วันนี้ (6 มีนาคม) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบุว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวน 1 ราย และรอผลยืนยันอีก 1 ราย เป็นแรงงานนอกระบบจากเกาหลีใต้
โดยผู้ป่วยยืนยันรายที่ 48 เป็นชายชาวอังกฤษ อายุ 43 ปี อาชีพที่ปรึกษาบริษัท เดินทางมาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ระหว่างทางได้เปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ มีเสมหะ ส่งตัวรักษาต่อที่สถาบันโรคทรวงอก
ในส่วนการคัดกรองกลุ่มแรงงานนอกระบบจากเกาหลีใต้ พบหญิงไทยอายุ 30 ปี ตรวจพบอาการไข้ได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวานนี้ (5 มีนาคม) ส่งมารักษาตามระบบที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบเชื้อจากห้องปฏิบัติการ 1 แห่ง อยู่ระหว่างการยืนยันจากห้องปฏิบัติการอีกแห่ง
สรุปวันนี้มีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 31 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 48 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 รายที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่ยังอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้สถานการณ์ยอดผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 24 ของโลก
ในส่วนการดูแลแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แจ้งมาตรการรองรับแรงงานไทยกลุ่มดังกล่าว ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลแรงงานไทยกลุ่มนี้ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีแนวทางการดำเนินงานดังนี้
1.คัดกรองที่ท่าอากาศยาน (Entry Screening) หากผู้เดินทางมีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับมีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย อย่างใดย่างหนึ่ง จะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาตามระบบ กรณีตรวจไม่พบไข้ หากเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เกาหลีใต้ (เมืองแทกูและคยองซังเหนือ) เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านฯ จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม นำตัวเข้ารับการกักกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ณ พื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐบาลกำหนด ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอื่นจะส่งไปยังสถานที่หรือพื้นที่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยการกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.การนำตัวผู้เดินทางไปยังพื้นที่ควบคุมโรค รวมถึงการกำหนดพื้นที่ควบคุมโรค หรือสถานที่ หรือพื้นที่ที่กำหนด ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด
3.การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคต้องไม่น้อยกว่า 14 วัน ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามพระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตลอดจนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า