแน่
ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น