×

จาก แดน แอชเวิร์ธ ถึง ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ทำไมตำแหน่ง Football Director ถึงกลายเป็นคนสำคัญไม่แพ้ผู้จัดการทีม?

24.06.2022
  • LOADING...
ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • เวลานี้สำหรับสโมสรฟุตบอลแล้ว สิ่งที่อาจยากกว่าการจะหายอดนักเตะสักคนหรือยอดผู้จัดการทีมดีๆ ก็คือ การหาผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอล (Football Director หรือจะเป็น Director of Football แล้วแต่จะเรียก) ดีๆ สักคน
  • ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ทำให้ลิเวอร์พูลกลายเป็นทีมที่ทำผลงานนอกสนามได้อย่างโดดเด่นไม่แพ้ในสนาม สามารถซื้อผู้เล่นที่ตอบโจทย์ ตรงเป้า และถึงคราวต้องเป็นฝ่ายขาย ก็สามารถขายในเงื่อนไขที่ดีได้อย่างเหลือเชื่อ
  • แอชเวิร์ธก็เป็นอีกคนที่โดดเด่น แม้ว่าจะอยู่กับสโมสรเล็กๆ อย่างไบรท์ตัน แต่สามารถช่วยวางระบบ ทำให้ทีมนกนางนวลนอกจากจะอยู่รอดปลอดภัยในพรีเมียร์ลีกได้แล้ว ยังเป็นทีมฟุตบอลที่ดีทั้งในเรื่องของระบบ สไตล์การเล่น ไปจนถึงการปรับทัพเสริมทีม
  • ในอดีตที่มักจะให้อดีตนักฟุตบอลขึ้นมานั่งตำแหน่งนี้ เพียงเพราะเดิมไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าศิลปะในการเจรจาและคอนเน็กชันในวงการ แต่ผู้อำนวยการในสโมสรฟุตบอลปัจจุบันต้องการมากกว่านั้น

ถึงจะไม่เคยมีนักฟุตบอลที่ย้ายข้ามฟากระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล อีกเลยนับตั้งแต่การย้ายทีมของ ฟิล คริสนัลล์ เมื่อปี 1964 แต่ข่าวการทาบทาม ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ อดีตผู้อำนวยการสโมสรแห่งแอนฟิลด์ ให้เข้ามารับหน้าที่วางโครงสร้างในโอลด์แทรฟฟอร์ดนั้น สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่น่าสนใจที่อยู่ในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตาม

 

สิ่งนั้นคือเวลานี้สำหรับสโมสรฟุตบอลแล้ว สิ่งที่อาจยากกว่าการจะหายอดนักเตะสักคนหรือยอดผู้จัดการทีมดีๆ ก็คือ การหาผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอล (Football Director หรือจะเป็น Director of Football แล้วแต่จะเรียก) ดีๆ สักคน

 

และคนที่มีผลงานโดดเด่นในตำแหน่งนี้ กำลังเป็นที่ต้องการตัวของสโมสรฟุตบอลอย่างมากในเวลานี้ ระดับที่ต้องมีการ Head Hunt กันเลยทีเดียว

 

ยกตัวอย่างในวงการฟุตบอลอังกฤษ สองคนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ตัวท็อป’ ในสายนี้นอกจากเอ็ดเวิร์ดส์แล้ว อีกคนคือ แดน แอชเวิร์ธ ที่เพิ่งถูกนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด กระชากตัวไปจากไบรท์ตัน เพื่อสร้างทีมจากไทน์ไซด์ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

 

สำหรับในรายของ ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ เป็นผู้อำนวยการสโมสรที่สามารถพูดได้ว่าอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของยุคสมัยอันยิ่งใหญ่ของลิเวอร์พูลในเวลานี้ ที่แม้จะขอหลบมุมทำงานอยู่เงียบๆ (เงียบชนิดที่การจะหาภาพข่าวของเขาสวยๆ สักภาพเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่ง!) แต่ผลงานของเขาที่โดดเด่นนั้นทำให้ทุกคนได้เห็นแสงสว่างที่เปล่งประกายออกมาอยู่ดี

 

โดยประวัติแล้ว เอ็ดเวิร์ดส์ได้รับการทาบทามจาก แดเนียล โคมอลลี อดีตประธานบริหารของสโมสร ดึงตัวมาจากท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ในปี 2011 โดยเริ่มจากบทบาทในการเป็นหัวหน้าแผนกทีมวิเคราะห์ ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วแม้จะไม่ใช่ของใหม่มากสำหรับวงการฟุตบอล แต่ก็ไม่ใช่ผู้จัดการทีมทุกคนจะรู้และเข้าใจในเรื่องนี้

 

แต่เอ็ดเวิร์ดส์ใช้ความพยายามทำผลงาน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า Data หรือข้อมูลนั้น สามารถนำความสำเร็จมาสู่สโมสรได้ ซึ่งแม้จะใช้ระยะเวลาหลายปีก็ตาม แต่ความพยายามนั้นเริ่มผลิดอกออกผล โดยเห็นได้จากแนวทางในการซื้อผู้เล่นเข้ามาเสริมทัพของสโมสรโดยใช้ข้อมูลเป็นตัววิเคราะห์ของเขานั้นได้ผล

 

ความสุดยอดของเขาคือ การใช้ข้อมูล ‘ทำนาย’ ได้ว่า นี่คือ ‘คนที่เหมาะสมกับลิเวอร์พูล’

 

ข้อมูลนั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้เฉพาะกับนักฟุตบอล แต่ยังรวมถึงการวิเคราะห์หาผู้จัดการทีมที่เหมาะสมกับแนวทางของสโมสร โดยมี Vision เป็นตัวกำหนดว่าลิเวอร์พูลอยากจะเป็นทีมที่เล่นฟุตบอลเกมรุกเป็นหลัก เน้นการซื้อผู้เล่นที่มีศักยภาพ (Potential) เข้ามาและขัดเกลา มากกว่าจะซื้อนักฟุตบอลในระดับเกรด A เข้ามาเลย

 

นั่นทำให้ลิเวอร์พูลกลายเป็นทีมที่ทำผลงานนอกสนามได้อย่างโดดเด่นไม่แพ้ในสนาม สามารถซื้อผู้เล่นที่ตอบโจทย์ ตรงเป้า และถึงคราวต้องเป็นฝ่ายขาย ก็สามารถขายในเงื่อนไขที่ดีได้อย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะในดีลระดับตำนานอย่าง ฟิลิปเป คูตินโญ ที่ขายให้กับบาร์เซโลนาได้เงินถึง 145 ล้านปอนด์ พร้อมเงื่อนไขสำคัญคือ การห้ามมาซื้อนักเตะลิเวอร์พูลอีกอย่างน้อย 2 ปีหลังจากนั้น

 

แนวทางการบริหารที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้เอ็ดเวิร์ดส์ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘Transfer Guru’ ของวงการฟุตบอลอังกฤษ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของลิเวอร์พูลในยุคนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจอำลาทีมในช่วงสิ้นสุดฤดูกาลที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า อิ่มตัวและต้องการจะพักจากงานในวงการฟุตบอลสักระยะ

 

นั่นทำให้มีข่าวว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ติดต่อทาบทาม โดยไม่ถือแล้วว่านี่คือขุนพลระดับแม่ทัพของลิเวอร์พูล แต่ล่าสุดทีมที่ติดต่ออย่างจริงจังคือเชลซี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสรรวมถึงโครงสร้างภายใน ที่ทำให้ มารินา กรานอฟสกายา หญิงเหล็กแห่งสแตมฟอร์ดบริดจ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไดเร็กเตอร์ที่โดดเด่นในระดับเคยได้รับรางวัลมาแล้ว ต้องอำลาทีม

 

ตามรายงานข่าวบอกว่า ทอดด์ โบห์ลี ต้องการตัวเอ็ดเวิร์ดส์อย่างมาก และพร้อมทำทุกอย่างเพื่อคว้าตัวขงเบ้งด้านการสร้างทีมมาร่วมทีมให้ได้

 

ขณะที่แอชเวิร์ธก็เป็นอีกคนที่โดดเด่น แม้ว่าจะอยู่กับสโมสรเล็กๆ อย่างไบรท์ตัน แต่สามารถช่วยวางระบบ ทำให้ทีมนกนางนวลนอกจากจะอยู่รอดปลอดภัยในพรีเมียร์ลีกได้แล้ว ยังเป็นทีมฟุตบอลที่ดีทั้งในเรื่องของระบบ สไตล์การเล่น ไปจนถึงการปรับทัพเสริมทีม

 

ผู้บริหารวัย 51 ปีคนนี้สามารถ ‘จิ้ม’​ นักเตะที่เหมาะสมกับระบบการเล่นของผู้จัดการทีม แกรม พอร์เตอร์ ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยไม่ต้องใช้การลงทุนมากมายมหาศาล เรียกได้ว่าเล่นดีเกินค่าตัวกันแทบทุกคน (และหลายคนก็ได้มาฟรี เช่น แดนนี เวลเบ็ก, อดัม ลัลลานา)

 

ด้วยเหตุนี้ทำให้นิวคาสเซิล ซึ่งกลายเป็นสมบัติของซาอุดีอาระเบีย ต้องการได้ตัวเขามานั่งแท่นผู้อำนวยการสโมสร เพื่อวางโครงสร้างระบบทีม กำหนดแนวทางให้แม็กพายส์กลายเป็นทีมฟุตบอลที่ดี ยอดเยี่ยม และเป็นที่ยอมรับของวงการฟุตบอล ซึ่งหลังจากที่แอชเวิร์ธ ยื่นใบลาออกเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาท่ามกลางกระแสข่าวลือมากมาย เขาก็ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสโมสรในถิ่นเซนต์เจมส์ปาร์กได้สำเร็จ

 

นอกเหนือจากสองคนนี้แล้ว ตัวของการที่ผู้อำนวยการสโมสรกลายเป็น ‘คีย์แมน’ ที่เปลี่ยนแปลงทิศทางของทีมได้ยังมีอีก เช่น อาร์เซนอลกลับมาเริ่มอยู่ในร่องในรอยได้อีกครั้ง หลังจากที่ได้ เอดู อดีตมิดฟิลด์ มารับตำแหน่งนี้ การปรับทัพเสริมทีมจึงเริ่มเข้าตา นักเตะยุคใหม่หลายคนเป็นนักเตะที่ดี ใช้การได้ เช่น มาร์ติน โอเดการ์ด, กาเบรียล มากัลเญส, เบน ไวท์, อารอน แรมส์เดล หรือ ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ และล่าสุดกับ ฟาบิโอ วิเอรา

 

สเปอร์สเป็นอีกทีมที่หลุดสภาพทีมที่มั่วซั่วหลังได้ ฟาบิโอ ปาตาริซี อดีตผู้อำนวยการสโมสรยูเวนตุส มานั่งแท่นผู้บริหาร ซึ่งในเวลาต่อมาทำงานร่วมกับ อันโตนิโอ คอนเต ได้อย่างลงตัว และเปลี่ยนแปลงชะตาของทีมได้ด้วยการคว้าตัวนักเตะที่คอนเตต้องการอย่าง โรดริโก เบนตานกูร์ ที่เข้ามาเสริมแดนกลางให้มีความกลมกล่อม และ เดยัน คูลูเซฟสกี ปีกขวาทีมชาติสวีเดน ที่ปลดล็อกให้ แฮร์รี เคน และ ซนฮึงมิน ได้อย่างยอดเยี่ยม

 

จะเห็นได้ว่าเวลานี้ตำแหน่งผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอล ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีหน้าที่ในเรื่องของการช่วยเจรจาซื้อ-ขายผู้เล่นไปจนถึงการต่อสัญญานักเตะ ต้องการคนที่มีความรู้และความสามารถจริงๆ แตกต่างจากในอดีตที่มักจะให้อดีตนักฟุตบอลขึ้นมานั่งตำแหน่งนี้ เพียงเพราะเดิมไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าศิลปะในการเจรจาและคอนเน็กชันในวงการ

 

ผู้อำนวยการในสโมสรฟุตบอลปัจจุบันก็ยังต้องการศิลปะในการเจรจาและคอนเน็กชันในวงการ แต่ที่ต้องการเพิ่มขึ้นคือ วิสัยทัศน์ที่สามารถมองออกว่าอยากให้ทีมเป็นแบบไหน และเลือกคนที่เหมาะสมมาตั้งแต่ผู้จัดการทีมจนถึงนักฟุตบอล เพื่อให้ทีมเล่นได้แบบนั้น อีกทั้งหากมีความรู้ในเรื่องของ Data ที่จะสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาประมวลและช่วยหาคำตอบได้ตรงมากขึ้น

 

หากสโมสรไหนที่มีผู้อำนวยการสโมสรที่ดี โอกาสจะประสบความสำเร็จ (โดยไม่ต้องผลาญเงินมั่วซั่ว) ก็มีมากตามไปด้วย

 

และนี่คือเหตุผลที่ Football Director เก่งๆ กลายเป็นบุคลากรที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดลูกหนังเวลานี้ครับ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising