×

จากเทปสู่สตรีมมิง คุณเกิดทันวิธีการฟังเพลงยุคไหนกันบ้าง

06.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ในยุค 80s มีการบันทึกว่า เทปคาสเซตต์ขายดีกว่าแผ่นเสียง จนเทปกลายเป็นวัฒนธรรมการฟังเพลงที่ป๊อปสุดๆ
  • ยอดขายของ CD เคยขึ้นสูงสุดในสหรัฐอเมริกาที่ 943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากปี 2000 ยอดขายของ CD ก็ตกฮวบลงมาเรื่อยๆ
  • ปลายปี 2001 บริษัท Apple ก็ปล่อย iPod ตัวแรก ขณะที่ CD มี Recordable CDs ซึ่งสามารถใส่ไฟล์เพลงแล้วไรต์แผ่นมาฟังเองได้ ทำให้ทั้งยอดขายของ MD และเทปคาสเซตต์หล่นไปถึง 70%

 

 

ช่องทางการฟังเพลงของเราทุกวันนี้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เปรียบเทียบง่ายๆ แค่ลองนึกถึงการฟังเพลงของคุณในวัยเด็ก กับการฟังเพลงของคุณในวันนี้ดูสิ จากเมื่อก่อนที่เราต้องโทร.ไปขอเพลงตามคลื่นวิทยุ แล้วอัดลงตลับเทปเพื่อเอามาฟังทีหลัง หรือเฝ้าคอยอัลบั้มใหม่วางแผง เพื่อซื้อเทปกลับไปฟังซ้ำไปซ้ำมาจนจำอินโทรได้ทุกแทร็ก แต่เดี๋ยวนี้แค่คลิกเดียวก็มีเพลงให้เลือกฟังมหาศาลผ่านการสตรีมมิง

 

เพียงไม่กี่สิบปีผ่านไป วงการดนตรีเปลี่ยนโฉมหน้าและวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว เรามาลองย้อนดูกันดีกว่า ว่าที่ผ่านมาช่องทางการฟังเพลงของเราเปลี่ยนไปอย่างไร และคุณทันการฟังเพลงยุคไหนกันบ้าง

 

ภาพ: www.45spaces.com

 

Cassette Tape

ถ้าให้ย้อนไปถึงยุคเครื่องเล่นแผ่นเสียงโฟโนกราฟอาจจะนานเกินไป (แต่รู้หรือไม่ว่าโฟโนกราฟที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในปี 1877 ไม่ได้เอาไว้ฟังเพลง แต่เอาไว้บันทึกข้อความเสียงส่งหากันก่อนมีโทรศัพท์!) หลังจากนั้นก็เป็นตลับเทป หรือเทปคาสเซตต์ (Compact Cassette) นี่แหละที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเทปคาสเซตต์ก็มีทั้งเทปเปล่าเพื่อให้ผู้ใช้นำไปอัดเสียงลงเองได้ที่บ้าน และเทปที่มีการบันทึกเสียงลงไปแล้ว

 

สำหรับใครที่ไม่รู้จักเทป หรือนึกไม่ออกว่าเทปทำงานอย่างไร เทปคาสเซตต์จะประกอบด้วย แกนวงกลมสองแกน ซึ่งเก็บแถบเทปสีดำเอาไว้ เมื่อเราใส่ตลับเทปเข้าไปในเครื่องเล่น แผ่นเทปสีดำก็จะย้ายจากแกนฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ในเทปหนึ่งตลับจะสามารถฟังได้สองด้าน (ที่มักถูกเรียกว่า side A และ side B) ซึ่งรวมๆ แล้วก็เล่นเพลงได้ยาวตั้งแต่ 30 นาที ไปจนถึง 120 นาที

 

เทปคาสเซตต์คิดค้นขึ้นครั้งแรกในปี 1962 โดยบริษัทดัตช์ Phillips และนำออกสู่ตลาดยุโรปที่งาน Berlin Radio Show ปี 1963 เพื่อสร้างช่องทางการอัดเพลง และย้อนฟังเพลงได้ในขนาดพกพา Phillips จึงถือครองสิทธิ์ในการสร้างเทปคาสเซตต์เจ้าแรก และเริ่มผลิตโมเดลเครื่องอัดและเล่นเทปครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า EL 3300 ในปี 1965 (บ้างก็บอกว่าในปี 1963 พร้อมกับเทปคาสเซตต์ในงาน Berlin Radio Show)

 

เทปคาสเซตต์เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนในช่วงกลางปี 70s ตลับเทปก็ถูกขายในแบบที่มาพร้อมเพลงที่อัดลงไปแล้ว กระทั่งในช่วงปี 80s ที่มีการบันทึกว่าเทปคาสเซตต์ขายดีกว่าแผ่นเสียง จนเทปกลายเป็นวัฒนธรรมการฟังเพลงที่ป๊อปสุดๆ ไปโดยปริยาย

 

Did You Know: เดี๋ยวนี้เทรนด์ของเทปคาสเซตต์กลับมาอีกครั้ง โดยในปี 2017 ที่ผ่านมา ก็เป็นปีที่ยอดขายเทปสูงขึ้นจากปี 2016 ถึง 35% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012

 

ภาพ: www.45worlds.com

 

CD

หลังจากเทปคาสเซตต์กลายเป็นความสำเร็จของ Phillips ไปเรียบร้อย ในปี 1974 โปรเจกต์ใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นภายในบริษัท Phillips โดยพวกเขาพยายามคิดค้นการบันทึกเสียงลงบนแผ่นที่คล้ายกับแผ่นเสียงไวนิล แต่มีขนาดเล็กกว่า มีคุณภาพเสียงดี เวลาผ่านไปในปี 1977 พวกเขาก็ริเริ่มโปรเจกต์ที่จะสร้างซีดีและเครื่องเล่นซีดีอย่างเป็นทางการ ซึ่งซีดีก็มาจากชื่อเต็มว่า Compact Disc (CD) เพื่อให้สอดคล้องกับ Compact Cassette ที่บริษัทเคยทำ โดยระหว่างนั้นบริษัทคู่แข่งอย่าง Sony ก็พยายามคิดค้นเจ้าตัวซีดีขึ้นมาเช่นเดียวกัน (ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 1976) จนในที่สุดทั้ง Phillips และ Sony ก็จับมือกันคิดค้นซีดีและเปิดตัวแผ่นซีดีเชิงพาณิชย์แผ่นแรกของโลกในปี 1982 ซึ่งกลายเป็นวิวัฒนาการทางการฟังเพลงครั้งใหญ่ และทำให้วงการดนตรีเข้าสู่ยุคโมเดิร์นอย่างสมบูรณ์ ตามมาด้วยกระแสความป๊อปอย่างการพกวอล์กแมนเครื่องกลมๆ ไว้ฟังเพลงนอกบ้าน

 

ตอนนี้เราอยู่ในยุคก้ำกึ่งตอนปลายที่จะย้ายจากการฟังเพลงในซีดีมาเป็นฟังเพลงแบบออนไลน์ในไฟล์ดิจิทัล แม้ในปี 2000 ยอดขายของซีดีจะเคยขึ้นสูงสุดในสหรัฐอเมริกาที่ 943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากปี 2000 ยอดขายของซีดีก็ตกฮวบลงมาเรื่อยๆ และเมื่อต้นปี 2018 นี้เอง ที่มีการรายงานว่า รายได้จากการสตรีมมิงมิวสิกพุ่งสูงกว่ายอดขายซีดีเป็นครั้งแรกด้วย

 

Did You Know: ซีดีเพลงพาณิชย์แผ่นแรกของโลกคือ ผลงานของ ABBA อัลบั้ม The Visitors (1981) ปล่อยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ปี 1982

 

ภาพ: imgur.com

 

MD

MD หรือ MiniDisc อีกหนึ่งช่องทางการฟังเพลงหลังจากมีการคิดค้นซีดี แต่ก็ดูจะเป็นช่องทางที่มาไวไปไวพอสมควร Sony คิดค้นเอ็มดีขึ้นมาในปี 1992 เพื่อรวมจุดเด่นจากเทปคาสเซตต์และซีดีเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งการที่เอ็มดีสามารถอัดเสียงได้ รูปร่างหน้าตาคล้ายซีดีแต่มีขนาดเล็กกว่า พกพาสะดวกกว่า แต่เอ็มดีก็ต้องอาศัยเครื่องเล่นเฉพาะ อย่าง MZ-1 MiniDisc Player/Recorder ซึ่งก็มีราคาสูงลิ่วอยู่ที่ 750 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เอ็มดีไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร Sony เองต้องอาศัยแรงมาร์เก็ตติ้ง โฆษณาความดีงามของเอ็มดี เพื่อให้ค่ายเพลงอื่นๆ หันมาสนใจ และผลิตผลงานเพลงในรูปแบบของเอ็มดีมากขึ้น

 

แต่สุดท้ายในช่วงปลายปี 2001 บริษัท Apple ก็ปล่อย iPod ตัวแรก ในขณะที่ซีดีมี Recordable CDs ซึ่งสามารถใส่ไฟล์เพลงแล้วไรต์แผ่นมาฟังเองได้ ทำให้ทั้งยอดขายของเอ็มดีและเทปคาสเซตต์หล่นไปถึง 70% จนทุกวันนี้บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินคำว่า MiniDisc หรือ MD ด้วยซ้ำ

 

Did You Know: แม้ MiniDisc จะถูกโปรโมตหนักมาก แต่ผลสำรวจในปี 1998 ระบุว่า ชาวอเมริกันถึง 75% ไม่รู้จัก MiniDisc

 

ภาพ: cdn.com

 

MP3

ก่อนจะพูดถึงเครื่องเล่น MP3 ต้องพูดถึงที่มาคร่าวๆ ของนามสกุลไฟล์เพลงที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดอย่าง MP3 หรือมีชื่อเต็มๆ ว่า MPEG-1 Audio Layer 3 ถูกคิดค้นโดยบริษัทสัญชาติเยอรมัน Fraunhofer-Gesellshaft ซึ่งได้ลิขสิทธิ์การสร้างเทคโนโลยีไฟล์เสียง MP3 ไปครอง ด้วยระยะเวลาการคิดค้นเกือบ 30 ปี MP3 กลายเป็นไฟล์ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายผ่านเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า mp3.com ก่อตั้งในปี 1997 โดยนักธุรกิจชาวอเมริกัน ไมเคิล โรเบิร์ตสัน ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี MP3 โดยภายหลังเว็บไซต์ mp3.com ก็กลายเป็นเว็บไซต์แลกเปลี่ยนไฟล์เพลง MP3 แบบถูกกฎหมายแห่งแรกของโลก และใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

 

รู้หรือไม่ว่าเครื่องเล่น MP3 เครื่องแรกของโลกมีชื่อว่า MPMan F10 สร้างขึ้นในปี 1997 โดยบริษัทเกาหลีใต้ที่ชื่อ Saehan Information Systems ซึ่งเป็นเครื่องเล่นเพลงที่ใช้ไฟล์ MP3 ทั้งหมดผ่านการใส่ข้อมูลโดยแฟลชไดรฟ์ ไฟล์เพลงสามารถดาวน์โหลดได้จากอินเทอร์เน็ต หรือดึงจากซีดีเพลงก็ได้ ทำให้เราเข้าสู่ยุคการดาวน์โหลดเพลงทั้งผิดกฎหมายและถูกกฎหมายผ่านอินเทอร์เน็ตกันอย่างสนุกสนาน พร้อมทั้งการเกิดใหม่ของเครื่องเล่น MP3 จากบริษัทหลายเจ้า รวมไปถึง iPod ที่ทำเกิดจุดเริ่มต้นของการฟังเพลงผ่านไฟล์ดิจิทัลอย่างแท้จริง

 

Did You Know: นอกจากเราจะฟัง MP3 ผ่านเครื่องเล่นแล้ว เรายังเลือกฟังในคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมสุดฮิตอย่าง ‘Winamp’ ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกรูปแบบหน้าตาของเครื่องเล่นได้ตามใจชอบ

 

ภาพ: www.digitaltrends.com

 

Music Streaming

ภายหลังไฟล์ MP3 กลายเป็นที่นิยมหนักมากในหมู่คนฟังเพลง การแชร์ไฟล์เพลงบนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเรื่องปกติ ยิ่งในปี 1999 ที่มีเว็บไซต์ napster.com ขึ้นมาครองตลาดการแชร์เพลง MP3 แบบฟรีๆ โหลดได้ทั้งอัลบั้ม แถมยังมีเวอร์ชันไลฟ์ของศิลปินมาให้โหลดอีกต่างหาก ทำให้ Napster เจอกับปัญหาลิขสิทธิ์และถูกฟ้องร้องจากค่ายเพลงเหล่านั้น โดยในปี 2011 Napster ถูกบังคับให้ปิดเว็บไซต์ลง ซึ่งในเวลานั้นมีจำนวนผู้ใช้งาน Napster อยู่ถึง 21.4 ล้านคนเลยทีเดียว หลังจากเห็นยอดผู้ใช้งานที่สูงลิ่ว บริษัทใหญ่ๆ หลายๆ ที่จึงพยายามหาช่องทางการกระจายผลงานเพลงผ่านทางออนไลน์แทน ซึ่งเป็นที่มาของการสตรีมมิงมิวสิก

 

ในปี 2003 Apple ปล่อย iTunes Store เพื่อเป็นช่องทางการฟังเพลงออนไลน์ และผู้ใช้งาน iPod สามารถดาวน์โหลดเพลงจาก iTunes ไปฟังได้ในราคา 0.99 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อเพลง ตามมาด้วย Pandora ในปี 2005 ที่มีความคล้ายคลึงกับ iTunes แต่เพิ่มกิมมิกที่ผู้ใช้งานสามารถหาเพลงที่ตรงกับรสนิยมตัวเองได้โดยยึดจากประวัติการฟังเพลงของผู้ใช้งานนั้นๆ และกลายเป็นต้นแบบของบริการสตรีมมิงมิวสิกอื่นๆ ในปัจจุบัน อย่าง Apple Music (2015), Tidal (2014) รวมทั้ง Spotify (2006) ซึ่งพัฒนาให้การฟังเพลงออนไลน์ของผู้ใช้งานนั้นง่ายขึ้น ผ่านการสมัครสมาชิกรายเดือน/รายปี ในราคาย่อมเยา และสามารถฟังเพลงได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดเพื่อเก็บไฟล์นั้นเป็นเจ้าของเหมือนสมัยโหลดเพลง MP3 ด้วย

 

Did You Know: เพลงที่มียอดสตรีมมิงสูงที่สุดใน Spotify (ข้อมูลล่าสุดของเดือนสิงหาคม ปี 2018) คือเพลง In My Feelings by Drake ที่มียอดสตรีมมิงสูงถึง 53.95 ล้านครั้ง

 

เวลาผ่านไป วิวัฒนาการของการฟังเพลงก็ผ่านไปเรื่อยๆ แม้ตอนนี้ช่องทางการฟังเพลงของเราผ่านการสตรีมมิงดูจะสะดวกและยั่งยืนแล้ว แต่เราก็มั่นใจว่าในอนาคตจะเห็นการฟังเพลงรูปแบบใหม่ๆ ได้เสมอ อย่างการผสมเทคโนโลยี Virtual Reality เข้ากับการฟังเพลง หรือเทคโนโลยีการฟังเพลงที่สื่อสารกับความคิด และความรู้สึกของผู้ฟังไปพร้อมกันได้ แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงการฟังเพลงไปมากขนาดไหน เราก็คงไม่ลืมความรู้สึกการปัดฝุ่นบนช่องตลับเทป หรือการทดลองฟังอัลบั้มใหม่ของศิลปินที่ชอบผ่านเครื่องเล่นซีดีในร้านขายหนังสืออย่างแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X