×

ปลอดโควิด vs. อยู่ร่วมกับโควิด 2 แนวคิดควบคุมโควิดของประเทศต่างๆ

07.09.2021
  • LOADING...
covid control concept

covid control concept

 

‘การควบคุมโควิด-19 ได้สำเร็จ’ หมายถึงอะไร น่าจะเป็นคำถามทิ้งท้ายสำหรับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) หากเป็นไปตามกระแสข่าวที่จะมีการยุบ ศบค. ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แล้วเปลี่ยนไปใช้กฎหมายปกติอย่าง พ.ร.บ. โรคติดต่อแทน แต่ถึงอย่างไรคำถามนี้ก็เป็นคำถามสำคัญสำหรับประชาชนที่จะต้องตกลงคำตอบร่วมกัน

 

ซึ่งหากศึกษาเป้าหมายในการควบคุมโควิดในต่างประเทศจะแบ่งออกเป็น 2 ค่ายหรือแนวคิดที่แตกต่างกัน คือ 1. แนวคิดปลอดโรคโควิด (Zero COVID) เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน จีน และ 2. แนวคิดอยู่ร่วมกับโรคโควิด (Living with COVID) เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ส่วนไทยในปี 2563 ใช้แนวคิดแรก ในขณะที่ปีนี้ ศบค. ประกาศแล้วว่าจะใช้แนวคิดที่ 2

 

ทั้ง 2 แนวคิดมีจุดแข็ง-จุดอ่อนอะไรบ้าง?

 

#แนวคิดปลอดโรคโควิด มองโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ (Emerging disease) ที่จะต้องป้องกันไม่ให้โรคเข้าประเทศ (Prevention of importation) เช่น การควบคุมชายแดน การจำกัดพื้นที่ระบาด (Containment) เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำจนอยู่ภายในขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องหรือแม้กระทั่งการกำจัดโรค (Elimination) ในระยะยาว

 

ตัวอย่างประเทศที่ใช้แนวคิดนี้คือ จีน เมื่อปีที่แล้วสามารถกำจัดโรคได้จนประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติภายในประเทศได้เป็นระยะเวลานาน และเมื่อพบการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในหลายเมืองก็ยังสามารถกำจัดโรคได้ โดยใช้การล็อกดาวน์ร่วมกับมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นจนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เป็น 0 และสามารถกลับมาเปิดเมืองได้อย่างปลอดภัยในขณะนี้

 

#แนวคิดอยู่ร่วมกับโควิด มองโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic disease) ที่ไม่สามารถกำจัดให้หมดไปหรือควบคุมการแพร่เชื้อให้อยู่ในระดับต่ำได้ จึงต้องลดการระบาดและลดผลกระทบของโรคระบาด (Mitigation) แทน เพื่อลดอัตราป่วยเสียชีวิต (Case-fatality rate) ซึ่งมีเครื่องมือที่สำคัญคือการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิผลและครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และไม่สนใจจำนวนผู้ติดเชื้อ

 

ตัวอย่างประเทศที่ใช้แนวคิดนี้คือ สิงคโปร์ แต่ก่อนที่จะประกาศใช้แนวคิดอยู่ร่วมกับโควิด สิงคโปร์ได้เตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศล่วงหน้าหลายเดือนด้วยมาตรการจำกัดพื้นที่ระบาด พร้อมกับการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลมาฉีดให้ครอบคลุมจนสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมาอยู่ภายใต้ขีดจำกัดของระบบสาธารณสุข และเริ่มผ่อนคลายมาตรการให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ

 

จุดแข็งของแนวคิดอยู่ร่วมกับโควิดคือต้นทุนในการควบคุมโรคน้อยกว่า เพราะมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้น เช่น การควบคุมชายแดน การล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทว่าต้นทุนนี้เป็น ‘ต้นทุนระยะสั้น’ กลายเป็นจุดอ่อนตรงที่หากประเมิน ‘ต้นทุนระยะยาว’ แนวคิดอยู่ร่วมกับโควิดจะมีค่าใช้จ่ายทั้งทางการแพทย์และทางสังคมเพิ่มเติม ได้แก่

 

  • การเตรียมระบบบริการสาธารณสุขเพื่อรองรับผู้ป่วย เช่น ICU และไม่ให้กระทบกับผู้ป่วยโรคอื่น
  • ภาระโรคจากภาวะลองโควิด (Long COVID) 
  • ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่อาจต้องกลับมาล็อกดาวน์ซ้ำอีก
  • ความอ่อนล้าของประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการ (Fatigue of adherence)
  • และอาจทำให้ ‘ทิ้งใครหลายคนไว้ข้างหลัง’ ที่ไม่ได้มีความสามารถในการปรับตัวได้ในระยะสั้น (Socioeconomic inquality)

 

‘การควบคุมโควิด-19 ได้สำเร็จ’ หมายถึงอะไร เป็นคำถามสำคัญที่ ศบค. และประชาชนจะต้องตกลงร่วมกัน เมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังไม่ลดลงมาอยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ จำนวนผู้เสียชีวิตยังคงสูงอยู่ และยังมีสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเพียง 15% จึงยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดซ้ำและอาจต้องใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นอีกครั้ง

 

หากต้องการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีความเสี่ยงจากการรับผู้ติดเชื้อรายใหม่และเชื้อกลายพันธุ์ นอกจากการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนให้เร็วที่สุดแล้ว มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นในระยะสั้นเพื่อลดการระบาดในชุมชนตามแนวคิดการกำจัดโรคหรือการจำกัดพื้นที่ระบาดยังคงเป็นนโยบายที่มีความสำคัญในขณะนี้ และจำเป็นต้องนำมาตรการเหล่านี้มาใช้อย่างทันท่วงที

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X