×

“เสรีภาพของการชุมนุมคือบททดสอบเสรีภาพสังคม” แอมเนสตี้จัดห้องเรียนออนไลน์ มาตรฐานสากลกับเสรีภาพในการชุมนุม

โดย THE STANDARD TEAM
29.10.2020
  • LOADING...
เสรีภาพของการชุมนุม แอมเนสตี้ iLaw

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดรายการเสวนาถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ ‘ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์: มาตรฐานสากลกับเสรีภาพในการชุมนุม’ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพในการชุมนุมที่ดีขึ้นในประเทศไทย
  • “เสรีภาพการชุมนุมเป็นบททดสอบว่าสังคมนั้นรับรองเสรีภาพอื่นๆ ดีแค่ไหน เพราะการมาชุมนุมคุณต้องใช้เสรีภาพหลายอย่าง เช่น เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพการติดต่อสื่อสาร เสรีภาพการเดินทาง ซึ่งเสรีภาพการชุมนุมคืออาวุธของคนจนและคนอ่อนแอ เมื่อรวมตัวกัน ทำให้ผู้มีอำนาจเกรงกลัว เมื่อเกรงกลัวแล้วจะเปิดช่องให้เกิดการเจรจาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางอย่าง เวลาชุมนุมจึงขอให้สงบ สันติ ปราศจากอาวุธ” ดร.พัชร์ นิยมศิลป จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดรายการเสวนาถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ ‘ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์: มาตรฐานสากลกับเสรีภาพในการชุมนุม’ โดยมีวิทยากรคือ ดร.พัชร์ นิยมศิลป จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

 

โดยจากการชุมนุมอย่างต่อเนื่องที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และองค์กรที่มีภารกิจเรื่องสิทธิในเสรีภาพการชุมนุม ได้เริ่มเก็บข้อมูลการชุมนุมและสร้างฐานข้อมูลเป็นเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ โดยเว็บไซต์นี้จะเป็นอีกพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมีชุดข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่สามารถนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย จะได้ถูกนำเสนอต่อภาครัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพในการชุมนุมที่ดีขึ้นในประเทศไทย

 

คำถามที่ว่าทำไมต้องชุมนุมอย่างสงบและสันติ สำหรับการรับรองสิทธิและการจำกัดสิทธิการชุมนุมในประเทศไทย

 

ดร.พัชร์กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายที่ให้สิทธิการชุมนุมคือรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ที่รับรองเสรีภาพการชุมนุม และจำกัดสิทธิการชุมนุมโดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 แต่ไม่มีกฎหมายบอกไว้ว่าการชุมนุมทางการเมืองคืออะไร การตีความว่าอะไรคือการชุมนุมกลับขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ เช่น วิ่งไล่ลุง วิ่งเชียร์ลุง เป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือเปล่า

 

“หากการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร่วมชุมนุมก็อาจมีความผิดไปด้วย แต่ทุกวันนี้การตั้งข้อหาส่วนใหญ่เล็งไปที่ผู้จัดการชุมนุม ซึ่งใน พ.ร.บ. การชุมนุม นิยาม ‘ผู้จัดการชุมนุม’ ให้ตีความได้กว้างมาก เพราะรวมถึงผู้เชื้อเชิญให้เข้าร่วมการชุมนุม คนโพสต์ทางออนไลน์ให้คนมาร่วมก็กลายเป็นผู้จัดการชุมนุม ทั้งที่ธรรมชาติการชุมนุมเป็นการระดมพลแบบบอกกันปากต่อปาก การจะดูว่าใครเป็นแกนนำต้องดูว่าเขามีอำนาจจัดการการชุมนุมหรือไม่ ซึ่งเวลาเราให้อำนาจการใช้ดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่แล้วไม่มีกลไกตรวจสอบภายหลัง จะทำให้ระบบบิดเบี้ยวไปตามอัตวิสัยของผู้ใช้อำนาจ” ดร.พัชร์กล่าว

 

ขณะที่เพชรรัตน์กล่าวเสริมว่า ตามความเห็นขององค์การสหประชาชาติ โดยทั่วไปแล้วการชุมนุมต้องแจ้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกได้ แต่หากไม่แจ้งก็ไม่ใช่เรื่องผิด

 

ส่วนที่มีการถามขึ้นมาว่า การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นในไทยนั้นยังเป็นการชุมนุมอย่างสงบหรือไม่ เพชรรัตน์มองว่าตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ความรุนแรงต้องหมายถึงมีการบาดเจ็บหรือส่งผลถึงชีวิต ซึ่งครั้งเดียวที่มีความรุนแรง (หมายถึงวันที่ 16 ตุลาคม) ก็เริ่มต้นจากรัฐบาล ทั้งที่รัฐบาลมีหน้าที่ลดความรุนแรง แต่รัฐบาลกลับเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเสียเอง ตั้งแต่การใช้เจ้าหน้าที่มากเกินจำเป็น การสร้างความรู้สึกหวาดกลัวแก่ผู้ชุมนุม เช่น การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง หรือนำรถเมล์เข้ามาทำให้พื้นที่แคบลง 

 

ดร.พัชร์กล่าวว่า กฎหมายระดับสากลรับรองเฉพาะการชุมนุมสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ เพราะองค์การสหประชาชาติรับรองเรื่องสังคมประชาธิปไตย โดยสังคมเสรีประชาธิปไตยมีการรับรองว่าประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ และสามารถสื่อสารแสดงความประสงค์เพื่อกดดันให้รัฐตอบสนองทางการเมืองได้ นั่นคือการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งการมีส่วนร่วมต้องไม่กระทบผู้อื่น คือต้องกระทำอย่างสันติ เกณฑ์สากลจึงรับรองเฉพาะการชุมนุมโดยสันติ เพราะกลไกนี้สอดคล้องกับการปกครองแบบประชาธิปไตย 

 

“ในระบอบประชาธิปไตย ผู้แทนอยู่ได้ด้วยระบบการเลือกตั้ง จึงต้องฟังเสียงประชาชนและตอบสนองให้ดีที่สุด เพื่อการันตีว่าเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รับเลือกอีก ถ้าทุกคนชุมนุมโดยสงบและสันติ เสียงประชาชนส่งไปถึงผู้แทน กลไกจะทำงานได้ แต่หากมีการกระทำที่ไม่สันติหรือก่อการร้าย รัฐต้องเข้ามาควบคุมเพื่อไม่ให้มีการใช้กำลังที่ไม่มีความชอบธรรมทางกฎหมายเข้ามาได้ ไม่เช่นนั้นคนที่ใช้สันติวิธีจะไม่มีอำนาจในสังคมนั้น แต่รัฐต้องอยู่ภายใต้กติกาบางอย่าง คือหลักสากล อำนาจรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพ และกฎหมายที่จำกัดอำนาจไม่ให้ใช้กำลังเกินสัดส่วน” ดร.พัชร์กล่าว

 

ส่วนกรณีที่ว่าทำไมปล่อยให้ผู้ประท้วงใช้คำหยาบ เพชรรัตน์มองว่า การชุมนุมคือการมาปลดปล่อยความโกรธและอารมณ์ คำหยาบกับเฮตสปีช (Hate Speech) แตกต่างกัน เฮตสปีชคือการสร้างความเกลียดชังเรื่องชาติ เชื้อชาติ ศาสนา เป็นสิ่งที่มนุษย์เอาออกจากตัวเองไม่ได้ หากมีการโจมตีเรื่องนี้จึงถือเป็นการสร้างความเกลียดชัง การชุมนุมในหลายที่ทั่วโลกก็มีการใช้คำหยาบ เช่น #BlackLivesMatter ที่แม้มีการใช้คำหยาบ แต่เขาออกมาเรียกร้องความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดทอนโดยคนบางกลุ่ม ทั้งนี้แต่ละคนก็ยอมรับคำหยาบได้แตกต่างกัน สุดท้ายไม่ควรตัดสินว่าขบวนการเป็นแบบไหนจากเรื่องนี้ เพราะการพูดหยาบไม่ได้ทำให้สังคมแย่ลง

 

ดร.พัชร์กล่าวด้วยว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันนี้ยังเป็นรูปแบบสันติ แต่ความสงบก็มีระดับ คอมเมนต์ที่ 37 ขององค์การสหประชาติ บอกว่าการผลักดันด้วยโล่ของเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ความรุนแรง การใช้คำหยาบคายในที่ชุมนุมก็เป็นเรื่องปกติ เพราะการชุมนุมคือการมาปลดปล่อย แรงกดดันหรือความรู้สึกเก็บกดจะได้คลายลง แต่คำหยาบคายต้องไม่ใช่เฮตสปีช เช่น การก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ เพราะวันหนึ่งหากปัญหานั้นถูกจัดการแล้ว สังคมจะจัดการความเกลียดชังที่ยังคงอยู่อย่างไร

 

“มีนักวิชาการต่างชาติบอกว่า “หากมีเสรีภาพในการพูด แล้วพูดได้แต่คำสุภาพ ก็ไม่ถือว่ามีเสรีภาพ” เรื่องการพูดหยาบเกี่ยวข้องกับมารยาท คุณหยาบได้ แต่ก็สามารถให้เกียรติกันได้เช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยจำเป็นต้องมี เรื่องคำหยาบเป็นเรื่องมารยาทในแต่ละสังคม แต่รัฐไม่ควรจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยอาศัยเนื้อหานี้ เพราะเมื่อไรที่รัฐเป็นผู้พิจารณาว่าเนื้อหาแบบไหนชุมนุมได้หรือไม่ได้ จะเหลือแค่การชุมนุมของผู้สนับสนุนรัฐ แต่มีข้อยกเว้นว่าสามารถจำกัดได้หากการชุมนุมนั้นมีการใช้คำพูดยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง เร้าให้เกิดสงคราม คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) หรือเนื้อหาที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย” ดร.พัชร์กล่าว

 

ข้อถกเถียงหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมปิดถนนคือ ผู้ชุมนุมกำลังละเมิดผู้ที่กำลังใช้เสรีภาพในการเดินทางหรือไม่ เพชรรัตน์ตอบว่า “การชุมนุมเป็นการเข้าไปรบกวนชีวิตประจำวัน การลงถนนคือความพยายามบอกว่าเกิดเรื่องบางอย่างขึ้น คนใช้ถนนอาจคิดว่าถูกลิดรอนสิทธิ แต่ถ้าสิทธิการแสดงออกและการชุมนุมขาดหายไป สังคมจะอยู่ได้อย่างไร การจราจรอาจต้องจัดให้หลีกเลี่ยงไปอีกเส้นทาง รัฐต้องเจรจาให้จัดการได้ เป็นหน้าที่ของรัฐให้การปกป้องเสรีภาพในการชุมนุม และบริหารพื้นที่สาธารณะให้ใช้ร่วมกัน”

 

ขณะที่ ดร.พัชร์ บอกว่า ตามหลักการแล้ว เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการเดินทางมีศักดิ์เท่ากัน เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับการบริหารของรัฐ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่อ้างเรื่องการจัดการจราจรโดยไม่ให้ชุมนุม เสรีภาพในการชุมนุมก็จะหายไป เวลามีการชุมนุม การเดินทางอาจไม่สะดวกเหมือนเวลาปกติ แต่สามารถเจรจาที่จะใช้ถนนร่วมกันได้ เช่น การปิดถนนเพื่อชุมนุมแค่บางเลนแล้วปล่อยให้รถวิ่ง เป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้คนใช้เสรีภาพที่มีอยู่ได้

 

การชุมนุมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เพื่อกดดันรัฐบาล ในสังคมประชาธิปไตย คุณค่าของการชุมนุมขึ้นกับ Worthiness คือความควรค่าแก่การชุมนุม, Unity คือการแสดงออกร่วมกันถึงความสามัคคี, Numbers คือปริมาณคน ซึ่งตอนนี้การชุมนุมของนักศึกษาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และถี่ขึ้น สุดท้าย Commitment คือการออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องบางอย่างที่ไม่ใช่เพียงอยู่บนโลกออนไลน์ จะสร้างการให้คำมั่นระหว่างผู้ชุมนุมได้มากกว่า

 

“สี่คุณค่านี้เป็นสิ่งที่ผู้จัดการชุมนุมในประเทศเสรีประชาธิปไตยพยายามสร้างให้ได้ และจะสร้างแนวร่วมให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นองค์กรผลักดันเป้าหมายที่ตัวเองเรียกร้อง นำไปสู่การถกเถียงในสภา กดดันรัฐบาล นำไปสู่การออกนโยบาย เมื่อกลับมาสร้างปัญหา พลเมืองก็ออกมาชุมนุมใหม่ วัฏจักรเป็นอย่างนี้ แต่ในประเทศที่ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตยจะเป็นวงจรอุบาทว์ เมื่อกลไกผู้แทนไม่เวิร์ก การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เป้าหมายของผู้ชุมนุมจะไม่ใช่การผลักดันนโยบายไปสู่ผู้แทน เพราะรัฐบาลไม่แคร์ ผู้ชุมนุมจึงชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยมุ่งไปที่ตัวรัฐบาล ในบางประเทศมุ่งไปที่เจ้าหน้าที่ เช่น จีน ที่ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตยแต่อนุญาตให้มีการชุมนุมได้ หากพูดถึงความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ระดับล่าง แล้วรัฐบาลจะมาจัดการ ถ้าชุมนุมต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ก็จะโดนแบบที่ฮ่องกงโดน” ดร.พัชร์กล่าว

 

สำหรับกรณีสลายชุมนุมแยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม เป็นการทำตามมาตรฐานสากลหรือเกินกว่าเหตุ โดยทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าเป็นการกระทำตามขั้นตอนของหลักสากล

 

เพชรรัตน์มองเหตุการณ์นี้ว่า ไม่ควรมีการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง หากเป็นการชุมนุมที่สงบ ไม่มีความรุนแรง ไม่ติดอาวุธ ไม่มีการสร้างความเกลียดชัง หรือหากมีการใช้ความรุนแรง ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้าไปหาคนที่ใช้ความรุนแรง และจัดการคนนั้น ไม่ใช่จัดการโดยรวม 

 

“วันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบอกว่าใช้มาตรฐานสากลแล้ว แต่มันเป็นวิธีการที่ต้องใช้หลังจากมีความรุนแรงแล้ว แต่นี่ไม่จำเป็น เพราะไม่ได้เกิดความรุนแรงใด ไม่ควรมีการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสีและสารระคายเคือง นี่เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ผู้ชุมนุมสมควรสามารถชุมนุมอย่างสงบได้” เพชรรัตน์กล่าว

 

ด้าน ดร.พัชร์บอกว่า การสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม ตามหลักสากล ถ้าผู้ชุมนุมยังชุมนุมอย่างสงบ รัฐต้องละเว้นจากการเข้าไปแทรกแซง คือเข้าไปใช้กำลังไม่ได้ เช่น หากมีการดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม แล้วอยู่ๆ ผู้ชุมนุมนั่ง เจ้าหน้าที่ก็จะดันต่อไม่ได้ วิธีการสลายคือต้องยกออกทีละคน นั่นจึงจะเป็นการใช้กำลังอย่างได้สัดส่วนและจำเป็น ไม่ใช่การใช้รถน้ำฉีดเลย เพราะเป้าหมายการสลายการชุมนุมคือให้คนออกจากบริเวณนั้นและควบคุมบริเวณนั้นได้ ไม่ใช่มุ่งล้อมจับ การสลายการชุมนุมต้องมีเหตุผล ตรวจสอบได้โดยศาล การใช้กำลังต้องจำเป็นและได้สัดส่วน

 

ดร.พัชร์บอกอีกว่า หากมีการก่อจลาจล จึงจะใช้การฉีดน้ำหรือแก๊สน้ำตาได้ แต่การใช้กำลังของรัฐต้องทำกับคนที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น การใช้น้ำฉีดไปทั่วโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทำให้โดนเด็กและผู้สื่อข่าว อย่างนี้ไม่ได้สัดส่วนของการใช้กำลัง เจ้าหน้าที่ต้องใช้กำลังน้อยที่สุดเพื่อให้ปฏิบัติการสำเร็จ หากมีการสลาย เจ้าหน้าที่ต้องเตือนก่อนและปล่อยระยะเวลาพอสมควร ไม่ใช่เตือนแล้วฉีดเลยอย่างวันที่ 16 ตุลาคม และหากไม่มีการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน การจะสลายการชุมนุมนั้น ตำรวจต้องไปขอหมายจากศาลก่อน แล้วนำหมายมาติดให้คนรู้ ถ้าผู้ชุมนุมอุทธรณ์ก็ยังสลายไม่ได้

 

“พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นกฎหมายที่อันตราย ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้องเกิดความวุ่นวายมากจนกลไกปกติเอาไม่อยู่และต้องการอำนาจพิเศษ เช่น มีการก่อการร้ายหรือสงคราม กฎหมายนี้ให้อำนาจฝ่ายทหารเข้ามาร่วมด้วย และตัดอำนาจคณะรัฐมนตรีโยงเข้าสู่ตัวนายกรัฐมนตรี เราจึงต้องดูเงื่อนไขว่ามีเหตุฉุกเฉินไหม และกฎหมายที่มีอยู่สามารถใช้จัดการได้หรือไม่ ซึ่งขณะที่มีการประกาศใช้กฎหมายนี้ล่าสุดเป็นสถานการณ์ที่มีจำนวนตำรวจมากกว่าผู้ชุมนุม และสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการได้” ดร.พัชร์กล่าว

 

ในช่วงท้าย ดร.พัชร์ ทิ้งท้ายไว้ว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มีกลไกหนึ่งคือ Protocol 1 สำหรับปัจเจกชนที่ถูกละเมิดสิทธิ เมื่อต่อสู้ทางกฎหมายจนถึงที่สุดในรัฐนั้นแล้ว สามารถส่งเรื่องต่อไปคณะกรรมการ ICCPR ได้ เช่น ประเทศเบลารุสและรัสเซียก็รับรองกลไกนี้ ทำให้ปัจเจกชนสามารถยื่นเรื่องไปได้ แต่ไทยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกนี้ จึงเป็นเรื่องที่องค์กรสิทธิมนุษยชนในไทยควรผลักดันต่อ เพื่อมีการเชื่อมกันระหว่างหลักสากลและกฎหมายในประเทศ

 

“เสรีภาพการชุมนุมเป็นบททดสอบว่าสังคมนั้นรับรองเสรีภาพอื่นๆ ดีแค่ไหน เพราะการมาชุมนุมคุณต้องใช้เสรีภาพหลายอย่าง เช่น เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพการติดต่อสื่อสาร เสรีภาพการเดินทาง ซึ่งเสรีภาพการชุมนุมคืออาวุธของคนจนและคนอ่อนแอ เมื่อรวมตัวกัน ทำให้ผู้มีอำนาจเกรงกลัว เมื่อเกรงกลัวแล้วจะเปิดช่องให้เกิดการเจรจาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางอย่าง เวลาชุมนุมจึงขอให้สงบ สันติ ปราศจากอาวุธ” ดร.พัชร์กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising