วานนี้ (10 เมษายน) สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความเห็นการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) เพื่อรับฟังความเห็นต่อผลการเจรจา FTA (เอฟทีเอ) ไทย-เอฟตา ณ โรงแรมโนโวเทล มารินา ศรีราชา จังหวัดชลบุรี หลังจากที่ไทย และ เอฟตา ได้ร่วมลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน เมื่อเดือนมกราคม 2568 ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์
สุชาติเปิดเผยว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญกับการใช้เวทีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในการส่งเสริมการค้าการลงทุน จัดสัมมนาในวันนี้ เป็นการคิกออฟ (Kick off) กิจกรรมรับฟังความเห็นสาธารณะต่อความตกลงฉบับนี้ ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มีแผนงานจะจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเริ่มจัดที่จังหวัดชลบุรีเป็นแห่งแรกเนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภาคตะวันออกของไทย เป็นจังหวัดที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตนิคมอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ และเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกที่เป็นเส้นทางผ่านสำคัญ ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ
สุชาติกล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ผลตอบรับดีมาก มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 150 คน จากผู้เข้าร่วมการสัมมนาทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่อยู่ในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออก ตลอดจนผู้เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ทาง Facebook Live ของกรมฯ ซึ่งมีจำนวนกว่า 150 ท่าน
“ผมอยากให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายเล็กให้ความสนใจศึกษารายละเอียดของความตกลงฉบับนี้ เนื่องจากเอฟทีเอ ไทย – เอฟตา เป็นเอฟทีเอฉบับแรก ที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป ถือเป็น FTA ที่มีความทันสมัยและมีมาตรฐานสูงที่สุดของไทยในขณะนี้ ประกอบด้วยการเปิดตลาดสินค้า การค้าบริการและการลงทุน ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์กับไทย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้สินค้าไทยเจาะตลาดประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ได้ดีขึ้น”
ทั้งนี้ ความตกลงฉบับนี้คาดว่าจะมีผลใช้บังคับในปี 2569 ซึ่งคาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในการขยายตลาดส่งออกทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น ข้าว ผักผลไม้สด อาหารทะเลแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงลดต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ชีส เนยแข็ง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการส่งออกกลุ่มอาหารแปรรูป
ในปี 2567 เอฟตา เป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับที่ 14 ของไทย มีมูลค่าการค้ากับไทย 11,788.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.94 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 19.22 โดยไทยส่งออกไป EFTA 4,225.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 3.77 และไทยนำเข้าจาก EFTA 7,563.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 37.59 ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 3,338.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกหลักของไทยไปเอฟตา ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และผลิตภัณฑ์พลาสติก
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเอฟตา ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป และเครื่องประดับอัญมณี