×

ไขปม ‘แจกฟรี ห้ามจำหน่าย’ แล้วถ้ารับแจกมา จะเอาไปขายต่อได้ไหมนะ?

05.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ‘แจกฟรี ห้ามจำหน่าย’ หลายคนน่าจะเคยสังเกตเห็นข้างหีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่เคยรับแจกมา ซึ่งหากเรานำไปขายต่อ ก็ไม่ถือว่ามีความผิด เพราะของเหล่านั้นถือว่าเราเป็นเจ้าของ ได้กรรมสิทธิ์มาตามกฎหมายแล้ว
  • หากจะไปแจ้งความใคร ว่าเขาเอาของแจกฟรีที่รับแจกมาไปขายต่อ ต้องศึกษากฎหมายอาญาให้ดี เพราะจะเป็นความผิดได้ต้องมีกฎหมายระบุว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นความผิด

     หลายคนน่าจะเคยไปช้อปปิ้ง หรือเดินเล่นตากแอร์ในห้าง และอาจเคยแวะไปเมาท์มอยกับเพื่อนๆ ตามสถานที่ต่างๆ แล้วมีซุ้มผลิตภัณฑ์มาออกบูธ เพื่อโปรโมต โฆษณาสินค้า แถมมีของมาแจกให้ด้วย เป็นประเภทสิ่งของชิ้นละอันพันละน้อย ให้เอาไปทดลองใช้ หรือจับจ่ายแล้วมีโปรโมชันของแถมโน่นนี่ให้เพิ่มเติม

     สิ่งของเหล่านั้น นอกจากจะบรรยายสรรพคุณไว้ข้างขวด ข้างหีบห่อบรรจุภัณฑ์อย่างละเอียดแล้ว เคยสังเกตเห็นข้อความที่เขียนว่า ‘แจกฟรี ห้ามจำหน่าย’ ไว้ที่บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นกันบ้างไหม

     ขอตอบแทนว่า ต้องเคยเห็นแน่ๆ และตอบแทนอีกเหมือนกันว่า หลายคนก็ไม่ทันได้สังเกต

     แต่ประเด็นที่ชวนให้สงสัยตามมา ก็คือข้อความที่เขียนแบบนั้นว่า ‘แจกฟรี ห้ามจำหน่าย’ แล้วถ้าเราในฐานะคนรับแจก รับของแถมมา จะเอาไปขาย หรือทำอะไรก็แล้วแต่ใจของเราได้ไหมหนอ จะมีความผิดอะไรไหมนะ กฎหมายเขาว่าไว้อย่างไร THE STANDARD จะพาไปไขคำตอบนี้โดยพลัน

 

     “เฮ้ย เขาห้ามขายนะ เขาก็เขียนอยู่ชัดๆ ว่า ‘แจกฟรี ห้ามจำหน่าย’ แล้วเอ็งเอามาขายได้ยังไง แบบนี้ก็ผิดเจตนาของคนให้สิ” ประโยคนี้ผู้เขียนผ่านไปเห็นในคอมเมนต์ของสมาชิกบนโลกออนไลน์ท่านหนึ่ง ที่เข้ามาเขียนแสดงความคิดเห็นในกลุ่มที่มีการซื้อขายของมือสอง สะกิดความงุนงงสงสัยให้กับหลายต่อหลายคน กลายเป็นไม่สนใจแล้วว่าผู้ขายขายอะไร แต่สนใจว่า ไอ้ที่เอามาขายนั้นเขามีความผิดหรือไม่ แล้วคนที่ซื้อต่อจะไม่ซวยไปด้วยใช่ไหม

     เดือดร้อนไปตามๆ กันว่า เอาอย่างไรดีทีนี้ บางคนเล่นใหญ่ถึงกับจะไปแจ้งความกันด้วยซ้ำ ในฐานะคนเรียนกฎหมายมาเหมือนกัน ก่อนจะตัดสินอะไรถูกหรือผิด ก็ขอไปกางตำรา เปิดตัวบทกันหน่อยว่าเรื่องนี้มันเป็นอย่างไรกันแน่

     เรื่องนี้ต้องหยิบยกมาเป็น ‘ปัญหาในทางกฎหมาย’ แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าด้วยเรื่องความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ใครให้อะไรมา มาอยู่กับเรามันก็ต้องกลายเป็นของของเราสิ ถูกไหม? อืม คิดได้ แต่ต้องให้กฎหมายช่วยไขปม ยืนยันกันไปชัดๆ อีกที

     ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ลักษณะ 2 หมวดที่ 2 ว่าด้วยแดนแห่งกรรมสิทธิ์ และการใช้กรรมสิทธิ์ มาตรา 1336 บัญญัติว่า

     “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้นกับทั้งมีสิทธิ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

     มาตรานี้พูดถึงความเป็นเจ้าของ การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในของที่เราได้รับมานั่นแหละ ขอกล่าวแบบภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆ

     แล้วคำว่า ‘แจกฟรี ห้ามจำหน่าย’ นั้นแสดงเจตนาถึงใคร อย่างไร

     ผู้สันทัดกรณี ได้อธิบายว่าสองคำนี้ เป็นคำที่บ่งชัดเจนเพื่อแสดงเจตนาว่าต้องการที่จะห้าม ‘ตัวแทนผู้จำหน่าย’ นำสินค้าไปจำหน่าย พูดให้เข้าใจง่ายๆ อีกก็คือ ห้ามเอาไปขายให้ลูกค้า หรือห้ามเอาไปขายให้คนทั่วไปนะ ต้องเอาไปแจก เอาให้ไปฟรีๆ

     ขณะที่ ผู้รับสินค้า หรือคนรับแจก ซึ่งก็คือพวกเรา ประชาชนโดยทั่วไป เมื่อรับแจกผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมา เราก็กลายมาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในของที่เราได้รับแจก คือกลายเป็นเจ้าของไปในทันที

     เราจึงมีสิทธิโดยชอบทุกประการที่จะนำสินค้านั้นไปขาย หรือ จำหน่ายได้ ตามหลักแดนแห่งกรรมสิทธิ์ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติไว้

     เช่นนี้แล้ว เมื่อพวกท่านทั้งหลายไปรับแจกสินค้ามา ซึ่งเขายิ้มแย้มยินดีที่จะให้เรา ภาษากฎหมายเขาเรียกการให้แบบนี้ว่า ‘เป็นการให้โดยเสน่หา’ เมื่อได้รับของเหล่านั้นมาแล้ว กฎหมายก็จะยกให้เราเป็น ‘ผู้ทรงกรรมสิทธิ์’ เมื่อได้สถานะนี้แล้ว เราจึง มีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ขายทรัพย์สินนั้นได้ตามแต่สะดวกโยธิน

     ส่วนคำที่ระบุว่า ‘แจกฟรี ห้ามจำหน่าย’ นั้น ก็ย่อมมีความหมายที่สามารถอธิบายในตัวของมันด้วยเช่นกันว่า ผู้รับของแจก หรือ เมื่อลูกค้าซื้อสินค้า แล้วได้ของแถมเป็นโปรโมชันเสริม ลูกค้าสามารถรับสินค้าไปได้ฟรีๆ ไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ตัวแทนของผู้ขายแต่อย่างใด

     และในทางกลับกัน หากตัวแทนของผู้จำหน่าย เอาของที่ระบุว่า แจกฟรี มาจำหน่าย ก็ย่อมผิดตามสัญญา ที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ และ ตัวแทนจำหน่าย ได้ตกลงกันไว้ เป็นเรื่องของสองฝ่ายนี้เท่านั้น คนรับแจกของไม่ได้เกี่ยวด้วยแต่อย่างใด

     แถมต่อให้เขียนว่า ห้ามคนรับแจก เอาไปจำหน่ายต่อ ก็ไม่มีความผิด เพราะ แดนกรรมสิทธิ์ ได้โอนมาเป็นของผู้รับแจกแล้ว จะมาห้ามให้เราทำแบบนี้ไม่ได้ การตั้งกฎเกณฑ์แบบนี้เป็นเรื่องฝ่ายเดียว ไม่ได้ผูกพันก่อตั้งเป็นนิติสัมพันธ์ทางกฎหมายแต่อย่างใด

     หากจะกล่าวให้ละเอียดลงไปอีก การที่จะห้ามนำสิ่งของไปจำหน่ายจ่ายแจกได้ ต้องมีกฎหมายเขียนห้ามไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องพวกนี้เราเข้าใจได้อยู่แล้ว เพราะ ของพวกนั้นมักจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แม้แต่ครอบครองยังทำไม่ได้ เช่น สิ่งเสพติด เป็นต้น หรือจะให้ใกล้ตัวหน่อยก็คือ บุหรี่ซอง ที่มีกฎหมายห้ามแบ่งขายแบบมวน แต่นั่นเป็นเรื่องกฎหมายห้าม ไม่ใช่กรณีรับแจก

     ส่วนที่เป็นเรื่องใหญ่ ถึงขนาดมีคนบอกว่าจะไปแจ้งความนั้น จะกลายเป็นเรื่องความรับผิดทางอาญาขึ้นมา ซึ่งต้องย้อนกลับไปดูว่า มีกฎหมายระบุไว้หรือไม่ว่า การรับของแจกฟรีตามห้าง หรือของให้ฟรี ที่ไม่ใช่ของผิดกฎหมายเหล่านั้น แล้วเอาไปขายต่อเป็นความผิด เมื่อไม่มีกฎหมายระบุไว้ว่าเป็นความผิด ก็ย่อมไม่มีโทษ เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ได้บัญญัติไว้ว่า

     บุคคลจักต้อง ‘รับโทษในทางอาญา’ ต่อเมื่อได้กระทำการ อันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

     ส่วนประเภทที่เขาแจกของฟรี เพื่อช่วยเหลือเป็นจิตสาธารณะ แต่ทำนิสัยไม่ดี หากินบนความทุกข์คนอื่น มาเที่ยวเวียนเทียนรับของ นำไปกักตุนเพื่อเอาออกขาย ก็เป็นเจตนาไม่บริสุทธิ์อยู่แล้ว นอกจากขาดจิตสำนึก เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็จะต้องจัดการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

     แต่ถ้าไม่ได้ไปขโมยของใครมา เขาให้เพราะเอ็นดูรักใคร่ หรือแจกจ่ายให้ฟรีกับประชาชนทั่วไปแล้ว จะไปขายต่อ ทำอะไร ก็เป็นสิทธิของเราทั้งนั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising