ก่อนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะมีขึ้นในวันนี้ (26 มกราคม) ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับความชัดเจนในประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยและถอนสภาพคล่องออกจากตลาด
ทั้งนี้ ก่อนที่การประชุมจะมีขึ้น นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นหลักๆ ของเอเชีย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินเดีย ได้ขายลดพอร์ตบางส่วนออกมา ทำให้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ต่อเนื่องมาจนถึงสัปดาห์นี้ นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิออกมาแล้ว 4.9 พันล้านดอลลาร์ และ 3.1 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ โดยแรงขายที่เกิดขึ้นมีมูลค่ามากที่สุดนับแต่เดือนสิงหาคม 2021
“ความเสี่ยงเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ (รัสเซียและยูเครน) อาจจะทำให้ต้นทุนพลังงานสูงต่อเนื่องในระยะสั้น ด้วยความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นเม็ดเงินไหลออก” Lorraine Tan ผู้อำนวยการฝ่าย Asia Equity Research ของ Morningstar กล่าว
ขณะที่ดัชนี MSCI Asia Pacific ลดลงกว่า 5% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด รวมถึงความตึงเครียดในยูเครน ทั้งนี้ ดัชนีของไต้หวันและเกาหลีใต้เป็นสองตลาดที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากสัดส่วนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่สูง
“นักลงทุนต่างชาติดูเหมือนจะเริ่มลดสถานะในสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากประเมินว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยแน่ๆ” Hyun Choi หัวหน้าฝ่ายตราสารทุนของ Baring Asset Management เกาหลีใต้ กล่าว “ตลาดน่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อปรับพอร์ตให้เข้ากับสภาพตลาดที่มีสภาพคล่องเปลี่ยนแปลงไป”
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วนหุ้นเทคโนโลยีน้อย ทำให้กระแสเงินลงทุนต่างชาติยังเป็นบวกอยู่เล็กน้อย
อ้างอิง: