×

ถกปมแจก ‘ผ้าอนามัยฟรี’ ใช้ภาษีถูกทางหรือไม่

10.03.2022
  • LOADING...
ถกปมแจก ‘ผ้าอนามัยฟรี’ ใช้ภาษีถูกทางหรือไม่

วันที่ 8 มีนาคม 2565 พรรคเพื่อไทยจัดนิทรรศการชื่อ ‘นิทรรศกี: เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ จากความพยายามศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบาย ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า (Free Pads for All)’ มีงานเสวนาประเด็นสตรีนิยมทุกวันอังคาร 3 สัปดาห์ และเปิดให้ชมงานศิลปะฟรีทุกวันระหว่างวันที่ 8-31 มีนาคม เวลา 10.00-18.00 น. บริเวณร้านกาแฟ Think Lab พรรคเพื่อไทย จัดแสดงงานศิลปะว่าด้วย ‘กีและผู้มีประจำเดือน’ ของศิลปิน Juli Baker and Summer, Prim Issaree และ Pyra 

 

สำหรับหัวข้อเสวนาทุกวันอังคารใน 3 สัปดาห์ ประกอบด้วย 

  • 8 มีนาคม: สวัสดิการผ้าอนามัยคือสิทธิมนุษยชน
  • 15 มีนาคม: เป็นพ่อแม่ด้วย ทำงานด้วย มันเหนื่อยมากเลยนะ
  • 22 มีนาคม: จากวัยรุ่นเดือนตุลาฯ ถึงวัยรุ่นยุคประยุทธ์ จันทร์โอชา บทบาทผู้หญิงในฐานะนักต่อสู้

 

เสวนาหัวข้อ ‘สวัสดิการผ้าอนามัยคือสิทธิมนุษยชน’

 

 

โดยวานนี้ (8 มีนาคม) ซึ่งตรงกับวันสตรีสากล มีการเสวนาหัวข้อ ‘สวัสดิการผ้าอนามัยคือสิทธิมนุษยชน’ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย

 

  • ขัตติยา สวัสดิผล อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย 
  • จิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา 
  • โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียน เจ้าของเพจ ‘เจ้าแม่’ 
  • วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าอนามัย Ira Concept และผู้รณรงค์การขจัด Period Shaming 
  • ชานันท์ ยอดหงษ์ ดำเนินรายการ ในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย

 

ชานันท์ ยอดหงษ์ กล่าวว่า ในช่วงแรกของการศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า ก็ถูกคนในโลกออนไลน์ตั้งคำถามเยอะว่าทำไมประชาชนต้องเสียภาษีจำนวนมากไปให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ จะด้วยอคติหรืออะไรก็ตาม ซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องเผชิญจากการศึกษานโยบายนี้     

 

 

ขัตติยา สวัสดิผล อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

 

ทีมคิดนโยบายมาถูกทางแล้ว 

 

ขัตติยา สวัสดิผล อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีหลายโครงการที่เกี่ยวกับสตรี แต่เมื่อถูกรัฐประหารก็ไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประเด็นผ้าอนามัย ต้องขอบคุณน้องๆ ทีมที่คิดนโยบายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งรวมถึงชานันท์เป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบนโยบายนี้ โดยทีมนี้เป็น LGBT ส่วนใหญ่ แม้จะไม่มีมดลูก แต่ก็เห็นอกเห็นใจผู้มีประจำเดือน 

 

ขัตติยามองว่าทีมนี้มาถูกทางแล้ว เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่พรรคเคยพูดมาก่อน แต่เชื่อว่าเป็นประเด็นสังคมที่มีการพูดคุยกันในโซเชียล ตามเพจส่วนตัวต่างๆ ซึ่งค่านิยมเหล่านี้ มาถึงยุคนี้แล้วควรพูดบนโต๊ะอย่างจริงจัง 

 

ถ้ารัฐสามารถรับรู้ว่ามีคนใช้ผ้าอนามัยกี่แผ่นต่อเดือน จะทำให้รู้สุขอนามัยของประชากรหญิงแต่ละคนได้เช่นกัน 

 

“เคยมีกรณีคนที่เสียชีวิตไปแล้ว เขามีประจำเดือนติดกันมา 2-3 เดือน หมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งบอกว่าเป็นปัญหาฮอร์โมน จึงให้ยาปรับฮอร์โมนมากิน แต่ไม่หาย สุดท้ายไปหาหมออีกโรงพยาบาลหนึ่งจึงทราบว่าเป็นมะเร็งมดลูกระยะที่ 3 เข้าระยะที่ 4” ขัตติยากล่าว

 

‘นิทรรศกี: เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ 

 

ฉะนั้น การใช้ผ้าอนามัยจะทำให้รู้สุขอนามัยตัวเอง จะทำให้เรารู้ว่ากำลังเผชิญกับโรคอะไรอยู่หรือไม่ แล้วตัวรัฐบาลเองก็จะมีข้อมูลประวัติประชากรหญิงว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร เมื่อบอกว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ผู้หญิงเป็นมากที่สุด แล้วจะแก้ปัญหาโดยให้ไปตรวจภายในบ่อยๆ ก็ไม่ใช่ แต่ควรสนับสนุนให้เขาได้ใช้สิ่งดีๆ เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่อาจจะเกิดขึ้นได้            

 

ส่วนพรรคการเมืองทำอะไรได้บ้าง พรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จหลายนโยบายในอดีตมาแล้ว ถ้าทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง คิดเป็นขั้นตอนแต่ละปีต้องใช้งบประมาณแจกผ้าอนามัยเท่าไร รัฐต้องใช้งบประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งมองดูแล้วการที่เราใช้ 1.9 หมื่นล้านบาทสำหรับผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า นับว่าเป็นเพียง 0.6% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากงบประมาณ 33 ล้านล้านบาท แต่สามารถรักษาสุขอนามัยของผู้หญิงได้ทั้งประเทศ 

 

“ถ้าเราทำกระบวนการดีๆ สามารถผลักดันเป็นนโยบายได้ เราอาจจะทำโครงการนำร่องก่อน โดยใช้ในพรรคเพื่อไทยเอง แล้วขยายไปที่อื่น จากนั้นถ้าเป็นรัฐบาลก็คงจะนำนโยบายเหล่านี้ไปบังคับใช้จริง แล้วอาจจะออกกฎหมายเป็นร่าง พ.ร.บ.ต่อไป” ขัตติยากล่าวทิ้งท้าย    

 

จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการแบบแผนสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ 

 

ไม่ใช่เรียกร้องความสนใจ แต่ต้องการความเปลี่ยนแปลง

 

จิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ส่วนตัวทำงานในประเด็นสุขภาพทางเพศอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงมาจะ 30 ปีแล้ว สมัยแรกๆ เวลาลงพื้นที่ไปจัดกลุ่มอบรมผู้นำผู้หญิงก็จะเจอผู้ชายถามว่าทำไมไม่มีกลุ่มผู้ชายบ้าง เราก็ตอบไปว่ามีกลุ่มผู้ชายก็ดี ผู้ชายตั้งกลุ่มกันเลย ส่วนที่เราทำกลุ่มผู้หญิงเพราะมีประสบการณ์บางอย่างร่วมในการพูดคุยในการแชร์กัน 

 

ฉะนั้น แก่นของเรื่องคือเราจะรวบรวมคนที่มีประสบการณ์ร่วม และเห็นปัญหาร่วมเพื่อช่วยกันส่งเสียงสิ่งที่เราต้องการในฐานะพลเมืองของรัฐนี้อย่างไร เราจะสร้างนโยบาย หรือออกแบบสังคมใดๆ ที่จะรองรับความหลากหลายได้อย่างไร ถ้าเราอยู่ในสังคมที่เคารพสิทธิ เห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิ เราจะออกกฎหมายและนโยบายเพื่อที่จะคุ้มครองความเป็นธรรมในเรื่องนั้นๆ 

 

ทุกวันนี้ในฐานะทำงานด้านสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศยังมีอีกหลายเรื่องที่บริการของรัฐยังไม่คุ้มครองเรื่องความเป็นธรรมทางด้านเพศและสุขภาพ     

 

นโยบายรัฐที่ผ่านมาไม่มีการวางนโยบายที่มองในมุมความเป็นธรรมเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์อย่างแท้จริง มีแต่แจกยาคุม ถุงยางอนามัย เพราะการวางนโยบายส่วนใหญ่ ยังวางบนฐานการพยายามมุ่งแก้ปัญหาลดโรคระบาด ป้องกันการท้อง  

 

ผู้หญิงมีมดลูก เต้านม รังไข่ ซึ่งต้องการการดูแลเฉพาะด้าน ดังนั้น นโยบายของรัฐมีหรือไม่ ถ้ามีฐานคิดความเป็นธรรมเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ สิ่งนี้จะไม่ถูกละเลย

 

“ในอดีตผู้หญิงเรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง สิทธิเรียนหนังสือ ถึงวันนี้สังคมไทยถึงเวลาที่เสียงผู้หญิงต้องพูดว่าต้องการอะไรในมุมเนื้อตัวร่างกาย ควรได้รับสวัสดิการการดูแลเฉพาะด้าน การดูแลสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์จึงจะเกิดขึ้น” จิตติมากล่าว

 

การเข้าถึงผ้าอนามัยเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น รัฐไทยจะให้ความสำคัญต้องมาพร้อมการศึกษาและมีข้อมูลอย่างเป็นระบบเรื่องการจัดสรรสวัสดิการ        

 

เราจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคน หมายความว่าไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีประจำเดือนจึงจะมีนโยบายนี้ได้ จากการทำงานด้านสุขภาพผู้หญิงมานาน พบว่า กุญแจดอกแรกที่จะทำให้ผู้หญิงปกป้องคุ้มครองสิทธิตัวเองในเรื่องเพศคือต้องให้เขารู้สึกดีกับอวัยวะเพศและร่างกายตัวเองไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาวอย่างไร 

 

ถ้าเราอยู่ในสังคมที่ผ้าอนามัยมีแจกฟรี แปลว่า เรากำลังจะบอกว่า การเป็นประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ เราอยู่ในรัฐที่เห็นความจำเป็นพื้นฐานของผู้หญิง 

 

ถ้าตั้งคำถามว่า ทุกคนไม่ได้มีจิ๋ม ทำไมต้องมีผ้าอนามัยฟรี เป็นการตั้งคำถามที่ผิดทิศทาง และเรื่องนี้ต้องการความมุ่งมั่นตั้งใจในเชิงนโยบายการเมือง หวังว่าพรรคเพื่อไทยจะมุ่งมั่นตั้งใจทำงานทั้งงานข้อมูลงานวิจัยเชิงระบบ เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่หยิบมาเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่ต้องการความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ซึ่งคนเล็กคนน้อยคนได้รับผลกระทบก็รออยู่ว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นได้จริงไหม   

 

วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าอนามัย Ira Concept และผู้รณรงค์การขจัด Period Shaming

 

สร้างแบรนด์ผ้าอนามัยให้เป็นสัญลักษณ์ความเท่าเทียม

 

วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าอนามัย Ira Concept และผู้รณรงค์การขจัด Period Shaming กล่าวว่า สังคมมีความเชื่อที่ปลูกฝังว่าประจำเดือนเป็นของต่ำ เป็นของที่ต้องซ่อน เป็นของที่ไม่ควรพูดถึง เป็นเรื่องที่ต้องจัดการเอง จึงไม่มีความเข้าใจตรงนี้ จะจัดการอย่างไร จะมีใครมาสอน จึงอยากเพิ่มทางเลือกให้ผู้หญิง เป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเองและต่อโลกในการสลายตัว จึงเปิดแบรนด์ผ้าอนามัยนี้ 

 

นอกจากเป็นผ้าอนามัยแล้ว ต้องการให้เป็นสัญลักษณ์ความเท่าเทียมและกระบอกเสียงให้ทุกคนที่มีประจำเดือน จึงต้องทำลายความเชื่อผิดๆ ที่ว่าประจำเดือนต้องซ่อน เพื่อบอกว่าผ้าอนามัยไม่ใช่ของต่ำ ทำไมต้องซ่อน ส่วนตัวมีประสบการณ์ประจำเดือนมาไม่ปกติตอนเป็นประจำเดือนครั้งแรก แต่มารู้ภายหลังว่านั่นคือความผิดปกติเพราะไม่มีการสอนเรื่องนี้ จึงอยากเป็นแหล่งข้อมูลที่คนมาหาข้อมูลได้

 

บางคนรณรงค์บริจาคเป็นเศษผ้าซักได้ แต่จากการลงพื้นที่กับชาวกะเหรี่ยงเขาใช้ไม่ได้ เขาอพยพมา ไม่มีน้ำสะอาดจะซักอย่างไร

 

ส่วนในมุมกฎหมายทุกวันนี้ ผ้าอนามัยยังจัดเป็นหมวดหมู่เครื่องสำอางอยู่ ถ้ายังคิดว่าเป็นเครื่องสำอางก็ทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ในแง่กฎหมาย จึงขอเสนอว่าเราจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ที่ถูกต้องได้หรือไม่ ให้เป็นของจำเป็น 

 

สำหรับแบรนด์ที่ทำผ้าอนามัย อยากให้เขาออกมาช่วยพูดด้วย อยากให้ทุกคนฟังกันเองมากขึ้น ทำความเข้าใจกันเองมากขึ้นว่าคนที่มีมดลูกต้องการอะไร 

 

สำหรับพรรคการเมือง นอกจากฟังประชาชนแล้ว ฟังฝั่งเอกชนที่ทำงานในตลาดนี้มานาน จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีประจำเดือน ถ้าทำงานร่วมกันจะเป็นการแชร์ความรู้ด้วยกัน แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ 

 

โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียน และเจ้าของเพจ ‘เจ้าแม่’

 

มีใครได้ใช้รถถัง เรือดำน้ำ ขณะทุกคนที่มีประจำเดือนต้องใช้ผ้าอนามัย

 

โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียน และเจ้าของเพจ ‘เจ้าแม่’ กล่าวว่า ความเป็นหญิงไม่ใช่เฉพาะคนมีจิ๋ม ขอบคุณพรรคเพื่อไทยที่จัดการพูดคุย เพื่อให้มีการขับเคลื่อนเป็นนโยบายต่อไปในระดับภาครัฐ

 

สำหรับคำถามว่าทำไมผ้าอนามัยต้องฟรี จะเป็นการใช้ภาษีเพื่อคนเฉพาะกลุ่มหรือไม่ 

 

ขอถามว่าคนตรงนี้มีใครได้ใช้เรือดำน้ำไหม มีใครได้ใช้รถถังไหม ไม่มี 

 

“คนอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่ได้ใช้ BTS ไม่ได้ใช้ MRT ในกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นประเด็นคือ ประชาชนมีความต้องการที่ต่างกัน เป็นสิ่งที่พรรคการเมือง รัฐบาล ต้องสนับสนุนสิ่งนี้” โชติรสกล่าว 

 

สิ่งสำคัญคือการเข้าถึงสิทธิในการดูแลรักษาสุขอนามัยเจริญพันธุ์ของตัวเอง ดูแลรักษาสุขภาพของตัวเอง ซึ่งผู้มีประจำเดือนอีกจำนวนมากกำลังขาดแคลนสิ่งนี้ แล้วสิ่งนี้จำเป็น เราจำเป็นต้องขับเคลื่อนเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ เป็นเรื่องถูกต้องที่จะต้องเป็นสวัสดิการฟรี เป็นเรื่องดีที่พรรคเพื่อไทยกำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง นอกจากนั้น การจัดเสวนาแบบนี้ทำให้เสียงที่ไม่ค่อยได้รับการรับฟัง จะได้รับการรับฟังมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising