×

เรื่องน่ารู้ของเทนนิสแกรนด์สแลม 4 รายการ

13.01.2024
  • LOADING...

สิ่งที่ทำให้เทนนิสแกรนด์สแลมมีเสน่ห์และมนตร์ขลังมากกว่าเทนนิสรายการอื่นๆ ทั่วไปไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของเงินรางวัลอันมหาศาลที่มักจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุก 1 ปี หรือ 2 ปี หรือคะแนนที่ได้สูงสุดถึง 2,000 คะแนน ซึ่งมากพอที่จะทำให้นักเทนนิสขยับอันดับโลกแบบก้าวกระโดดได้เท่านั้น

 

แต่มันยังเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวและสีสัน รวมถึงความแตกต่างที่แต่ละแกรนด์สแลมต่างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งในวันนี้ก่อนที่เทนนิสแกรนด์สแลมแรกของปีอย่างออสเตรเลียนโอเพนจะเปิดฉาก เราจะไปทำความรู้จักกับเทนนิสแกรนด์สแลมกันอีกครั้ง

 

สิ่งที่เรียกว่าแกรนด์สแลม

 

โนวัค ยอโควิช นักเทนนิสที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมมากที่สุด 24 ครั้ง

 

เทนนิสแกรนด์สแลมเป็นคำที่ต่อให้ไม่ใช่แฟนเทนนิสหรือแฟนกีฬาก็ต้องเคยได้ยินสักครั้ง โดยคำคำนี้ใช้จำกัดความสำหรับเรียกรวมเทนนิส 4 รายการใหญ่ของโลก ไล่ตั้งแต่ออสเตรเลียนโอเพน, เฟรนช์โอเพน, วิมเบิลดัน และยูเอสโอเพน

 

ความเหมือนของทั้ง 4 รายการนี้ คือทั้งหมดเป็นรายการเทนนิสที่มีระยะเวลาการแข่งขันยาวนานกว่าเทนนิสรายการใดๆ ตลอดปีตามปฏิทินเทนนิส โดยจะแข่งขันราว 2 สัปดาห์ ซึ่งต่างจากเทนนิสรายการทั่วไปที่ทำการแข่งขันกันเพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น

 

สาเหตุที่แกรนด์สแลมแข่งขันยาวนานกว่าเทนนิสทั่วไป เพราะรายการเหล่านี้เริ่มแข่งขันรอบเมนดรอว์ในประเภทเดี่ยวรอบแรกที่ 128 คน แล้วเล่นในระบบแพ้คัดออกจนเหลือ 64 คน, 32 คน, 16 คน ก่อนมาเล่นในรอบก่อนรองชนะเลิศ รองชนะเลิศ และชิงชนะเลิศ ตามลำดับ

 

โดยเทนนิสรายการอื่นๆ ทั่วไปจะแข่งขันอย่างมากสุดคือเริ่มในรอบ 64 คน ขณะที่บางรายการจะเริ่มต้นในรอบ 32 คน หรือ 16 คนก็มี

 

ขณะที่ในประเภทชายคู่และหญิงคู่จะเริ่มรอบแรกในรอบ 64 คน และคู่ผสมจะเริ่มรอบแรกที่รอบ 48 คน ซึ่งทุกแกรนด์สแลมจะมี 5 อีเวนต์เท่ากัน

 

นอกจากนี้แกรนด์สแลมยังเป็นเทนนิสเพียง 4 รายการในโลกที่มีการแข่งขันแบบ Best of 5 หรือ 3 ใน 5 เซ็ต ต่างจากรายการอื่นๆ ที่จะแข่งขันกันในระบบ Best of 3 หรือ 2 ใน 3 เซ็ต

 

และอย่างที่ได้เกริ่นไปตั้งแต่แรก เทนนิสรายการแกรนด์สแลมยังมีเงินรางวัลรวมมากกว่าเทนนิสรายการอื่นๆ หลายเท่าตัว ยกตัวอย่างเทนนิสรายการใหญ่อย่าง ATP Finals 2023 ที่ผ่านมา มีเงินรางวัลรวมอยู่ที่ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรืออินเดียน เวลส์ มาสเตอร์ส ปีก่อน จะอยู่ที่ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เทนนิสแกรนด์สแลมจะมีเงินรางวัลรวมอยู่ที่เฉียดๆ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละรายการ

 

นอกจากนี้เรื่องของคะแนนสะสมยังให้ผู้ชนะมากถึง 2,000 คะแนน ซึ่งมากกว่าเทนนิสระดับ ATP 1000 ในฝ่ายชาย หรือ WTA 1000 ในฝ่ายหญิงที่ได้มากที่สุด 1,000 คะแนน กว่าถึง 1 เท่าตัว

 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเทนนิสมากมายต่างอยากมีส่วนร่วมกับการแข่งขันเทนนิสรายการใหญ่อย่างแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ

 

ใครเข้าไปเล่นได้บ้าง

 

แคโรไลน์ วอซเนียคกี ที่ได้สิทธิ์ไวลด์การ์ดเข้าร่วมออสเตรเลียนโอเพนปีนี้

 

แน่นอนว่าเมื่อเป็นเทนนิสรายการใหญ่ที่สุดในแต่ละปี แกรนด์สแลมจึงต้องการนักเทนนิสที่ดีที่สุดเข้ามาร่วมการแข่งขัน โดยแกรนด์สแลมได้แบ่งการคัดเลือกนักเทนนิสเข้าร่วมออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ คือ 1. อันดับโลก 2. การควอลิฟาย และ 3. ไวลด์การ์ด

 

โดยอันดับโลกนั้นไม่ยากหากเป็นนักเทนนิสมืออันดับ 1-104 ของโลก จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันได้โดยอัตโนมัติ

 

แต่ถ้าหากใน 104 คนแรกไม่พร้อม ไม่ว่าจากอาการบาดเจ็บหรือการขอถอนตัวด้วยเหตุผลอื่นๆ อันดับจะถูกเลื่อนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างหากนักเทนนิสมือ 6, 20, 38, 61 และ 95 ถอนตัวไปรวม 5 คน นักเทนนิสอันดับ 105, 106, 107, 108 และ 109 จะได้สิทธิ์เข้าร่วมในโควตาอันดับโลก 104 คนแรกแทน

 

ขณะที่การควอลิฟายนั้นยากกว่า โดยในข้อนี้จะนับเอาอันดับโลกไล่ลงมาตั้งแต่ 105 ไล่ลงไปอีก 119 อันดับ บวกกับสิทธิ์ไวลด์การ์ดจากฝ่ายจัดการแข่งขันอีก 9 คน (ซึ่งสิทธิ์ไวลด์การ์ดในรอบคัดเลือกจะไม่เกี่ยวข้องกับไวลด์การ์ดในรอบเมนดรอว์) โดยส่วนมากนักเทนนิสที่ได้ไวลด์การ์ดในรอบคัดเลือกจะเป็นนักเทนนิสในประเทศที่น่าจับตามอง

 

ทั้งหมด 128 คน จะถูกจับฉลากแบ่งสายแข่งขันกันให้เหลือ 16 คน เพื่อได้รับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันในรอบเมนดรอว์สำหรับสิทธิ์ควอลิฟายต่อไป

 

ขณะที่อีก 8 คนสุดท้าย จะมาจากการได้รับสิทธิ์ที่เรียกว่าไวลด์การ์ด ซึ่งไวลด์การ์ดในรอบเมนดรอว์นี้จะต่างจากไวลด์การ์ดในรอบคัดเลือก โดยฝ่ายจัดการแข่งขันจะมอบ 8 สิทธิ์นี้ให้กับนักเทนนิสที่ ‘เหมาะสม’ หรือ ‘คู่ควร’ โดยมากจะเป็นนักเทนนิสชื่อดังที่ต้องพักการแข่งขันไปสักระยะ จนทำให้อันดับโลกหลุดไปจาก 104 อันดับแรก และเพื่อให้พวกเขามีชื่อร่วมรายการ จึงมีการมอบสิทธิ์นี้ให้

 

เมื่อรวมจำนวนทั้งหมด 104 คนจากโควตาอันดับโลก กับ 16 คนจากรอบควอลิฟาย และ 8 คนจากสิทธิ์ไวลด์การ์ด ก็จะได้ 128 คน ในรอบเมนดรอว์รอบแรกทันที

 

นั่นหมายความว่าหากนักเทนนิสคนใดอยากมีส่วนร่วมในแกรนด์สแลมแล้ว พวกเขา ต้องทำอันดับโลกอย่างต่ำให้ไม่เกินอันดับ 223 ของโลก เพื่อการันตีเล่นในรอบควอลิฟาย หรือไม่เกินอันดับ 104 เพื่อเล่นในรอบเมนดรอว์นั่นเอง

 

เอกลักษณ์ของแต่ละสแลม

 

ตราสัญลักษณ์แกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ

 

แกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ ถูกจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนเสมอ แม้ว่าจะถูกจัดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกันของปีก็ตาม

 

ออสเตรเลียนโอเพนจะถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมของปี ซึ่งก็คือฤดูร้อนของออสเตรเลีย ซึ่งปกติจะกินเวลาราวเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์

 

ขณะที่เฟรนช์โอเพนและวิมเบิลดันที่มักจะจัดไล่เลี่ยกัน เนื่องมาจากทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษมีฤดูร้อนอยู่ในช่วงเดียวกัน คือเดือนมิถุนายน-สิงหาคม

 

ส่วนยูเอสโอเพนจะจัดช้าที่สุดในเดือนสิงหาคม เนื่องจากฤดูร้อนของสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน

 

แม้ว่าทั้ง 4 แกรนด์สแลมจะจัดในช่วงฤดูร้อนเหมือนกัน แต่มีอีกหลายสิ่งที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน

 

ออสเตรเลียนโอเพนถูกเรียกว่าแฮปปี้สแลม หรือสแลมแห่งความสุข เพราะเป็นการแข่งขันในช่วงเริ่มต้นฤดูกาลที่นักเทนนิสมักจะพร้อมที่สุด ทั้งยังไม่ได้จัดในเมืองที่พลุกพล่านเหมือนรายการอื่นๆ ทำให้นักเทนนิสใช้ชีวิตง่าย และยังเป็นแกรนด์สแลมที่เราได้เห็นนักเทนนิสแต่งตัวด้วยสีสันฉูดฉาดมากที่สุดด้วย

 

เฟรนช์โอเพนขึ้นชื่อเรื่องการเป็นสแลมที่ยากต่อการพิชิตมากที่สุด (แม้ว่า ราฟาเอล นาดาล อาจจะไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้) เพราะการเล่นบนคอร์ตดินนับว่าเป็นคอร์ตที่กินพลังมากที่สุด และคอร์ตดินนี่เองที่ยังทำให้ลมมีผลต่อการกระดอนมากที่สุดด้วย

 

วิมเบิลดันเป็นแกรนด์สแลมที่มีพิธีรีตองมากที่สุด เพราะเป็นการแข่งขันแกรนด์สแลมที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นการแข่งขันที่นักเทนนิสมีเวลาเตรียมตัวน้อยที่สุดด้วย เนื่องจากจัดขึ้นในเวลาราว 1 เดือนหลังเฟรนช์โอเพน และทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่องบนคอร์ตหญ้าก่อนการแข่งขันรายการนี้ก็น้อยมาก โดยเอกลักษณ์ที่สำคัญของรายการนี้คือการที่นักเทนนิสทุกคนต้องใส่ชุดขาวลงสนามนั่นเอง

 

ยูเอสโอเพนเป็นแกรนด์สแลมสุดท้ายของปีที่มักจะไม่มีคนผูกขาดชัยชนะ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่นักเทนนิสมีอาการกรอบที่สุด เพราะเหนื่อยล้าจากการแข่งขันมาหลายเดือน แต่ก็เป็นรายการที่มีเอกลักษณ์จากการที่สนามเป็นเหมือนบ่อ จนได้รับฉายาว่า The Pit แต่ในทางกลับกันก็เป็นเทนนิสรายการที่มีคนให้ความสนใจมากที่สุด เพราะถูกจัดขึ้นที่มหานครนิวยอร์ก ที่ซึ่งมีผู้คนอาศัยกันอยู่หนาแน่นที่สุดด้วย

 

คอร์ตที่แตกต่าง

 

คอร์ตเทนนิสทั้ง 4 แกรนด์สแลม

 

อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของเทนนิสแกรนด์สแลมคือเรื่องของพื้นคอร์ตที่แตกต่างกัน ซึ่งแม้ออสเตรเลียนโอเพนกับยูเอสโอเพนจะจัดการแข่งขันในฮาร์ตคอร์ตเหมือนกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ดี

 

โดยออสเตรเลียนโอเพนใช้พื้นคอร์ตของกรีนเซ็ต (GreenSet) ที่มีส่วนผสมของยางมะตอยหรือคอนกรีตเป็นฐาน ก่อนราดผิวส่วนบนด้วยอะคริลิก เรซิน และซิลิกา โดย สหพันธ์เทนนิสนานาชาติ หรือ ITF จัดให้อยู่ในพื้นคอร์ตประเภทที่ 4 ที่ลูกกระดอนด้วยความเร็วระดับปานกลาง-เร็ว ซึ่งนับเป็นมาตรฐานคอร์ตที่มีความเร็วในการกระดอนมากที่สุดในบรรดารายการแกรนด์สแลมด้วยกัน

 

ขณะที่ยูเอสโอเพนใช้พื้นคอร์ตของเลย์คอลด์ (Laykold) ที่มีพื้นผิวหน้าทำมาจากอะคริลิกและโพลีเมอร์ โดย ITF รับรองพื้นผิวคอร์ตของยูเอสโอเพนให้อยู่ในประเภทที่ 2 ที่ลูกกระดอนด้วยความเร็วระดับปานกลาง-ช้า

 

ส่วนเฟรนช์โอเพนและวิมเบิลดันนั้นแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะที่โรลังด์ การ์รอส ใช้คอร์ตดิน หรือเคลย์คอร์ต ส่วนที่วิมเบิลดันใช้คอร์ตหญ้า

 

ดังนั้นแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการจึงมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และเป็นสิ่งท้าทายสำหรับนักเทนนิส เพราะจวบจนปัจจุบัน มีนักเทนนิสเพียง 18 คนเท่านั้นที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทั้ง 4 สนาม โดยที่ยังคงทำการแข่งขันอยู่เหลือเพียงแค่ โนวัค ยอโควิช และ ราฟาเอล นาดาล เพียง 2 คนเท่านั้น

 

อ้างอิง:

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X