หากพูดถึงกองทุน หลายคนอาจมีคำถามคาใจว่า “ทำไมถึงไม่เอาเงินไปลงทุนซื้อหุ้นเอง ทำไมถึงต้องซื้อกองทุน ลงทุนซื้อหุ้นเองจะได้เงินเยอะกว่าไหม จะได้กำไรเร็วกว่าไหม…”
ซึ่งหากคุณอยากจะเป็นนักลงทุน การเริ่มต้นให้ถูกต้องก็มีความสำคัญ และหนึ่งในทางเลือกยอดนิยมและเริ่มต้นได้ง่ายๆ ก็คือ การซื้อกองทุน ซึ่งก่อนจะเริ่มนำเงินไปลงทุน เรามาทำความรู้จักการลงทุนชนิดนี้กันก่อนดีกว่า
รู้จักในกองทุนแต่ละประเภท
เริ่มที่กองทุนรวม (Mutual Fund) แค่ชื่อก็บอกแล้ว คือ การนำเงินของนักลงทุนมากองรวมกัน เพื่อนำไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ และเมื่อได้ผลตอบแทนก็นำมาเฉลี่ยจ่ายคืนให้ผู้ลงทุนตามสัดส่วน
กองทุนรวมเหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ที่สุด เพราะจะมีผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะเป็นคนดูแลจัดการเงินของนักลงทุน เพื่อให้เกิดผลตอบแทนให้มากที่สุด
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) แน่นอนหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากที่สุด เพราะเป็นคำที่น่าจะได้ยินกันบ่อยๆ กองทุนนี้เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างใส่เงินสะสมร่วมกัน โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ ออกจากงาน หรือเป็นหลักประกันให้ครอบครัวหากลูกจ้างเสียชีวิต
กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) เหมาะกับนักลงทุนที่มีทรัพย์สินมาก หรือมีเงินเก็บเงินออมอยู่แล้ว และต้องการให้บริษัทจัดการบริหารเงินจำนวนนั้นให้งอกเงยเพิ่มมากขึ้น นักลงทุนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุน โดยได้รับคำแนะนำจากผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ทางด้านการลงทุนอย่างใกล้ชิด
แต่ละกองทุนลงทุนอะไรกันบ้าง
เมื่อกองทุนได้รับเงินจากผู้ถือหน่วย ผู้จัดการกองทุนสามารถนำเงินสดนั้นไปลงทุนในหุ้นที่เรียกว่า กองทุนตราสารทุน ถ้าลงทุนในหุ้นกู้จะเรียกว่า กองทุนรวมตราสารหนี้ และยังมี กองทุนรวมผสม หรือกองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ หรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ เพื่อให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนตามความต้องการอีกด้วย
ข้อดีของการลงทุนในกองทุนรวมมีอะไรบ้าง
- มีผู้จัดการกองทุนมาบริหารเงินลงทุนให้
- มีนโยบายการลงทุนหลากหลายให้เลือกลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้
- มีการกระจายความเสี่ยงที่ดีจากการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายของกองทุน
- กองทุนรวมมีอำนาจต่อรองมากกว่านักลงทุนรายย่อย
- ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี กำไรส่วนต่างของราคาไม่ต้องเสียภาษี และการลดหย่อนภาษีจากการลงทุนใน SSF/RMF
ข้อควรระวังสำหรับกองทุน
- เราไม่มีสิทธิ์จัดสรรเงินลงทุนเอง
- กองทุนบางกองทุนมีการเก็บค่าธรรมเนียมแพง
- ราคาของกองทุนรวม (NAV) จะเปลี่ยนแค่วันละครั้งเท่านั้น ไม่ได้อัปเดตแบบเรียลไทม์เหมือนตลาดหุ้น
- การซื้อขายทำได้ช้ากว่าการลงทุนเองในตลาดหุ้น
เราจะเลือกซื้อกองทุนอย่างไรดี
- สำรวจจุดประสงค์ในการลงทุนของตนเอง เช่น ต้องการลงทุนในสินทรัพย์อะไร ผลตอบแทนที่คาดหวัง ประเมินความเสี่ยงที่รับได้ กำหนดระยะเวลาในการลงทุน เป็นต้น
- ดูนโยบายการลงทุนของกองทุนว่า ตรงกับจุดประสงค์ในการลงทุนของเราหรือไม่จาก Fund Fact Sheet ซึ่งจะบอกรายละเอียดของกองทุนนั้นๆ ว่าลงทุนในอะไร กลยุทธ์การลงทุนเป็นอย่างไร ผลตอบแทนและความผันผวนที่ผ่านมา มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ราคาขั้นต่ำที่ซื้อได้ และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ต้องจ่าย เป็นต้น
- วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจ การเมือง แนวโน้มตลาดเงิน ตลาดทุน ว่าบรรยากาศและทิศทางของเศรษฐกิจเหมาะสมที่จะลงทุนในกองทุนที่เรากำลังสนใจอยู่หรือไม่ และศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ กองทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจ
- ตรวจสอบและติดตามข่าวสารของกองทุนที่เลือกลงทุนอย่างต่อเนื่อง ให้มั่นใจว่ากองทุนที่เราเลือกเป็นกองทุนที่ดี และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามจุดประสงค์ของเรา และเพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุนต่อไปในอนาคต
ขั้นตอนการซื้อกองทุนทำอย่างไร
เอกสารเบื้องต้นที่ต้องใช้ในการเปิดบัญชีกองทุน
- บัตรประชาชน
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (Book Bank)
ทั้งนี้ บางแห่งอาจจะขอเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสลิปเงินเดือน เป็นต้น
การเปิดบัญชีกองทุนรวมแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ คือ
- เปิดผ่านตัวกลางกับบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ซึ่งข้อดีคือ บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นตัวกลางจะมีหลากหลายกองทุนให้เลือกลงทุน
- เปิดโดยตรงกับธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายคนมองวิกฤตนี้เป็นโอกาส จึงหันมาสนใจการลงทุนมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่เดือนมีนาคม กลุ่มนักลงทุนรายย่อยมีการลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ถ้าหากเราเร่งรีบลงทุนโดยที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ อาจทำให้เสียเงินลงทุนมากกว่าที่คิด และไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ
ดังนั้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ไม่มีเวลา และต้องการผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาช่วยดูแลการลงทุน กองทุนอาจเป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีความเหมาะสมกับช่วงเวลานี้
สนใจลงทุนในหุ้นหรือกองทุน ปรึกษา Maybank Kim Eng โทร. 0 2658 5050 อีเมล [email protected]
คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล