คุณเป็นคนหนึ่งที่สาบานตนว่าเป็นมนุษย์ติดทะเลเพราะใจรักในการเที่ยวทะเล จนติดแฮชแท็ก #VitaminSea บนอินสตาแกรมอยู่เรื่อยไปหรือเปล่า เรารู้ว่าแม้คุณจะเลิกเก็บเปลือกหอยและสัตว์ทะเลกลับบ้านเพราะแม่เคยสอนไว้ และข่าวเรื่องวาฬกินขยะช่างสะเทือนใจจนคุณโวอยากลุกขึ้นมาปกป้องสัตว์ทะเล แต่ถึงอย่างนั้นมาเช็กกันสักนิดว่าใจ ‘รัก’ ทะเลของคุณนั้นช่วย ‘รักษ์’ ด้วยไหม
และนี่คือสิ่งที่ กรณิศ ตันอังสนากุล นักวิจัยด้านธุรกิจยั่งยืน และผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม อยากบอกกับเหล่านักท่องทะเล #โอ้ทะเลแสนงาม
“อย่าลืมว่าภาวะโลกร้อนที่เป็นผลมาจากกิจกรรมที่ไม่ยั่งยืนของมนุษย์นั้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทะเล และปะการังฟอกขาวก็เป็นหลักฐานสำคัญที่น่าใจหายที่สุด โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ปะการังในโลกทั้งหมดจะสูญสิ้นภายใน 30 ปีข้างหน้า” – กรณิศ ตันอังสนากุล
#ทำแล้วดี
หลีกเลี่ยงการสร้างขยะกันเถอะ
- เกาะและพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีอุปกรณ์ในการจัดการขยะอย่างเหมาะสมนั้น ส่วนใหญ่จบลงด้วยการฝังกลบในพื้นที่นั้นๆ ยิ่งนักท่องเที่ยวมากเท่าไร ขยะก็ยิ่งเยอะกลายเป็นปัญหาวิกฤต (เช่น เกาะสมุยที่กำลังเผชิญอยู่)
- ขยะที่เกิดจากกิจกรรมบริเวณชายฝั่งที่เราเห็นๆ กันนั้นมีโอกาสปนเปื้อนลงสู่ทะเลสูง จนกลายเป็นปัญหาขยะทะเลเช่นในปัจจุบัน
- สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือช่วยกันลดการสร้างขยะให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะขยะพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง (single-use) เช่น หลอดดูดน้ำ ถุงพลาสติก เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และพยายามหาวิธีในการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง
ลดการใช้พลังงานกันบ้าง
- เกาะที่อยู่ห่างไกลมักจะผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งการผลิตไฟฟ้านั้นสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยๆ ได้แก่ ผลกระทบในขั้นตอนขุดเจาะเชื้อเพลิง มลภาวะในขั้นตอนการขนส่งเชื้อเพลิง และมลภาวะเมื่อเครื่องจักรทำงาน
ประหยัดน้ำ
- เพราะการอยู่ใกล้ทะเลไม่ได้แปลว่ามีทรัพยากรน้ำที่ใช้เท่าไรก็ได้ เนื่องจากน้ำที่เรานำมาใช้นั้นเป็นน้ำจืด ในหลายพื้นที่ถึงกับมีข้อพิพาทเรื่องการแย่งใช้น้ำระหว่างภาคธุรกิจกับชุมชน การประหยัดน้ำจึงหมายถึงเมื่อความต้องการน้ำของภาคธุรกิจลดลง ก็เท่ากับว่าสามารถช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดข้อพิพาทกับชุมชนนั้นๆ ได้
- บางที่สามารถผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้ แต่หมายถึงการใช้พลังงานในขั้นตอนการผลิตนั่นเอง
ครีมกันแดดก็สำคัญ
ก่อนจะแชะภาพ #beachplease เก๋ๆ กับผิวกรำแดด แท็กแบรนด์ครีมกันแดดลงโซเชียลมีเดีย ลองหันมาเช็กกันสักนิดว่าครีมกันแดดที่คุณใช้เป็นมิตรต่อปะการังหรือไม่ โดยทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงครีมกันแดดที่มีสาร Oxybenzone, Octinoxate, 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben เพราะมีส่วนทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรมลง โดยการฆ่าปะการังวัยอ่อน ทั้งยังทำลาย DNA จนปะการังไม่ขยายพันธุ์ และยังทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวอีกด้วย
สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวชุมชน
- นักท่องเที่ยวควรเลือกผู้ประกอบการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยสามารถดูได้จากนโยบายของบริษัท รวมถึงมาตรการในการจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ เป็นต้น
- ควรหันมาสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
#อย่าทำอย่าทำ
ทิ้งขยะลงทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม
ปัจจุบันมีความเข้าใจผิดอยู่มากว่าทิ้งขยะลงถังก็เพียงพอ และขยะทะเลเกิดจากกิจกรรมทางน้ำและชายฝั่งเท่านั้น แต่ความเป็นจริงคือมีขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกหลุดรอดลงสู่ทะเลมากถึง 8 ล้านตันต่อปี! โดย 80% นั้นเกิดจากกิจกรรมบนบก สิ่งนี้นอกจากเป็นอันตรายต่อสัตว์หลายชนิด เช่น เต่าทะเล นกทะเล ฉลามวาฬ ฯลฯ ที่ได้รับอันตรายจากพลาสติกที่ติดพันร่างกาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการหาอาหารหรือการเคลื่อนที่ การกลืนกินโดยหลงเข้าใจว่าพลาสติกคืออาหารนอกจากจะเป็นอันตรายถึงชีวิตแล้ว ยังทำให้พลาสติกปนเปื้อนสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ในที่สุด (คุณอยากรับพลาสติกกินเคียงกับปลาแซลมอนไหมล่ะ)
การบริโภคสัตว์น้ำที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
สัตว์ทะเลอย่างฉลาม กระเบน เมื่อมีชีวิตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าราคาบนจานอาหารเสียอีก (เคยรู้ไหมว่าเจ้าแห่งท้องทะเลอย่างฉลาม ถูกฆ่าราวปีละ 100-200 ล้านตัว ทำให้ประชากรลดลงถึง 95% ในทศวรรษที่ผ่านมา) และนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักดำน้ำยอมจ่ายราคาแพงเพื่อไปดูพวกมันแหวกว่ายในท้องทะเลเสียมากกว่าจะมาเป็นอาหารบนจาน สิ่งนี้นับเป็นส่วนสำคัญที่เกื้อหนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางทะเลให้คงอยู่ต่อไป นอกจากมูลค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจแล้ว สัตว์ผู้ล่าสูงสุดบนห่วงโซ่อาหารอย่างฉลามยังมีส่วนสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย
หลีกเลี่ยงการสัมผัสปะการัง
ธรรมชาติเป็นสิ่งสวยงาม แต่อย่าทำร้ายด้วยการสัมผัสกันเลย เพราะทุกวันนี้สถานภาพของปะการังบอบช้ำมากพออยู่แล้ว และตีนกบของนักดำน้ำยังสามารถทำให้กิ่งปะการังเสียหายแตกออกได้มากกว่าร้อยชิ้น ในกรณีที่ดำน้ำชมปะการัง ทางที่ดีควรอยู่ห่าง #ดูแต่ตามืออย่าต้อง และระวังเหยียบ และห้ามยืนบนแนวปะการังเพราะทำให้เกิดความเสียหายได้
อย่าคุกคามปลาเพื่อการเซลฟี
การว่ายติดตามเพื่อชื่นชมฉลามวาฬอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งที่เราเห็นจนชินตาขึ้นทุกวัน แม้คุณจะตื่นเต้นเพียงใดกับการได้เห็นวาฬหรือเจ้ากระเบนราหูตัวเป็นๆ ที่โฉบผ่านหน้า แต่หารู้ไม่ว่าการว่ายตามหรือถ่ายภาพอย่างใกล้ชิดก็ดีถือเป็นการคุกคามทำให้ปลาเกิดอาการเครียดได้ เนื่องจากเมื่อคิดว่าถูกไล่ล่า สัตว์ทะเลอาจว่ายหนีออกจากแหล่งอาหารหรือเส้นทางปกติจนเกิดอันตรายได้ หนำซ้ำการสัมผัสจะทำให้เชื้อโรคจากตัวมนุษย์ติดสู่ฉลามวาฬ ทำให้ติดเชื้อหรือป่วยในเวลาต่อมาอีกด้วย ทางที่ดีที่สุดคือการชื่นชมอยู่ห่างๆ เพื่อชมความสวยงามของธรรมชาติเป็นดีที่สุด
กิจกรรมอนุรักษ์แบบผิดๆ
หารู้ไม่ว่ากิจกรรมอนุรักษ์แบบผิดๆ อย่างการปล่อยปลาการ์ตูน (ที่ฮอตฮิตกันมากช่วงหนึ่งสมัย Finding Nemo) ถือเป็นการบูชาโทษอย่างที่คนรักทะเลอาจคาดไม่ถึง เหตุเพราะปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในดอกไม้ทะเล และจะ ‘ไม่รอดชีวิต’ หากปล่อยในบริเวณที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นควรทราบว่าการปล่อยปลาต่างถิ่นบางชนิดจึงอาจเป็นภัยคุกคามต่อสายพันธุ์ท้องถิ่นได้ และการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์โดยขาดความรู้ความเข้าใจจึงอาจจะเกิดโทษมากกว่าคุณเสียอีก
นักวิจัยยังฝากท้ายอีกว่า อย่าลืมว่าภาวะโลกร้อนที่เป็นผลมาจากกิจกรรมที่ไม่ยั่งยืนของมนุษย์นั้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทะเลสีครามที่เรารัก และปะการังฟอกขาวก็เป็นหลักฐานสำคัญที่น่าใจหายที่สุด โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ปะการังในโลกทั้งหมดจะสูญสิ้นภายใน 30 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าประชากรราว 1 พันล้านคนที่พึ่งพาอาศัยแนวปะการังในการดำรงชีวิตจะต้องได้รับผลกระทบ ขณะที่ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจยังไม่อาจคาดเดาได้
ไปเที่ยวทะเลคราวหน้า ลองคิดสักนิดว่าเรา ‘รักษ์’ ทะเลดังที่คิดแค่ไหน
และถ้าทะเลอยู่ไม่ได้ มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้
อ่านเรื่องสั่งปิดอ่าวมาหยา 4 เดือน ตั้งแต่ มิ.ย.-ก.ย. พบธรรมชาติถูกทำลายหนัก จำกัดเที่ยววันละ 2 พันคนได้ที่นี่
อ่านเรื่อง รับหลอดไหมคะ? ได้ที่นี่
- มีการประมาณกันว่าในแต่ละปี ครีมกันแดดราว 25-60 ล้านขวด กลายเป็นสารปนเปื้อนในท้องทะเลด้วยความไม่ตั้งใจ เวลาเพียง 20 นาทีที่คนแช่อยู่ในน้ำ ส่งผลให้สารเคมีราว 25% ในครีมกันแดดถูกชะล้างออกไปกลายเป็น ‘Swimmer Pollution’
- ReReef เป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ชื่อมาจากปะการัง ระบบนิเวศที่หลากหลายและสำคัญที่สุดในท้องทะเลซึ่งถูกคุกคามมากที่สุดในขณะนี้ ทั้งจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในมหาสมุทร การพัฒนาชายฝั่ง และสภาวะโลกร้อน โดยหวังมุ่งสร้างสังคมออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและรวมพลังผู้บริโภคเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง