เกิดอะไรขึ้นกับอินเดีย? Foxconn ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ Apple ถอนลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิปจากโครงการร่วมทุนกับ Vedanta ที่มีมูลค่า 1.95 หมื่นล้านดอลลาร์ และบางโครงการ Big Tech ล่าช้า จนทำให้หลายบริษัทยุติแผน อาจสะเทือนสถานะว่าที่ประเทศมหาอำนาจด้านการผลิตไฮเทคระดับโลก และ Silicon Valley ของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย
ปลายปีที่ผ่านมาสมรภูมิแย่งชิงชิปร้อนแรงกระทั่งบริษัทผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่จากไต้หวันอย่าง Foxconn และ Vedanta ประกาศร่วมลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิปในอินเดีย ว่ากันว่าเป็นการลงทุนครั้งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศ โดยอินเดียคว้าโอกาสมาได้ในช่วงวิกฤตขาดแคลน บวกกับไต้หวันมีปัญหากับจีน ทำให้ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย อาศัยช่วงชุลมุนเร่งผลักดันประเทศให้เป็น Silicon Valley
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า Foxconn Technology Group ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ Apple ถอนตัวออกจากโครงการร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท Vedanta ของอินเดีย มูลค่า 1.95 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยการตัดสินใจครั้งนี้เกิดจากข้อตกลงร่วมกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ก่อนหน้านี้บริษัทเทคหลายรายจากสหรัฐอเมริกา รวมถึง Apple ได้ผลักดันให้ซัพพลายเออร์กระจายห่วงโซ่อุปทานให้หลากหลายนอกเหนือจากจีน เนื่องจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม Rajeev Chandrasekhar รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงไอทีของอินเดีย กล่าวว่า การตัดสินใจถอนการลงทุนของ Foxconn ไม่ส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาของอินเดีย ซึ่งทั้งสองต่างเป็นนักลงทุนที่ทรงคุณค่าและสำคัญต่อประเทศ
สำนักข่าว Reuters รายงานอ้างอิงจากแหล่งข่าวของรัฐบาลว่า สาเหตุเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการอนุมัติ โดยมาตรการจูงใจของรัฐบาลอินเดียที่มีส่วนทำให้ Foxconn ตัดสินใจถอนตัวออกจากกิจการ รวมถึงการประเมินค่าใช้จ่าย ท่ามกลางเป้าหมายที่ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ให้ความสำคัญกับการเป็นผู้นำการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Chip) และมุ่งมั่นเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตไฮเทคระดับโลก และถือเป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของอินเดียเพื่อแสวงหาเศรษฐกิจยุคใหม่
ดังนั้นการเข้ามาของ Foxconn ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของเขาในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาตั้งฐานผลิตเพื่อป้อนให้กับซัพพลายเออร์รายใหญ่อย่าง Apple ในประเทศเป็นครั้งแรก
ทว่าข้อตกลงนี้ล้มเหลวและแสดงถึงความพ่ายแพ้ในการผลักดันนโยบาย ‘Make in India’
เปิดสาเหตุถอนการลงทุน
สำหรับ Foxconn เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วน iPhone และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของ Apple โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ขยายและกระจายการลงทุน ออกจากไต้หวัน จึงมองมายังอินเดียและเกิดการร่วมทุนระหว่าง Vedanta-Foxconn ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา โดยได้ประกาศแผนการผลิตชิปในรัฐคุชราต ซึ่ง นเรนทรา โมดี เรียกโครงการนี้ว่าเป็นแผนสำคัญสำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตชิปของอินเดีย
แต่แผนการของเขากลับดำเนินไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางปัญหาอื่นๆ กระทั่ง Vedanta-Foxconn ถอนโครงการ คาดว่าเพื่อให้ผู้ผลิตชิปในยุโรป STMicroelectronics บริษัทที่เกิดจากการควบรวมของบริษัทอิตาลี (SGS) และฝรั่งเศส (Thomson) ที่เป็นหุ้นส่วนทางเทคโนโลยี เข้ามามีส่วนร่วม โดยรัฐบาลอินเดียได้แสดงอย่างชัดเจนว่าต้องการให้บริษัทในยุโรปเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
อินเดียประเมินว่าตลาดเซมิคอนดักเตอร์จะมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2569 โดยปีที่แล้วมีคำขอโครงการเข้ามามูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากพันธมิตรอย่าง Vedanta-Foxconn, IGSS Ventures ในสิงคโปร์ และกลุ่ม ISMC บริษัทระดับโลก มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ แต่ก็หยุดชะงักเนื่องจาก Intel เข้าซื้อกิจการ ในขณะที่แผนอีก 3 พันล้านดอลลาร์ โดย IGSS ก็หยุดลงไปเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียยังคงมั่นใจว่าจะดึงดูดบริษัทผู้ผลิตชิปให้เข้ามาลงทุนได้ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว Micron ยืนยันจะลงทุนสูงถึง 825 ล้านดอลลาร์ในหน่วยทดสอบชิปและบรรจุภัณฑ์ แต่ไม่ใช่เพื่อการผลิต ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางของอินเดียและรัฐคุชราต
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2023/07/10/apple-supplier-foxconn-pulls-out-of-19point5-billion-india-chip-project.html
- https://www.reuters.com/technology/foxconn-pulls-out-india-chip-jv-with-vedanta-2023-07-10/
- https://www.cnbctv18.com/technology/foxconn-vedanta-semiconductor-ashwini-vaishnaw-rajeev-chandrasekhar-make-in-india-pm-modi-17176071.htm