เรื่องการรับบุตรบุญธรรม หรือการ Adoption เชื่อว่าหลายท่านเคยได้ยินกันมาก่อน ซึ่งบางครอบครัวมองเป็นเรื่องธรรมเนียมหรือความเชื่อว่าเด็กบางคนเลี้ยงยากหรือป่วยง่าย แต่ถ้ายกเป็นลูกคนอื่นจะทำให้เด็กเลี้ยงง่ายขึ้น หรือบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ที่แท้จริงอาจไม่พร้อมด้านการเงินหรือไม่มีเวลาเลี้ยงดู จึงขอยกให้ญาติเลี้ยงแทนและเพื่อให้เขารักใคร่ดูแลจึงยกให้เป็นลูก หรือกรณีญาติพี่น้องมีลูกเองไม่ได้จึงอยากได้ลูกของญาติหรือลูกเพื่อนมาเป็นลูกตน
สิ่งที่ควรทราบคือ การรับลูกคนอื่นเป็นลูกตนนั้นมีทั้งแบบทำตามกฎหมายหรือไม่ได้ทำตามกฎหมาย การทำตามธรรมเนียม การทำเป็นพิธี หรือการพูดว่าเอ็นดูเป็น ‘ลูกบุญธรรม’ โดยไม่ได้จดทะเบียนนั้นจะไม่มีกฎหมายรองรับ การที่จะใช้คำว่าบุตรบุญธรรมนั้นผู้เขียนมองว่า ควรใช้เมื่อมีการปฏิบัติตามหลักกฎหมายคือ การจดทะเบียนตามกฎหมายแล้วอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเมื่อรับเด็กด้อยโอกาสมาเป็นบุตรบุญธรรม เพราะจะทำให้เด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสมและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ การปฏิบัติตามกฎหมายจึงมีความสำคัญมาก
การรับบุตรบุญธรรมในทางกฎหมายเป็นการที่บุคคลหนึ่งไปรับอีกบุคคลมาอุปการะเลี้ยงดูเหมือนลูกตนเอง บุคคลอีกคนจึงไม่ใช่ลูกโดยกำเนิด ผู้รับบุตรบุญธรรม (หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าพ่อหรือแม่บุญธรรม) กับบุตรบุญธรรม จะเป็นเครือญาติกันหรือไม่ก็ได้ หรือบุตรบุญธรรมจะเป็นผู้เยาว์หรือผู้บรรลุนิติภาวะแล้วก็ได้ และอาจไม่ต้องมีสัญชาติเดียวกันกับพ่อหรือแม่บุญธรรมก็ได้ แต่ต้องมีสิ่งที่รับรองความเป็นบุตรบุญธรรมคือ การจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะมีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันอย่างถูกต้อง
ใครมีอำนาจปกครองบุตรบุญธรรม?
เมื่อจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ตามกฎหมายของไทยนั้นมีลักษณะสำคัญคือ บุตรบุญธรรมยังไม่ตัดขาดจากครอบครัวเดิม แต่พ่อแม่โดยกำเนิดจะไม่มีอำนาจปกครองบุตรบุญธรรมแล้ว พ่อหรือแม่บุญธรรมจะกลายเป็นผู้มีอำนาจปกครองนับแต่วันจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม กฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดคุณสมบัติของผู้รับบุตรบุญธรรมว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี ทั้งนี้ บุตรบุญธรรมของบุคคลใดจะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ แต่สามารถเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมได้
อำนาจปกครองบุตรนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องกันได้ มีเหตุพิพาทได้ เช่น เมื่อมีการหย่าร้างระหว่างคุณพ่อหรือคุณแม่ ใครจะมีอำนาจปกครอง หรือกรณีเด็กมีทรัพย์สินมากเนื่องจากเป็นดารานักแสดงหรือได้รับมรดกมาก ก็จะเกิดคำถามว่าใครมีอำนาจปกครอง เพราะอำนาจปกครองมีความหมายรวมหลายเรื่อง ได้แก่ การอยู่อาศัย ดูแลการศึกษา อบรมสั่งสอน หรือทำโทษตามสมควร ใช้ทำงานตามสมควร รวมถึงการจัดการทรัพย์สินของบุตร โดยต้องจัดการอย่างระมัดระวัง เมื่ออำนาจปกครองนั้นสำคัญ ทำให้กฎหมายต้องเข้ามารับรอง ซึ่งพ่อแม่โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นมีสิทธิมีอำนาจปกครอง (และพ่อหรือแม่บุญธรรมที่จดทะเบียนตามกฎหมาย) และถ้าพ่อแม่หย่าร้างกันก็ต้องไปตกลงสลักหลังที่ใบหย่าด้วย เพื่อกำหนดอำนาจปกครองบุตร บางคนอยากจะทำสัญญากันเองโดยไม่สลักหลังหรือไม่ทำตามกฎหมาย อันนี้สรุปว่าทำข้อตกลงระหว่างกันเองไม่ได้ (เช่น อยากตกลงให้คุณพ่อดูแลกี่วันและคุณแม่กี่วันในหนึ่งสัปดาห์) และเรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกาวางหลักไว้แล้ว
เมื่ออำนาจปกครองสำคัญ ทำให้พ่อหรือแม่บุญธรรมจะต้องมีความเหมาะสมและมีคุณธรรม เพื่อให้เลี้ยงดูบุตรบุญธรรมได้ดี กฎหมายจึงกำหนดให้บิดามารดาโดยกำเนิดจะต้องลงนามยินยอมให้มีลูกตนเป็นบุตรบุญธรรมผู้อื่น แต่ถ้าเด็กถูกทอดทิ้งและอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็ก ก็ให้สถานสงเคราะห์ให้ความยินยอมได้ และการรับบุตรบุญธรรมต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย
ว่าด้วยสิทธิในการรับมรดกของบุตรบุญธรรม
บุตรบุญธรรมจะมีฐานะเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของพ่อหรือแม่บุญธรรม และบิดามารดาโดยกำเนิดจะไม่มีอำนาจปกครองนับแต่เวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิในมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม และถือเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย (แต่พ่อหรือแม่บุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรม)
เมื่ออ่านข้อความข้างต้นแล้ว ผู้อ่านอาจมีความสงสัย ผมจึงขอขยายความบุตรชอบด้วยกฎหมายและผู้สืบสันดานให้มากขึ้น ดังนี้
เมื่อกล่าวถึงบุตร เราจะคุ้นเคยกับบุตร 4 ประเภท ได้แก่
- บุตรที่เกิดขึ้นระหว่างการสมรสตามกฎหมายของคุณพ่อคุณแม่ แม้ต่อมาจะหย่าร้างก็ตาม
- บุตรที่เกิดก่อนการจดทะเบียนสมรสของคุณพ่อคุณแม่
- บุตรที่เกิดนอกสมรส แต่ภายหลังคุณพ่อมาจดทะเบียนรับรองบุตร
- บุตรที่ไม่ใช่ทั้งข้อ 1-3 แต่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของคุณพ่อและคุณแม่
ทั้ง 4 ประเภทนี้ เราเรียกรวมกันว่าบุตรชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ในทางกฎหมายรับรองว่าบุตรเป็นบุตรของคุณพ่อและคุณแม่ ส่วนบุตรที่นอกสมรสเป็นบุตรของคุณแม่แต่เพียงอย่างเดียวในทางกฎหมาย (แม้เราจะทราบว่าเป็นบุตรคุณพ่อด้วย แต่กฎหมายไม่ทราบ เพราะยังไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายตามข้อ 1-4 ครับ)
เรื่องนี้ขอเสริมครับว่า แม้คุณพ่อมีชื่อในสูติบัตรหรือใบเกิดนั้นยังไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และแม้จะมีผลตรวจ DNA ว่าเป็นคุณพ่อ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นบิดาตามกฎหมายครับ
ที่นี้ในความเป็นจริง เมื่อบุตรเป็นบุตรของคุณพ่อจริง แต่กลับไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของคุณพ่อ จึงมีคำถามว่า จะมีสิทธิรับมรดกจากคุณพ่อไหม เรื่องนี้กฎหมายให้ถือว่าทายาทโดยธรรมที่จะมีสิทธิรับมรดกประกอบด้วย ‘ผู้สืบสันดาน’ ซึ่งคำว่าผู้สืบสันดานนี้ในชั้นของบุตรนั้นประกอบไปด้วย 3 กลุ่ม คือ
- บุตรชอบด้วยกฎหมายตามย่อหน้าก่อน 4 ประเภท
- บุตรนอกกฎหมาย แต่คุณพ่อรับรองโดยพฤตินัยหรือพฤติการณ์ว่าเป็นบุตร
- บุตรบุญธรรม
ดังนั้นจึงตอบได้ว่าเมื่อเป็นลูกจริงก็มีสิทธิรับมรดก และอยู่ในผู้สืบสันดานชั้นบุตรทำนองเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายด้วย
หรือสรุปว่าบุตรชอบด้วยกฎหมายที่คุณพ่อคุณแม่จะมีอำนาจปกครองได้นั้นมี 4 ประเภท แต่เมื่อกล่าวถึงสิทธิในมรดกแล้ว กฎหมายรับรองผู้สืบสันดานชั้นบุตรเพิ่มอีก 2 ประเภท ทำให้บุตรที่แท้จริงของคุณพ่อก็มีสิทธิในมรดกได้ และยังรวมถึงบุตรบุญธรรมอีกด้วย
สามารถยกเลิกการเป็นบุตรบุญธรรมได้หรือไม่?
การเป็นบุตรบุญธรรมก็สามารถยกเลิกกันได้ ได้แก่ กรณีบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะก็สามารถตกลงกับพ่อหรือแม่บุญธรรมให้เลิกความเป็นบุตรบุญธรรม แต่ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาโดยกำเนิด และหากบุตรบุญธรรมอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บุตรบุญธรรมต้องยินยอมด้วย นอกจากนี้การยกเลิกความเป็นบุตรบุญธรรมอาจเกิดจากคำสั่งศาลหรือเกิดจากเหตุที่พ่อหรือแม่บุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องเลิกความเป็นบุตรบุญธรรม
เรื่องบุตรบุญธรรมเป็นเรื่องสำคัญ และหากใครจะรับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรมจะต้องศึกษารายละเอียดและข้อปฏิบัติต่างๆ ให้ชัดเจนเสียก่อน การเปลี่ยนใจภายหลังคงจะมีผลต่อจิตใจหลายๆ ฝ่าย สำหรับผู้สนใจยังมีกฎหมายเฉพาะอีก 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและความร่วมมือในการรับรองบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศครับ
ติดตามข่าวสารศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: THE STANDARD WEALTH และ YouTube: THE STANDARD