×
SCB Omnibus Fund 2024

สภาอุตฯ ชี้ COP26 เอฟเฟกต์แรง ทั่วโลกขานรับพลังงานสะอาด ด้านโบรกฯ ฟันธงหุ้นโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าสู่ขาลง

07.11.2021
  • LOADING...
อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • ส.อ.ท. เผยการประชุม COP26 ประเทศไทยมีการตื่นตัว โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างโตโยต้าที่ต้องทำการค้ากับทั่วโลก เตรียมปรับเปลี่ยนใช้พลังงานสะอาด ประกาศเป้าหมายปี 2035 ต้อง Net Zero 100% 
  • บล.เอเซีย พลัส ระบุ COP26 หุ้นกลุ่มพลังงานมีการเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือโซลาร์เซลล์เพิ่มมากขึ้น ส่วนกลุ่มพลังงานจากพวกฟอสซิล ดีมานด์เริ่มชะลอ บวกราคาถ่านหินสูงขึ้น ทำให้ Sentiment ถูกกดลงไป 
  • ทีมวิจัย Phillip Fund SuperMart ชี้ EV ในไทยหันมาใช้พลังงานสะอาด แต่ติดปัญหาสถานีแท่นชาร์จน้อยเกินไป และการเสียภาษีนำเข้าค่อนข้างแพง จึงไม่ได้เกิดแรงจูงใจจากผู้บริโภคมากนัก 

เปิดฉากเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2021 โดยมีผู้นำทั่วโลกกว่า 100 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในเครือสหราชอาณาจักร เพื่อหารือแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเร่งด่วน 

 

นที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อมูลกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ถึงการประชุม COP26 ในครั้งนี้ว่า หลังจากนี้รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะประกาศกฎหมายให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เป็นการช่วยให้บรรลุเป้าหมายตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศไว้ โดยสิ่งที่จะต้องเร่งมือทำก่อนคือ การใช้พลังงานอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเครื่องมือสำคัญคือ พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานทดแทนทุกประเภท (Renewable Energy: RE) ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency: EE) ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่แต่ละประเทศได้ประกาศออกมา 

 

ดังนั้น บริษัทใหญ่ ๆ จึงมีการขานรับ และนโยบายที่ได้ประกาศออกมา เช่น บริษัทรถยนต์โตโยต้า สำนักงานใหญ่ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกมาประกาศ Carbon Neutral หมายความว่า ต้องไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศสุทธิเพิ่มขึ้นจากการดำเนินธุรกิจหรือการบริการ ซึ่งจะต้องเป็นศูนย์ภายในปี 2035 หรือใน 15 ปีข้างหน้า ซึ่งโตโยต้าทำธุรกิจส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลก มีซัพพลายเออร์ผลิตชิ้นส่วนทั่วโลก และมีฐานกำลังการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอยู่ที่ประเทศไทย ดังนั้น บริษัทเหล่านี้จึงจำเป็นต้องรับนโยบายจากโตโยต้า โดยเป้าหมายคือต้องใช้จากพลังงานสะอาด 100% ในปี 2035 เช่นกัน 

 

ขณะที่โรงไฟฟ้าอยู่ในส่วนของพลังงานทดแทนทุกประเภท (RE) ที่จะเข้ามาช่วยลดโลกร้อน หมายถึง ต้องมีการเปลี่ยนผ่านจากการที่เคยพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าเป็นจำนวน ณ ขณะนี้อยู่ 80-90% และก๊าซธรรมชาติจากถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันแผนพลังงานชาติได้กำหนดออกมาแล้วว่า ต้องการเพิ่มสัดส่วนของ RE ไม่น้อยกว่า 50% อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการบังคับ เนื่องจากบริษัทเอกชนยังคงติดสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. อยู่ แต่คาดว่าในปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า แผนที่ระบุไว้จะต้องเพิ่มสัดส่วน RE เข้ามา หมายความว่า โรงไฟฟ้าใหม่ๆ กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้าระบบ ก็ต้องเป็นไฟฟ้า RE เป็นหลักนั่นเอง 

 

“ในฐานะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ที่โรงงานหรือองค์กรต่างๆ จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่ทุกคนก็มีข้อจำกัด อย่าง EE ผมเชื่อว่าใครๆ ก็ทำได้ ติดโซลาร์เซลล์ เพื่อประหยัดพลังงาน แต่มันก็ยังมีการปล่อยอยู่ ไม่สามารถที่จะให้เป็น Net Zero ได้ ฉะนั้น ต้องมีไฟจากพลังงานสะอาด เพราะทุกคนใช้พลังงานจากไฟฟ้าหมด โซลาร์เซลล์อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ของพลังงานที่ตัวเองมีทั้งหมด ไฟฟ้าซื้อจากข้างนอก คือซื้อจากการไฟฟ้าในสายส่ง แต่มีฟอสซิลผสมอยู่ ไฟมันเป็น Energy Mix เพราะฉะนั้น ซื้อไฟจากการไฟฟ้ามาใช้ ก็เท่ากับตัวเองยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ แต่เป็นการปล่อยทางอ้อม ฉะนั้น ทำอย่างไรให้องค์กรเหล่านี้สามารถใช้ไฟจากพลังงานหมุนเวียน 100% ในโรงงานของตัวเองได้ อันนั้นคือที่มาของการผลักดันและขับเคลื่อนอยู่” 

 

ทั้งนี้ กรณีท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่ลงทุนทำท่อเอง ในอดีตคนภายนอกไม่สามารถเข้าใช้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการผูกขาดระบบก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ แต่เมื่อหลายปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดเสรีให้กับบริษัทอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก ปตท. หรือเป็นบุคคลที่ 3 สามารถที่จะเข้ามาใช้ท่อก๊าซของ ปตท.ได้ โดยการเก็บค่าผ่านท่อ นั่นหมายถึงว่า ผู้เล่นในตลาดก๊าซธรรมชาติก็จะมีเพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถที่จะใช้ได้ ซึ่งหากแต่ละบริษัทจะไปสร้างท่อก๊าซธรรมชาติจะไม่คุ้ม 

 

ซึ่งในกฎหมายได้มีการปรับแก้ไขแล้วในส่วนของก๊าซธรรมชาติ ขณะที่สายไฟฟ้าก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมด้วยเช่นกัน โดยเปลี่ยนมาเป็น Prosumer คือการนำ Producer กับ Consumer มาอยู่ในคนคนเดียวกัน คือ เราที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ขณะเดียวกันเมื่อมีไฟฟ้าเหลือ สามารถนำขายให้คนอื่นก็ได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งดิจิทัล เทรดดิ้ง เอเนอร์จี้ แพลตฟอร์ม

 

ปัจจุบันสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน กำลังทำโครงการ Sandbox 2 ขึ้นมา เพื่อที่จะให้ทดสอบและทดลองดูว่า หากจะซื้อขายไฟฟ้าเสรีทางสายส่งกันได้หรือไม่ ซื้อขายไฟกับเอกชนได้ไหม จะต้องมีการผ่อนคลายกับกฎระเบียบข้อไหน ปรับปรุงกฎหมายข้อไหนบ้างที่จะเอื้อให้ตรงนี้เกิดขึ้นได้ ถ้าเกิดขึ้นได้มันก็จะมาตอบโจทย์ต่างๆ ที่จะมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

 

ณ ขณะที่มีการประชุม COP26 อยู่ บ้านเราก็มีการตื่นตัวกันมาก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องทำการค้ากับทั่วโลก ยกตัวอย่าง หากบ้านเราส่งออกสินค้าไปยุโรป และมีก๊าซคาร์บอนด์ออกไซด์ จะต้องเสียค่าปรับทางภาษี เพราะยุโรปมองเป็นการเอาเปรียบทางด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า ดังนั้น เมื่อจะทำการค้ากับยุโรป ต้อง Net Zero ให้ได้ เป็นต้น  

 

ด้านเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) กล่าวว่า การประชุม COP26 ในครั้งนี้ เน้นไปในการเปลี่ยนแปลงมลภาวะโลกร้อนต่างๆ ซึ่งหากมองในหุ้นกลุ่มพลังงานที่อยู่ในบริษัทจดทะเบียนได้มีการเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือโซลาร์เซลล์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงโรงงานแบตเตอรี่ด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม หุ้นพลังงานบางบริษัทที่อาจจะใช้พลังงานสารจากพวกฟอสซิล อาจจะเห็นดีมานด์ที่มีการชะลอตัวลงไปได้ และอีกขาหนึ่งเรื่องของตัวราคาถ่านหินเอง ซึ่งพบว่าโดย Sentiment มันก็ถูกกดลงไป 

 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูต้นทุนไตรมาส 3 ของกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน ตรงนี้ก็ยังเป็นภาระอยู่ เพราะ Earnings ไตรมาส 3 มีการชะลอตัว เพราะต้นทุนถ่านหินที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเลยโดนเป็น 2 เด้ง คือ ราคาถ่านหิน และ Sentiment ที่ถูกกดลงไป เช่น BANPU หรือ LANNA เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นตัวกดดันให้กลุ่มนี้ก็ย่อตัวลง ส่งผลให้กระแสแรงกว่าผลกระทบเชิงพื้นฐานนั่นเอง 

 

ประเด็น COP26 ในบ้านเรา ณ ขณะนี้ต้องยอมรับว่ายังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากเป็นการวางกรอบนโยบายระหว่างประเทศ จึงต้องจับตาดูว่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรีกลับมาแล้วจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างไรบ้าง ถัดมาก็เป็นในส่วนของภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งไม่ได้หมายถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นภาพรวมของธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนด์ออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนมาก ตรงนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายออกไป 

 

สำหรับมุมมองดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้ ยังคงไว้ที่เดิม 1,670 จุด หากพ้นช่วงประชุม Fed และการเปิดประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยในประเทศที่ยังต้องจับตาในช่วง 1-2 เดือนนี้หลังจากเปิดประเทศแล้วมีความราบรื่นแค่ไหน แต่คาดว่ายังคงต้องมีการปรับกันไปเรื่อยๆ และต้องจับตาดูว่า เมื่อเปิดเมืองแล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงต้องไปดูจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นมาหรือไม่ 

 

ขณะที่ทีมวิจัย Phillip Fund SuperMart ระบุว่า จากการประชุม COP26 มีการจัดขึ้นทุกๆ 6 ปี และในปีนี้แม้ประเทศจีนจะไม่ได้มาเข้าร่วม แต่ได้ส่งตัวแทนเข้ามาสังเกตการณ์ เพราะจีนถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ต้องการเป็น Net Zero ให้ได้ภายในปี 2030 เนื่องจากที่ผ่านมาจีนได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนัก และน้ำท่วมครั้งใหญ่ทางตอนกลางของมณฑลเหอหนาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

 

ขณะที่นายกรัฐมนตรีของอินเดียออกมายอมรับว่าเป็นประเทศที่มีถ่านหินเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ปล่อยคาร์บอนด์ออกมา ภายใน 20-25 ปีข้างหน้าต้องการที่จะ Net Zero ให้ได้เช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นการชาเลนจ์พอสมควร ในขณะที่ประเทศไทย ย้อนกลับไปช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น 

 

ด้าน บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ ได้ออกมาบอกถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า อาจจะยังไม่ได้เห็นในเชิงปฏิบัติหรือข้อตกลงที่ชัดเจนมากนัก เพราะหลายประเทศยังเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด ซึ่งหากจะมีการลดคาร์บอนเลยในช่วงนี้อาจต้องใช้เวลาพอสมควร และต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนของหลายประเทศพร้อมๆ กัน 

 

ยุโรปมีการตื่นตัวเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาในรอบ 40 ปีที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมครั้งรุนแรง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในยุโรป กู้ภัยยังคงแข่งกับเวลาเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้สูญหายอีกนับร้อยราย และย้อนกลับมามองที่บ้านเรา โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองหลวง เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมอีก 15-20 ปีนี้แน่นอน ซึ่งการประชุม COP26 ครั้งนี้ ต้องการกดและลดความร้อนของโลกลงไม่ให้อุณหภูมิของน้ำเกิน 2 องศาเซลเซียล 

 

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงมาใช้พลังงานสะอาดในบ้านเราเริ่มจะเห็นบ้างแล้วจากรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV แต่ปัญหาสถานีแท่นชาร์จน้อยเกินไป และมีการเสียภาษีนำเข้าค่อนข้างแพง จึงอาจจะไม่ได้เกิดแรงจูงใจจากผู้บริโภคมากนัก ขณะที่ฐานการผลิตบ้านเราที่เป็นเครื่องยนต์ รถยนต์สันดาป หรือเครื่องยนต์ดีเซลล์ที่ไทยเป็นอันดับ 1-2 ของโลก ผู้ประกอบการก็ต้องเริ่มพยายามปรับตัวเองเพิ่มมากขึ้น

 

และจากการประชุม COP26 ครั้งนี้ ยังคงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะมีนโยบายในการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ว่าจะยกระดับเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 40% ในปี 2030 ซึ่งจะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็น Net Zero Greenhouse Gas Emissions ก่อนปี 2065 ให้ได้ 

 

 

ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising