เป็นอีกครั้งที่ข่าวเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ ครองพื้นที่สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ประเทศต้นแบบที่ขึ้นชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพกำลังถูกต้ังคำถามถึง ‘สิทธิครอบครองปืน’ จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมแห่งนี้ จากสถิติของ Gun Violence Archive องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เดินหน้าเก็บข้อมูลด้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอาวุธปืนระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา มีพลเมืองสหรัฐฯ เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากกว่า 1,800 คน
เหตุกราดยิงในโรงเรียนครั้งล่าสุดที่ผู้ลงมือก่อเหตุมีอายุเพียง 19 ปี อดีตนักเรียนที่ถูกไล่ออกหลังจากทำผิดกฎระเบียบของโรงเรียน โดยได้ใช้อาวุธปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติชนิด AR-15 Rifle กราดยิงผู้คนในพื้นที่บริเวณโรงเรียน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 17 คน และได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 14 คน นับเป็น 1 ใน 10 เหตุกราดยิงครั้งรุนแรงที่สุดของประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในรอบ 35 ปี และเป็นเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 18 ในปีนี้แล้ว แม้ระยะเวลาจะผ่านมาเพียงแค่ 1 เดือนครึ่งเท่านั้นเอง
เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมสหรัฐฯ ได้ปลุกกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิพลเมืองสหรัฐฯ ในการครอบครองปืนได้อย่างเสรีขึ้นมาอีกครั้ง แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่มีทีท่าว่ากฎหมายดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้ว่าจะเกิดเหตุกราดยิงขึ้นกี่ครั้งแล้วก็ตาม
‘สิทธิครอบครองปืน’ กับความซับซ้อนในเกมการเมืองและสังคมของสหรัฐฯ
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ THE STANDARD ถึงประเด็นเรื่องสิทธิครอบครองปืนและเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมสหรัฐฯ ว่ามีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันหรือไม่ อย่างไร และอะไรคือสิ่งที่สังคมไทยน่าจะตั้งคำถามกับบทเรียนนี้
ศ.ดร.สุรชาติเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมสหรัฐฯ ในช่วงเวลานี้ “สังคมกำลังตั้งคำถามว่าการกราดยิงในโรงเรียนสะท้อนอะไรในสังคมอเมริกัน? ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะในยุโรปที่ไม่มีปัญหาในลักษณะนี้ ในเอเชียเราแทบจะไม่เคยเห็น โจทย์ใหญ่คือประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงในดีเบตใหญ่ของการสมัครลงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ แทบจะทุกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมปืน ซึ่งถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าความพยายามควบคุมปืนของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเลย แม้ว่าพรรคเดโมแครตที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจังจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลเองก็ตาม”
อาจารย์ชี้ให้เราเห็นว่า สมาคมไรเฟิลแห่งชาติสหรัฐฯ (National Rifle Association: NRA) เป็นตัวละครสำคัญที่มีอิทธิพลต่อเกมการเมืองสหรัฐฯ มากที่สุดองค์กรหนึ่ง ไม่เพียงแต่ในเรื่องของเงินสนับสนุนจำนวนมหาศาล แต่ยังปฏิสัมพันธ์และมีสมาชิกภายในองค์กรกว่า 5 ล้านคนทั่วสหรัฐฯ และมีสมาชิก NRA แทรกซึมอยู่ในแทบจะทุกองค์กรที่มีบทบาทในการตัดสินใจและดำเนินนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ของประเทศ อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนพรรครีพับลิกันและโดนัลด์ ทรัมป์ จนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 (ที่แก้ไขเพิ่มเติม) ยังให้สิทธิพลเมืองสหรัฐฯ ในการครอบครองและพกพาอาวุธปืนได้ โดยมีจุดประสงค์ให้พลเมืองมีสิทธิ์ในการปกป้องคุ้มครองตนเอง และใช้อาวุธนี้ปกป้องประเทศจากการรุกรานของต่างชาติ ประกอบกับความเชื่อที่ว่า ‘ทาสไม่มีสิทธิ์ครอบครองปืน (เจ้าอาณานิคมอังกฤษไม่อนุญาตให้ชาวอเมริกันถืออาวุธ) คนที่มีอิสรภาพเท่านั้นจึงจะสามารถครอบครองปืนได้’ นี่จึงตอบคำถามว่าทำไมสิทธิเสรีภาพของคนอเมริกันจึงถูกผูกติดไว้กับปืน และฝังรากลึกอยู่ในสังคมอเมริกันนับแต่อดีต
“ปัญหาปืนในสังคมอเมริกันอาจจะแตกต่างจากสังคมอื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในรัฐธรรมนูญเดิมให้สิทธิพลเมืองพกพาปืนได้ (Right to bear arms) ช่วงที่สหรัฐฯ มีคาวบอยพกปืน นั่นคือตัวแบบที่เราเห็น แต่พอเป็นในโลกสมัยใหม่ โจทย์ดังกล่าวต่างออกไปเยอะพอสมควร
“ถ้าเราสังเกต การฆ่าหรือกราดยิงในโรงเรียนหรือตามที่ต่างๆ อาวุธที่ใช้ไม่ใช่อาวุธปืนปกติทั่วไป ถ้าพูดกันจริงๆ ตามศัพท์บ้านเรานั่นคือ ‘อาวุธสงคราม’ โดยตรง ถ้าพูดในภาษาทางเทคนิคก็จะเป็นปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ (AR-15 Rifle) ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าปืน M-16 ทั่วไป ในหลายรัฐ โดยเฉพาะรัฐทางเหนือ ไม่อนุญาตให้ซื้อขายปืนชนิดนี้ เนื่องจากในชีวิตประจำวันไม่มีความจำเป็นต้องใช้ปืนลักษณะนี้
“ปัญหาที่ยังเกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าสมาคมปืนไรเฟิลฯ แข็งแกร่งมาก พลเมืองสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งก็ยังคงเชื่อมั่นในสิทธิการครอบครองและพกพาอาวุธปืน การควบคุมปัญหาที่เราเห็นจึงกลับไม่ง่ายอย่างที่พวกเราคิด ผมเชื่อว่าถ้าเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศอื่น กฎหมายนี้อาจจะถูกแก้ไขปรับปรุงไปแล้ว”
ความจำเป็นในการพกปืนของพลเมืองสหรัฐฯ มีมากน้อยแค่ไหน
ศ.ดร.สุรชาติชี้ให้เราเห็นว่า ในแต่ละมลรัฐ กฎหมายควบคุมปืนมีความเข้มข้นแตกต่างกัน อีกทั้งปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้พลเมืองสหรัฐฯ รู้สึกว่าตนเองมีความจำเป็นที่จะต้องพกพาอาวุธปืน
“ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่กว้างใหญ่ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะทางใต้ที่ตำรวจใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน 20-30 นาทีกว่าจะถึงพื้นที่ พลเมืองแถบนั้นจึงรู้สึกว่าการครอบครองปืนเป็นสิ่งชอบธรรมและเป็นสิ่งพวกเขาต้องมี แม้ว่าวันนี้เรากำลังถกเถียงกันในประเด็นนี้ แต่ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องให้มีสิทธิ์นำอาวุธปืนเข้าไปในเขตโรงเรียนได้ในบางพื้นที่ เนื่องจากโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ทั้งๆ ที่เราก็เห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในโรงเรียนมากขนาดไหน”
ยิ่งกว่านั้น บริเวณพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกับภูมิภาคลาตินอเมริกายังอาจผูกโยงอยู่กับความหวาดระแวงกลุ่มคนต่างด้าวที่อพยพเข้ามาภายในประเทศและได้ก่ออาชญากรรมขึ้น อาจจะยิ่งไปตอกย้ำความคิดที่ว่าพวกเขาจำเป็นที่จะต้องมีสิทธิ์ในการพกพาอาวุธปืนเพื่อความปลอดภัยของตัวเขาและครอบครัว
“นอกเหนือไปจากการป้องกันตัวจากโจรขโมย ภัยคุกคามที่มาในรูปของผู้อพยพ อาชญากรทั้งหลายทั้งปวง ผมว่าสิ่งนี้กำลังบอกเราว่าคนอเมริกันในช่วงหลังมีลักษณะคล้ายกับคนในยุโรปที่หวาดกลัว ‘ปัญหาการก่อการร้าย’ แต่ยุโรปไม่ได้ตอบว่า ‘ถ้าอย่างนั้นฉันจะไปซื้อปืน’ แต่ในสหรัฐฯ ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงในเงื่อนไขทางสังคมต่างๆ มันไปตอบโจทย์เรื่องการซื้อปืน นอกจากนี้คนบางกลุ่มในสังคมอเมริกายังมีความเชื่อแปลกๆ ที่ว่าอีกไม่นานโลกคงแตก ก็จะมีการเตรียมความพร้อมเพื่อการอยู่รอด หนึ่งในนั้นคือการซ้อมยิงปืน เตรียมอาวุธปืน เพราะเขาเชื่อว่าเมื่อถึงจุดนั้นจะเกิดการแย่งอาหาร แย่งที่อยู่อาศัย สิทธิ์ในการครอบครองปืนจึงยิ่งผูกโยงและฝังรากลึกอยู่กับความคิดความเชื่อของคนเหล่านี้”
การครอบครองปืนของพลเมืองอเมริกันกับสิ่งที่สังคมไทยต้องตั้งคำถาม
จากข้อมูลสถิติของ Congressional Research Service 2012 และ Small Arms Survey 2007 พบว่า พลเมืองสหรัฐฯ ทั้งหมดที่ครอบครองปืนคิดเป็น 48% ของพลเรือนกว่า 650 ล้านคนที่ครอบครองปืนทั่วโลก นอกจากนี้ยังพบว่าพลเมืองสหรัฐฯ ครอบครองปืนมากที่สุดในโลก (มีพลเรือนเป็นเจ้าของอาวุธปืน 89 ใน 100 คน) ตามมาด้วยเยเมน (55 ใน 100 คน) และสวิตเซอร์แลนด์ (46 ใน 100 คน) ในขณะที่ตูนีเซียเป็นประเทศที่พลเรือนครอบครองปืนน้อยที่สุด ตามมาด้วยประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างติมอร์-เลสเต สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่ครอบครองอาวุธปืนไม่ถึง 1 ใน 100 คน
นอกจากนี้ Gun Violence Archive ยังระบุว่า สหรัฐอเมริกามีจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนนับตั้งแต่ปี 1968-2015 (1,516,863 คน) มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามที่สหรัฐฯ เข้าร่วม (1,396,733 คน) ถึง 9% และมีอัตราการเสียชีวิตของพลเมืองจากอาวุธปืนสูงถึง 29.7% เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตของผู้คนจากอาวุธปืนทั่วโลก โดยมากกว่าแคนาดาถึง 6 เท่า (5.1%) และมากกว่าเยอรมนี หนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันถึง 16 เท่า (1.9%) ตามการรายงานของ UNODC (2012)
ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า “ผู้ที่ลงมือก่อเหตุในลักษณะนี้มักจะมีปัญหาในเงื่อนไขที่พวกเขาจะต้องเผชิญเป็นแรงกดดันทางสังคมหลายอย่าง ถ้าเราไม่พูดเรื่องการมีปัญหาทางจิต กลุ่มคนเหล่านี้มักจะหาทางออกด้วยการใช้อาวุธปืนเป็นเครื่องมือ ถ้าไม่ใช้ความรุนแรงกับตัวเองก็เลือกที่จะทำร้ายผู้อื่น ในสังคมที่มีการเติบโตในสภาวะอย่างที่เราเห็น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจเจกบุคคลเวลาเผชิญปัญหา ทางเลือกส่วนใหญ่มักกลายเป็นโศกนาฏกรรม
“วันนี้คงต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์กราดยิงหมู่ในโรงเรียนเป็นความรุนแรงชุดหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษในสังคมอเมริกัน สิ่งที่ต้องตระหนักคือปัญหาชุดนี้กลายเป็นโจทย์ทางการเมืองและเป็นปัญหาระดับชาติที่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข แม้เราจะเห็นความพยายามมาโดยตลอด สิ่งที่น่าสนใจคือกรณีอย่างนี้เป็นบทเรียนสำหรับสังคมไทยได้หรือไม่ นี่คือสิ่งที่คนไทยต้องคิดต่อ”
ศ.ดร.สุรชาติยกตัวอย่างทิ้งท้ายให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า “ในสังคมญี่ปุ่น ตำรวจของที่นั่นยังไม่มีสิทธิ์เลือกซื้อปืนเอง รัฐต้องเป็นคนจัดหาให้ เรียกได้ว่ากฎหมายซื้อขายและครอบครองปืนมีความเข้มข้นมาก ในขณะที่สังคมไทย ถ้าจะมองเรื่องการควบคุมอาวุธอาจจะต้องคิดกันทั้งระบบ ข้อดีของเราอย่างหนึ่งคือการซื้อขายอาวุธไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติที่ถูกตีความว่าเป็นอาวุธสงคราม ไม่สามารถซื้อขายในบ้านเราได้ในระดับปกติ
“แม้ในสังคมไทยที่อาจจะดูเหมือนว่าเราไม่มีปัญหา เราไม่ได้มีบริบทอย่างที่เห็นในสังคมอเมริกันคือเด็กฆ่ากัน ยิงกันในโรงเรียน แต่เราก็มีกรณีที่เด็กตีกันและมีอาวุธปืนเหมือนกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายเอง หรือแม้แต่กรณีของนายเปรมชัยที่ถูกตรวจค้นและพบอาวุธปืนเกือบ 50 กระบอก เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ชวนให้เราคิดต่อไปว่าพวกเขาครอบครองปืนมากเกินความจำเป็นหรือไม่ กฎหมายปืนบ้านเรามีประสิทธิภาพและบังคับใช้กับคนทุกกลุ่มในสังคมได้จริงๆ หรือไม่”
บทเรียนครั้งนี้อาจจะไม่ใช่โศกนาฏกรรมครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นจากอาวุธปืนในสังคมสหรัฐฯ การเดินหน้าปรับแก้กฎหมายครอบครองปืนดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะอาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์และแรงสนับสนุนสำคัญของสมาคมไรเฟิลฯ และฐานคะแนนเสียงที่มีต่อตัวผู้นำสหรัฐฯ
ซึ่งยังไม่นับรวมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่รัสเซียเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้เก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องสั่นคลอนในที่สุด สังคมสหรัฐฯ จะหาทางออกให้กับปัญหานี้อย่างไรในวันที่ ‘อาวุธปืน’ จุดเริ่มต้นของสิทธิเสรีภาพกลายเป็นดาบสองคมที่หยิบยื่นความตายให้กับพลเมืองผู้บริสุทธิ์ของตนครั้งแล้วครั้งเล่า
Photo: AFP
อ้างอิง:
- edition.cnn.com/2017/10/03/americas/us-gun-statistics/index.html
- www.politifact.com/punditfact/statements/2015/aug/27/nicholas-kristof/more-americans-killed-guns-1968-all-wars-says-colu
- www.vox.com/policy-and-politics/2017/10/2/16399418/us-gun-violence-statistics-maps-charts
- www.vox.com/policy-and-politics/2018/2/14/17013596/parkland-florida-high-school-shooting