×

‘ประธาน ส.อ.ท.’ เตือนเอกชนเตรียมรับแรงกระแทก หาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าคาด

15.03.2023
  • LOADING...

ส.อ.ท. เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 96.2 ปรับตัวสูงสุดรอบ 4 ปี รับอานิสงส์ภาคผลิต บริโภค ท่องเที่ยวฟื้น พร้อมจับตามรสุมใหม่ หาก Fed ใช้ยาแรง เตือนเอกชนไทยเตรียมรับแรงกระแทกรอบด้าน ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ เตรียมขอรัฐบาลลุยพลังงานสะอาด จัดระเบียบนำเข้าเชื้อเพลิง คุมต้นทุนค่าไฟ และสร้างสมดุลใหม่ 

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ระดับ 96.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.9 ในเดือนมกราคม สูงสุดในรอบ 47 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ 

 

โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิตตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน และอานิสงส์การเปิดประเทศของจีน ขณะเดียวกันการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ตลอดจนการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ต้นทุนประกอบการประเภทราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน

 

ขณะที่ปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนมีนาคมนี้จะมาจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่หดตัวลง เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อสูงในประเทศเศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นความเสี่ยงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยที่สำคัญคือผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ราคาน้ำมัน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของภาคเอกชน

 

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 101.1 ในเดือนมกราคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางดีขึ้น โดยมีแรงผลักดันจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ และการลงทุน รวมถึงการจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ตลอดจนการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของจีนจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยที่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา

 

แนะเอกชนไทยเตรียมรับแรงกระแทกจากปัจจัยภายในและภายนอก

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามโดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลก จากเหตุการณ์ SVB ซึ่งสหรัฐฯ​ สั่งปิดธนาคารถึง 3 แห่งในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์นั้นกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ที่ต้องติดตามว่าปัญหานี้จะลุกลามหรือไม่ เนื่องจากได้เฝ้าติดตามแบงก์ในยุโรป อังกฤษ หรือแม้กระทั่งแบงก์ญี่ปุ่น รายเล็กๆ ก็มีปิดตัวลงบ้างเช่นกัน 

 

ส่วนปัญหาสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อนั้น ตามการรายงานข่าวว่าจะมีการหารือระหว่างผู้นำจีนและรัสเซียต้องติดตามว่าจะมีทางออกในการเจรจามากน้อยเพียงใด 

 

ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินที่ไม่ใช่เพียงไทยแต่หลายชาติก็ประสบปัญหา ส่งผลให้ผู้นำเข้า-ส่งออกต้องระวัง เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องจับตาในเดือนนี้ให้ดี เพราะยังคงมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นอีก ที่ประเมินไว้อาจจะมากกว่า 5% 

 

ส่วนราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันขณะนี้เริ่มดีขึ้น แต่ค่าไฟฟ้าของไทยเองยังคงอยู่ในระดับสูงจึงหวังว่าค่าไฟงวดที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2566 จะลดลงตามที่ประเมินไว้ เพราะตอนนี้เห็นชัดเจนแล้วว่าทุกประเทศกำลังซื้อปรับตัวลดลง ขณะที่ตลาดแย่งกันขายราคาถูก 

 

“ช่วงเดือนมีนาคมนี้ ห่วงว่าสหรัฐฯ จะใช้ยาแรง จากการที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นไปได้ว่าทิศทางอาจแตะระดับ 5% แน่นอนว่าปัจจัยภายนอกเช่นนี้เราควบคุมไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการ ตรงนี้ผู้ประกอบการไทยต้องระมัดระวัง ที่สำคัญราคาค่าไฟของการผลิตแต่ละโรงงานยังถูกกดดัน ซึ่งควรต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย 

 

เพราะเราถือว่าค่าไฟเป็นต้นทุนใหญ่ของภาคอุตสาหกรรม ขณะที่เวียดนามต้นทุนอยู่ที่ 2.80 บาทต่อสตางค์ แม้ลดลงมา 4.50 บาทต่อสตางค์ ก็ยังแพง ซึ่งสาเหตุที่ราคาค่าไฟแพงมาจากปัจจัยหลักๆ ทั้งสัดส่วนพลังงานการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ควรบาลานซ์ใหม่ รัฐควรกระจายไข่ในตะกร้า เพื่อป้องกันให้ตกแล้วไม่แตกไปทั้งหมด และควรเพิ่มสัดส่วนกรีน พลังงานสะอาด ซึ่งต้องมีแผนการรองรับด้วย ที่สำคัญคือควรเปิดเสรี นั่นคือการปลดล็อกโซลาร์เซลล์ เพราะหลายโรงงานยื่นขอใบอนุญาตก็ยังติดขัดเงื่อนไขภาครัฐอยู่ดี” เกรียงไกรกล่าว 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X