×

จุดจบน่าสลดของ ‘เฟรยา’ สะท้อนปัญหาวอลรัสที่อาจพลัดถิ่นจากภาวะโลกรวน และเราทุกคนมีส่วนต้องรับผิดชอบ

18.08.2022
  • LOADING...
เฟรยา

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่สร้างความเศร้าสะเทือนใจให้กับคนทั่วโลก คงหนีไม่พ้นกรณีการตัดสินใจการจบชีวิต ‘เฟรยา’ วอลรัสตัวอวบอ้วนขวัญใจชาวนอร์เวย์ ด้วยเหตุเพราะเจ้าหน้าที่มองว่า ด้วยขนาดตัวมหึมาของเฟรยา อาจส่งผลให้เธอทำร้ายมนุษย์ได้เข้าสักวัน

 

แน่นอนว่าการตัดสินใจของนอร์เวย์ครั้งนี้เผชิญกับเสียงประณามจากคนทั่วโลก เนื่องจากหลายคนมองว่าเฟรยาคือแพะรับบาปที่เธอไม่ได้ก่อ แต่เป็นเพราะมนุษย์ต่างหากที่ไม่สนใจฟังคำเตือนจากทางการที่ให้หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้เฟรยามากเกินไป แต่อีกมุมหนึ่ง สังคมก็มองว่าการตัดสินใจของทางการนั้นถูกต้องแล้ว เพราะเราไม่สามารถเดาอารมณ์ของสัตว์ป่าได้เลย

 

ท่ามกลางการถกเถียงที่ไม่สิ้นสุด ยังมีอีกคำถามหนึ่งมีหลายคนสงสัยว่า แล้วเหตุใดวอลรัสซึ่งควรมีถิ่นอาศัยอยู่ท่ามกลางน้ำแข็งแถบขั้วโลกเหนือและมหาสมุทรแปซิฟิก ถึงได้หลงมาอยู่ใกล้กับมนุษย์ได้มากขนาดนี้ และคำตอบนั้นก็อาจจะเป็น ‘ภาวะโลกรวน’ โดยมีความเป็นไปได้ว่าเฟรยาเป็นหนึ่งในวอลรัสที่พลัดถิ่นจากภาวะโลกรวน ซึ่งเราทุกคนอาจมีส่วนที่ทำให้เฟรยาต้องมาอยู่ใกล้กับมนุษย์มากขึ้นเช่นนี้

 

ย้อนเส้นทางชีวิต ‘เฟรยา’ วอลรัสเซเลบผู้กุมหัวใจคนทั่วโลก

 

  • เฟรยาปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในปี 2019 โดยเธอเป็นวอลรัสเพศเมียที่มีจุดสังเกตอยู่ที่จุดสีชมพูน้อยๆ บนจมูก เขี้ยวที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ และรอยแผลที่เป็นตำหนิบนร่างกาย

 

  • เฟรยาเริ่มขยับเข้ามาใกล้กับถิ่นฐานของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับภาพความน่าเอ็นดูของวอลรัสตัวอ้วนที่ชอบขึ้นมานอนอาบแดดอยู่บนเรือ ท้ายที่สุดเธอก็ถูกมนุษย์ตั้งชื่อให้ว่า เฟรยา ซึ่งเป็นชื่อของเทพีแห่งความรักและความงามของชาวนอร์เวย์

 

  • เฟรยาไปปรากฏตัวอยู่หลายที่ด้วยกัน ทั้งในอังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ โดยเธอได้สร้างปรากฏการณ์ในฐานะวอลรัสตัวแรกที่ไปเยี่ยมเยือนเนเธอร์แลนด์ในรอบ 23 ปีเลยทีเดียว ยิ่งเดินทางไกลเท่าไร ฐานแฟนคลับของเฟรยาก็ยิ่งมีมากขึ้น แถมยังเป็นข่าวดังในทุกสถานที่ที่เธอไป

 

  • ในช่วงไม่กี่เดือนก่อน เฟรยาได้เดินทางมาถึงออสโลฟยอร์ด (Oslofjord) ปากน้ำทางตะวันออกเฉียงใต้ของนอร์เวย์ ห่างจากบ้านเกิดของเธอถึง 1,000 ไมล์ แน่นอนว่าวอลรัสตัวนี้ก็ได้โชว์ภาพความน่ารักด้วยการนอนผึ่งพุงตากแดด แอบปีนขึ้นไปบนเรือมนุษย์ และบางทีก็ทำให้เรือจมด้วย แต่นั่นไม่ได้ทำให้ฐานแฟนคลับของเฟรยาลดลง ในทางตรงกันข้าม ผู้คนกลับแห่กันมาดูเฟรยาเพราะอยากเห็นวอลรัสเซเลบตัวเป็นๆ

 

  • นั่นคือจุดเริ่มต้นของหายนะที่ตามมา ผู้คนเริ่มไม่เชื่อฟังคำเตือนของทางการที่ให้เว้นระยะห่างจากวอลรัส จนถึงขั้นที่มีการขู่จะปรับเงินคนที่เข้าใกล้เฟรยามากเกินไป เพราะถึงแม้เฟรยาจะดูน่ารักและเป็นมิตร แต่ด้วยน้ำหนักตัวถึง 600 กิโลกรัม บวกกับความเครียดที่ถูกมนุษย์รุมล้อมจนเธอรู้สึกว่ากำลังเผชิญกับภัยคุกคาม อาจทำให้เฟรยาพลั้งพลาดทำร้ายมนุษย์จนบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิตได้ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวที่วอลรัสตัวอื่นโจมตีมนุษย์ที่อยู่ในเรือ โดยในปี 2019 เคยมีข่าวว่าวอลรัสจมเรือสำรวจวิทยาศาสตร์ของกองทัพเรือรัสเซีย แต่เคราะห์ดีที่ลูกเรือรอดชีวิตมาได้

 

  • เมื่อประชาชนไม่เชื่อฟังคำสั่ง ทางเลือกแรกที่ทางการพยายามทำคือการย้ายเฟรยาให้ออกห่างจากชุมชน ทว่าผลจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยสัตว์น้ำนอร์เวย์ออกมาว่า การเคลื่อนย้ายสัตว์ที่มีขนาดใหญ่อย่างวอลรัสนั้นทำได้ยากมาก แถมยังมีความเสี่ยงที่อาจทำเฟรยาตายได้ เหมือนกับเหตุการณ์ของวาฬเบลูกาในฝรั่งเศส ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องตัดสินใจการุณยฆาต เนื่องจากสัตว์มีความเครียดสะสมและร่างกายอยู่ในสภาวะอ่อนแอมากเกินไป หลังได้รับการช่วยเหลือขึ้นจากแม่น้ำแซนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

  • เมื่อไม่มีทางออก ท้ายที่สุดรัฐบาลนอร์เวย์ก็ได้ตัดสินใจใช้ทางเลือกสุดท้าย ซึ่งก็คือการจบชีวิตเฟรยาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม โดยอ้างความจำเป็นที่ต้อง ‘ปกป้องความปลอดภัยของมนุษย์มาก่อน’ เพราะไม่อาจปล่อยให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกเฟรยาทำร้ายได้ ปิดฉากเส้นทางชีวิตของวอลรัสแสนน่ารักที่ต้องพลัดถิ่นจากภาวะโลกรวนซึ่งเป็นฝีมือมนุษย์…และถูกพิพากษาให้ต้องจบชีวิตลง เพราะการตัดสินใจของมนุษย์เช่นเดียวกัน

 

เมื่อโลกรวนบังคับให้เฟรยาต้องพลัดถิ่น

 

  • โดยปกติแล้ววอลรัสมักจะอาศัยอยู่ในพื้นที่แถบธารน้ำแข็งของแคนาดา กรีนแลนด์ นอร์เวย์ รัสเซีย และอะแลสกา โดยปัจจุบันโลกของเรามีวอลรัสแอตแลนติกราว 25,000 ตัว ส่วนวอลรัสแปซิฟิกมีจำนวนราว 200,000 ตัว

 

  • ถิ่นที่เกิดของเฟรยานั้นไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่คาดว่าเธอน่าจะเกิดในหมู่เกาะสฟาลบาร์ด (Svalbard) ของนอร์เวย์ ซึ่งตั้งอยู่เยื้องไปทางขั้วโลกเหนือ โดยประมาณ 60% ของพื้นที่ถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ จึงทำให้มีมนุษย์อาศัยอยู่เพียงราว 3,000 คน แต่ดินแดนแห่งนี้เป็นบ้านของวอลรัสมากถึง 2,000 ตัวเลยทีเดียว

 

  • แต่แล้วภาวะโลกรวนซึ่งเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ก็ได้ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศในสฟาลบาร์ดเปลี่ยนแปลงไป โดยในช่วงปี 1970-2020 อุณหภูมิเฉลี่ยในพื้นที่แห่งนี้ปรับตัวขึ้นสูงถึง 4 องศาเซลเซียส และในช่วงฤดูหนาวมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นกว่า 7 องศาเซลเซียส

 

  • สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้น้ำแข็งละลายตัวอย่างรวดเร็ว โดยนับตั้งแต่ปี 1979 แผ่นน้ำแข็งทะเลอาร์กติกลดลงเกือบ 12% ต่อ 1 ทศวรรษ 

 

  • แผ่นน้ำแข็งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นกับชีวิตวอลรัสอย่างมาก เพราะวอลรัสตัวเมียจะใช้เป็นสถานที่คลอดลูก ให้นม และเลี้ยงดูลูกของตัวเอง เนื่องจากน้ำแข็งที่ลอยละล่องในมหาสมุทรจะช่วยปกป้องวอลรัสและลูกน้อยจากบรรดาสัตว์นักล่าบนแผ่นดิน อีกทั้งแผ่นน้ำแข็งยังช่วยสำหรับกิจกรรมหาอาหารของวอลรัสด้วย เพราะพวกมันจะดิ่งตัวลงไปในมหาสมุทรเพื่อจับสัตว์น้ำกิน และขึ้นมาพักผ่อนบนแผ่นน้ำแข็งนั่นเอง

 

  • แต่เมื่อน้ำแข็งลดลง การหาอาหารของวอลรัสก็ทำได้ยากขึ้น และกลายเป็นว่าวอลรัสจำนวนมากต้องอพยพมาอยู่บนชายฝั่ง ขณะที่บางตัวได้ว่ายน้ำออกไปไกลขึ้นเพื่อหาที่พักผ่อนและหาอาหาร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักๆ ที่บีบให้วอลรัสอย่างเฟรยาต้องย้ายถิ่นที่อยู่ และว่ายน้ำมาทางตอนใต้เพื่อจับสัตว์น้ำประทังชีพ

 

  • ข้อมูลจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ยังระบุด้วยว่า กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งการเดินเรือ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รบกวนพื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของวอลรัสมากขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สัตว์ตกใจกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย และต้องออกหาที่อยู่ในน่านน้ำใหม่

 

เสียงจากนักสิ่งแวดล้อม

 

  • นักชีววิทยาที่มีความคุ้นเคยกับเฟรยาระบุว่า การตัดสินใจของรัฐบาลนั้นรุนแรงและรีบร้อนมากเกินไป เพราะเฟรยามีแนวโน้มที่จะเดินทางออกจากออสโลฟยอร์ดในอีกไม่ช้า

 

  • คาเรน สตอคกิน นักนิเวศวิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยแมสเซย์ของนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า กรณีของเฟรยาอาจเป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของสัตว์ในระบบนิเวศที่ต้องพลัดถิ่นฐานจากภาวะโลกรวน “น่าเศร้าว่าสถานการณ์จะย่ำแย่ลงอีกในอนาคต เพราะสัตว์อีกหลายชนิดที่อยู่ขั้วโลกจะเริ่มย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในน่านน้ำใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ”

 

  • สตอคกินยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ขณะนี้นิวซีแลนด์ก็กำลังประสบปัญหาในการจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine mammal) ด้วยเช่นกัน เช่น สิงโตทะเล และแมวน้ำเสือดาว ซึ่งมีหลายตัวที่อพยพย้ายถิ่นจากแอนตาร์กติกไปยังประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

  • สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นภาพชัดว่า ภาวะโลกรวนทำให้สัตว์น้อย-ใหญ่จำต้องอพยพย้ายถิ่นฐานของตัวเองมาอยู่ใกล้กับมนุษย์มากขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ ทำให้พื้นที่บางแห่งกลายเป็นที่อยู่อาศัยทับซ้อนกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า ฉะนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นอีกแน่นอนในอนาคต 

 

  • สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการให้ความรู้กับประชาชนถึงวิธีอยู่ร่วมกับสัตว์อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ทั้งคนหรือสัตว์ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งกรณีของเฟรยาอาจเป็นเครื่องเตือนใจชั้นดีที่ทำให้มนุษย์ตระหนักถึงสิทธิของสัตว์มากขึ้นในอนาคต

 

  • สตอคกินทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ทางการควรให้ความสนใจคือ ‘การบริหารจัดการคน’ ไม่ใช่ ‘การบริหารจัดการสัตว์’ เพราะหากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำได้ จะมีสัตว์อีกเป็นจำนวนมากที่ต้องบาดเจ็บล้มตายจากความประมาทของมนุษย์

 

  • ฉะนั้นนี่จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมนุษย์ทั่วโลกในการยับยั้งภาวะโลกรวน และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสัตว์ต่างๆ ด้วยความเข้าใจ เพื่อให้กรณีของเฟรยาเป็นการสูญเสียที่เจ็บปวดครั้งสุดท้ายของพวกเรา 

 

ภาพ: Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising