×

ส.อ.ท. มองข้ามช็อต ชี้หากตั้งนายกฯ คนใหม่ช้ากว่า 4 เดือน ทำงบประมาณสะดุด การลงทุนชะงัก

16.05.2023
  • LOADING...
ส.อ.ท.

สิ่งที่กังวลไม่ใช่แค่เรื่องตั้งรัฐบาล แต่เป็นความล่าช้าของการตั้งนายกฯ! ส.อ.ท. มองข้ามช็อต ห่วงตั้งนายกฯ ช้า เกิดสุญญากาศทางการเมือง ทำงบประมาณสะดุด การลงทุนชะงัก เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวโตตามเป้า 3-3.5% ชี้รัฐบาล 310 เสียง เหมาะสมแล้ว

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ หวังให้ทุกอย่างราบรื่นและนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและทั่วโลก ที่กำลังจับตามองไทยเป็นตัวเลือกที่สำคัญในการลงทุนท่ามกลางช่วงการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยี ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการย้ายฐานผลิต หากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างเรียบร้อย

 

โดยหากจัดตั้งได้ก่อนเดือนสิงหาคมจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ไทย แต่หากไม่เป็นไปตามกำหนด และล่าช้าไปกว่านี้ จะเกิดเป็นช่วง ‘สุญญากาศทางการเมือง’ ส่งผลให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและโครงการค้างท่อต่างๆ จะยังหยุดชะงักและไม่สามารถไปต่อได้ สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจโดยรวม

 

หากล่าช้ามากไปกว่านี้ ครึ่งปีหลัง หากยิ่งมีการยื้อหรือเกิดการประท้วงขึ้น ก็จะส่งผลไปถึงภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักในตอนนี้ และทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่คาดไว้ว่าจะโต 3-3.5% ในปีนี้

 

สิ่งที่กังวลไม่ใช่แค่เรื่องตั้งรัฐบาล

มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวเสริมว่า คาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้จะมีกำหนดจัดตั้งรัฐบาลที่ชัดเจน และเชื่อว่ารัฐบาล 310 เสียง สามารถตั้งได้ แต่สิ่งที่กังวลและกำลังจับตามองต่อไปคือความล่าช้าของการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

สำหรับเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลนั้น อยากเรียนว่า ส.อ.ท. ไม่เคยทะเลาะกับรัฐบาลไหนเลย เพราะ ส.อ.ท. มองที่ความมั่นคงของประเทศชาติเป็นหลัก และมีความเป็นกลางทางการเมือง ส่วนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล 310 เสียงนั้น เชื่อว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้ ก็สามารถตั้งได้

 

“สิ่งที่กังวลไม่ใช่แค่เรื่องตั้งรัฐบาล แต่มองเลยไปถึงการตั้งนายกฯ ซึ่งหากล่าช้าไป และได้นายกฯ หลังเดือนสิงหาคม คือช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม สิ่งที่กังวลคืองบประมาณปีนี้จะใช้อย่างไร การเบิกจ่ายงบประมาณจะถึงเป้า 98% เหมือนเดิมหรือไม่ ประเด็นสำคัญคือจะเกิดสุญญากาศเรื่องงบประมาณรัฐปี 2566 ยาว 4-5 เดือน ส่วนงบปี 2567 ที่อนุมัติไปแล้วตอนต้นปี ก็ต้องไปเร่งใช้จ่ายให้ได้ตามเป้า ยิ่งไปกว่านั้นคือห่วงงบปี 2568 ที่รัฐบาลควรจะเร่งจัดการภายในต้นปี 2567 ให้ได้ เพื่อเร่งเศรษฐกิจไทยให้ได้มากที่สุด ดังนั้นจึงอยากให้รีบตั้งรัฐบาล เพราะยังมีปัญหารออยู่ข้างหน้าอีกมาก” มนตรีกล่าว

 

วิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ตามกลไกของประชาธิปไตย การตั้งรัฐบาล 310 เสียง ถือว่าเหมาะสมในการถ่วงดุลอำนาจในรัฐสภา อยากให้มองในแง่บวกว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะสนับสนุนการเลือกนายกฯ เพราะจากการเลือกตั้งจะเห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ได้คะแนนเสียงทั้งในรูปแบบเขตพื้นที่และบัญชีรายชื่อ แสดงให้เห็นถึงฉันทามติในทุกระดับ

 

“นโยบายของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยในภาพรวมไม่ได้มีความขัดแย้ง เพียงแต่แตกต่างกันในวิธีปฏิบัติ รวมทั้งแนวทางของทั้งสองพรรคก็ใกล้เคียงกับสิ่งที่ ส.อ.ท. และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. จะเสนอด้วย ดังนั้นสิ่งสำคัญคืออยากให้การตั้งรัฐบาลเร็วและจบได้ ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้” วิวรรธน์กล่าว

 

ห่วงต้นทุนค่าแรง ค่าไฟ การลงทุนชะงัก

ส่วนข้อเสนอเอกชน โดย ส.อ.ท. เบื้องต้นขอให้รัฐบาลใหม่เร่งปรับโครงสร้างและลดความซ้ำซ้อนของกฎระเบียบภาครัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย รวมถึงค่าแรง อยากให้มีการจ่ายค่าแรงตามความสามารถและทักษะของแรงงานมากกว่า และดูแลเรื่องค่าครองชีพด้วย ท้ายที่สุดเชื่อว่าผลดีจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะไปอยู่ที่แรงงานต่างด้าว และเรื่องต้นทุนพลังงาน ค่าไฟ ควรเปิดตลาดการซื้อขายไฟฟ้าเสรี ซึ่งเป็นประเด็นที่ ส.อ.ท. เห็นตรงกันกับนโยบายของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย

 

“พรรคใดเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็อยากให้รีบทำ เพราะว่าเรื่องพลังงานนั้นจะปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ ต้องมีการปรับโครงสร้างเรื่องการคิดราคาพลังงานใหม่ รีบเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี นอกจากนี้คือการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการคอร์รัปชันในระดับนโยบาย ควรรีบแก้และให้เห็นเป็นรูปธรรม”

 

ขณะที่นโยบายของรัฐบาลชุดเดิมที่ทำดีอยู่แล้ว และอยากให้รัฐบาลใหม่นำไปต่อยอดคือเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพราะเทรนด์การค้าโลกในอนาคตนั้นหนีไม่พ้นเรื่องนี้อย่างแน่นอน และขอให้สานต่อนโยบายเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising