อดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เตือนว่าที่ผู้ว่า BOJ คนใหม่ว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินต่างๆ ก่อนเวลาอันควร เสี่ยงดึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับสู่ยุคเงินฝืดอีกครั้ง
คิคุโอะ อิวาตะ (Kikuo Iwata) อดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เตือนว่า การเปลี่ยนนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) หรือ YCC ก่อนบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อ เสี่ยงที่จะผลักดันญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ภาวะเงินฝืด พร้อมแนะว่าไม่ควรรีบเลิกใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ
“เนื่องจากเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อยั่งยืนที่ 2% ยังไปไม่ถึง การทบทวนนโยบาย YCC ก่อนเวลาอันควรจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง” อิวาตะกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ NHK ในวันนี้ (19 กุมภาพันธ์)
เมื่อต้นที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ได้เสนอชื่อ คาซุโอะ อูเอดะ ให้ดำรงตำแหน่งผู้นำ BOJ คนต่อไป ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้ตลาด โดยบางฝ่ายวิเคราะห์ว่า คิชิดะมีแนวโน้มว่าจะมอบหมายภารกิจที่ยากลำบาก นั่นคือการถอนคันเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้มานานกว่าทศวรรษ
อิวาตะกล่าวอีกว่า ตนกังวลว่าการปรับเปลี่ยนมาตรการ YCC โดยปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดอาจจะทำให้ส่วนต่างระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นแคบลง และนั่นจะทำให้เงินเยนแข็งค่ามากเกินไปและสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ และทำให้เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% อยู่ไกลออกไป
ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นแตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนธันวาคมจากปัจจัยชั่วคราว
ตามผลสำรวจโดย Bloomberg 70% ของนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า BOJ จะใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นภายในเดือนกรกฎาคม ขณะที่มากกว่าครึ่งก็มองว่า BOJ จะเลิกใช้ YCC ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันในการเคลื่อนไหวครั้งต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ต้องรีบซื้อตุน? เหตุยุค ‘เงินเยน’ อ่อนค่าอาจจบแล้ว! หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ แผ่วกว่าคาด ดึงดอลลาร์อ่อน
- ราคาห้องพักและโรงแรมใน ญี่ปุ่น พุ่งขึ้นแล้ว 10-20% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและเงินเฟ้อ
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
อ้างอิง: