×

ส.อ.ท. หวั่นแรงกระแทกวิกฤตแบงก์ล้ม ลามกำลังซื้อและการปล่อยสินเชื่อในไทย

23.03.2023
  • LOADING...

ส.อ.ท. เผยยอดผลิตรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 6.68% หลังปัญหาชิปคลี่คลาย บวกกับกระแสรถยนต์ EV มาแรง หนุนยอดส่งออกสองเดือนทะลุ 1.7 แสนคัน มั่นใจงานมอเตอร์โชว์ดันยอดขายคึกคักทั้งปี หนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์กลับสู่ระดับ 2 ล้านคันได้ในปี 2567 ยอมรับกังวลกระแสคลื่นใต้น้ำจากกรณี Credit Suisse และวิกฤตแบงก์สหรัฐฯ ล้ม รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะกระทบการปล่อยสินเชื่อและกำลังซื้อในไทย

 

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้การส่งออกรถยนต์กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง หลังสถานการณ์ชิปขาดแคลนได้คลี่คลาย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิดทุเลาลง นานาประเทศเริ่มเปิดประเทศอีกครั้ง ส่งผลให้การทำงานที่บ้าน (Work from Home) น้อยลง ฉุดความต้องการโน้ตบุ๊ก มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ลดลงตามไปด้วย ชิปจึงถูกจัดสรรมายังอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ตามปกติ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยังมีสิ่งที่ต้องกังวลอยู่ในระยะนี้ นั่นคือกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เช้านี้ (23 มีนาคม) และกรณีวิกฤตของ Credit Suisse และภาคธนาคารในสหรัฐฯ ช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบที่เรายังไม่ได้รับรู้อีกมาก 

 

“เราไม่อาจนิ่งนอนใจว่าจะเป็นภูเขาน้ำแข็งที่อยู่เหนือน้ำหรือเปล่า หรืออาจจะมีคลื่นใต้น้ำหรือไม่ เพราะหากเกิดปัญหามากขึ้น บวกกับการถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเข้มงวดของสถาบันการเงินในไทย ล้วนมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันทางการเงิน มีผลต่อกำลังซื้อได้ นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ใกล้ชิดหากปัญหาเศรษฐกิจโลกไม่ลุกลาม ในทางตรงกันข้ามหากไม่บานปลายไปมากกว่านี้ การผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับไปสู่ระดับ 2 ล้านคันได้ในปี 2567 แน่นอน” สุรพงษ์กล่าว

 

สุรพงษ์มองว่าความน่าสนใจของตลาดรถยนต์ปีนี้ คือสัญญาณการลงทุนด้าน EV ของค่ายรถยนต์รายใหญ่ที่เริ่มเห็นชัดขึ้น จากการวางแผนจะมาตั้งโรงงานในไทยอีกหลายราย ขณะที่ฝั่งออร์เดอร์ตามที่หลายค่ายได้รับก็ถือว่าดี บางค่ายยอดจองเริ่มเต็มแล้ว นอกจากนี้เชื่อว่าจะมีการลงทุนที่ปรับธุรกิจเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นมากพอสมควร ส่งผลให้โรงงานผลิตชิ้นส่วนและแบตเตอรี่เพิ่มกำลังการผลิตและมีการลงทุนเกี่ยวเนื่องตามมา เพราะการลงทุนลักษณะนี้ถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น 

 

โดยล่าสุดยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในงานมอเตอร์โชว์กลับมาคึกคักอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีอย่างมากจากยอดจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ที่เป็นเฉพาะในส่วนรถยนต์นั่งในประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 5,402 คัน เพิ่มขึ้นจากกุมภาพันธ์ 2565 ที่มีจำนวน 341 คัน หรือเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 1,484.2% รวมสองเดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์) อยู่ที่ทั้งหมด 8,331 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,283.9%

 

ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทแบบแบตเตอรี่ BEV สองเดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2566) ที่จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 12,243 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 715.66% ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) 15,605 คัน เพิ่มขึ้น 60.58% รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) 2,210 คัน เพิ่มขึ้น 31.63% ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 44,294 คัน เพิ่มขึ้น 244.19% ประเภท HEV มีจำนวน 275,193 คัน เพิ่มขึ้น 33.47% ประเภท PHEV 44,596 คัน เพิ่มขึ้น 35.89%

 

ยอดผลิตรถยนต์รวมเดือนกุมภาพันธ์โต 6.39% 

สำหรับยอดการผลิตรถยนต์ทุกประเภทรวมเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีทั้งสิ้น 165,612 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.39% รวมสองเดือน (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2566) ผลิตได้ 327,939 คัน เพิ่มขึ้น 6.68% สาเหตุหลักมาจากการได้รับเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่เพียงพอ ทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกสูงขึ้น สะท้อนจากตัวเลขส่งออกรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 88,525 คัน เพิ่มขึ้น 11.42% รวมสองเดือนส่งออก 175,311 คัน เพิ่มขึ้น 17.43% โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียและโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ในเรือขนส่งรถยนต์ (Ro-Ro) ไม่เพียงพอ และวนกลับมาจากท่าเรือประเทศออสเตรเลียมารับรถยนต์รอบใหม่ล่าช้าจากรถยนต์ที่ส่งจากประเทศไทยมีดอกหญ้าติดไปกับรถ ต้องล้างทำความสะอาดรถเป็นจำนวนมาก ทำให้รถยนต์บนเรือไม่สามารถขึ้นท่าเรือได้ 

 

ยอดจำหน่ายรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์วูบ 3.94% 

ส่วนการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 71,511 คัน ลดลง 3.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมสองเดือนอยู่ที่ 137,130 คัน ลดลง 4.73% สาเหตุหลักมาจากยอดส่งมอบรถกระบะในประเทศน้อยลง โดยผู้ผลิตหันไปผลิตรถกระบะเพื่อเร่งส่งมอบสำหรับการส่งออกแทน เนื่องจากที่ผ่านมาได้ค้างส่งมอบเพราะปัญหาชิปขาดแคลน รวมไปถึงการจำหน่ายรถบรรทุกที่ลดลง ที่ต้องติดตามว่ามาจากปัจจัยใด โดยเบื้องต้นมองว่าเป็นไปได้ที่อาจจะมีการนำเข้าในราคาต่ำมาจำหน่ายหรือไม่ ต้องรอการตรวจสอบข้อมูล

 

“หากดูจากยอดการผลิตสองเดือนแรกปีนี้ เราก็ยังมั่นใจว่าเป้าการผลิตรถยนต์ปี 2566 จะอยู่ที่ 1,950,000 คัน เพิ่มขึ้น 3.53% จากปีก่อน แบ่งเป็นยอดผลิตเพื่อส่งออก 1,050,000 คัน และยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน และดูจากกระแสคนเข้าชมงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2023 ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 จะมียอดจำหน่ายที่สูงกว่าปีก่อนหรือมากกว่า 4 0,000 คัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สูงขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เป็นไปตามเป้า” สุรพงษ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X