เหตุล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองตกจากราง
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง หรือที่เรียกกันตามฉายาที่ยกให้ว่า ‘น้องเก๊กฮวย’ เนื่องจากมีสีของรถไฟฟ้าที่คล้ายกับสีเหลืองของดอกเก๊กฮวย โดยเปิดใช้ครั้งแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองตกเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง หลังวานนี้ (2 มกราคม) เกิดเหตุล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองตกจากราง บริเวณถนนเทพารักษ์ กิโลเมตรที่ 3 หรือระหว่างสถานีศรีเทพากับสถานีศรีด่าน ส่งผลให้รถแท็กซี่ได้รับความเสียหาย
ก่อนที่ในเวลาต่อมาของวันเดียวกัน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุดังกล่าว
สุริยะกล่าวว่า หากตรวจพบว่าเป็นความบกพร่องของเอกชนในเรื่องของการบำรุงรักษาไม่ดี หรือมีความรับผิดชอบไม่เต็มที่ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อจัดทำสมุดพกสำหรับตัดคะแนนบริษัทเอกชน หรือพิจารณาขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์ ห้ามไม่ให้บริษัทที่ถูกตัดคะแนนร่วมประมูลโครงการของรัฐบาลที่มีในอนาคต เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาหลักเกณฑ์ภายใน 2 เดือน
สายสีเหลืองวิ่งฟรี 3-5 มกราคม แต่ปรับความถี่ช้าถึง 55 นาที
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (3 มกราคม) รถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้ออกประกาศแจ้งผู้โดยสารว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังคงให้บริการตามปกติ แต่มีการปรับความถี่ในการเดินรถเป็นทุก 30-55 นาที เพื่อตรวจสอบสภาพรถไฟฟ้าทุกขบวน และจะวิ่งให้บริการฟรี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3-5 มกราคม พร้อมแจ้งผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าให้พิจารณาและวางแผนการเดินทางให้เหมาะสม
ช่างภาพ THE STANDARD ลงพื้นที่เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลายสถานี เนื่องจากมีการปรับความถี่ของการให้บริการ พบว่าประชาชนใช้บริการหนาแน่นในหลายสถานี ขณะที่บางส่วนยังกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่หลายคนก็มั่นใจที่จะใช้บริการ และเชื่อว่าจะมีการปรับปรุงไม่ให้เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของคนในประเทศและต่างประเทศด้วย
ไม่ถึง 1 เดือน เกิดเหตุกับรถไฟฟ้าแล้ว 3 รอบ
อย่างไรก็ตาม ภายในรอบไม่ถึง 1 เดือน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 เกิดอุบัติเหตุเหล็กเส้นของไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง บริเวณถนนตากสิน ตรงข้ามตลาดเงินวิจิตร หล่นทับคนงานเสียชีวิต
ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เกิดเหตุรางจ่ายไฟฟ้ารถไฟฟ้าสายสีชมพูร่วงหล่น เป็นทางยาวกว่า 5 กิโลเมตร บริเวณหน้าตลาดกรมชลประทาน ถนนติวานนท์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี รถยนต์ประชาชนเสียหาย เสาไฟฟ้าโค่น
และล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา กับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองตามรายงานดังกล่าวข้างต้น
สายสีเหลืองวิ่งไปไหนบ้าง
สำหรับแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินระยะแรก) ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนลาดพร้าว โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาของกรุงเทพมหานครที่แยกฉลองรัช และยกระดับข้ามทางด่วนฉลองรัชจนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทางแยกลำสาลี
ต่อจากนั้นแนวเส้นทางจะยกระดับข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา
จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาอีกครั้งไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย
รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 23 แห่ง โรงจอดรถศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อาคารและลานจอดแล้วจร 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม
อ้างอิง: