บทความตอนนี้จะฉายภาพใหญ่ว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล โจ ไบเดน ที่ได้ประกาศออกมานั้นมีอะไรบ้าง หลังจากนั้นบทความตอนต่อไปจะเน้นวิเคราะห์นโยบายต่อจีน ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องใหญ่สุดของไบเดน เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากในสมัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้อะไรจากจีนบ้าง ในส่วนของไบเดนถึงแม้จะไม่ได้เอิกเกริกมากนัก แต่ลึกๆ แล้วก็คงจะคิดไม่ต่างจากทรัมป์ว่า จีนคือ ‘ศัตรูหมายเลขหนึ่ง’
เป้าหมายหลักของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ คือ การเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นผู้นำโลก เป็นเจ้าครองโลก ไม่ว่าจะเป็นไบเดนหรือทรัมป์ เป้าหมายหลักตรงนี้ก็จะไม่เปลี่ยน คืออเมริกาต้องเป็นผู้นำโลก อเมริกาต้องเป็นศูนย์กลางโลก อเมริกาต้องเป็น Hegemon หรือเป็นผู้ครอบครองโลก ส่วนที่จะต่างกันระหว่างทรัมป์กับไบเดน คือวิธีการที่จะครอบครองโลก วิธีการที่อเมริกาจะเป็นผู้นำโลก วิธีการที่อเมริกาจะเป็นเจ้าครองโลก
นโยบายต่างประเทศของไบเดนในภาพรวม
อุดมการณ์ทางการเมือง
ไบเดนเป็นพวกสายกลาง ไม่ซ้ายจัด ไม่ขวาจัด พยายามเดินอยู่ตรงกลาง ดังนั้นนโยบายของไบเดนตลอดระยะเวลาที่อยู่ในการเมืองอเมริกัน เขาก็เดินสายกลางมาตลอด ในขณะที่ทรัมป์ขวาจัด แต่ไบเดนเป็น ‘ลิเบอรัล’ เป็นเสรีนิยม แต่ก็ไม่ลิเบอรัลจัด หรือเสรีนิยมจัด ดังนั้นเขาจะมองอะไรเป็นแบบ Practical คือทำอะไรที่ทำได้ อะไรที่เป็นไปได้ ไม่เพ้อฝัน
Grand Strategy
ในสมัยของทรัมป์จะเน้นในเรื่องของการให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ส่วนของไบเดนจะอ่อนลงมา คือแค่ให้อเมริกาเป็นผู้นำโลก เป้าหมายหลักของนโยบายต่างประเทศไบเดนคือ อเมริกาต้องกลับมาเป็นผู้นำโลกอีกครั้งหนึ่ง ‘America Must Lead Again’ แต่ของทรัมป์จะสุดโต่ง คือ ‘Make America Great Again’
เครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
ไบเดนจะใช้เครื่องมือพหุภาคีในเวทีระหว่างประเทศ ใช้พันธมิตรในการดำเนินโยบายต่างประเทศ ในขณะที่ทรัมป์ใช้นโยบายแบบเอกาภาคีนิยม หรือ Unilateralism คืออเมริกาลุยเดี่ยว ‘Go It Alone’
สำหรับการใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศนั้น สมัยของทรัมป์ไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่ไบเดนพูดหลายครั้งว่า การใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ จะมีขีดจำกัด ถือเป็นเครื่องมือสุดท้ายในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
เครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ไบเดนให้ความสำคัญที่สุด คือเครื่องมือทางการทูต การเจรจา เป็นยี่ห้อของนโยบายต่างประเทศของเดโมแครตมาโดยตลอด นโยบายต่างประเทศจะต้องยึดมั่นในการทูตและการเจรจาเป็นหลัก
นอกจากนี้ไบเดนยังให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ มาเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วย
บทบาทขององค์กรโลก
ในสมัยของทรัมป์ สหประชาชาติ หรือ UN ถูกลดบทบาทลงอย่างมาก แต่ในสมัยของไบเดนมีแนวโน้มว่าอเมริกาจะกลับมาร่วมมือกับสหประชาชาติมากขึ้น เวทีพหุภาคีอื่นๆ เช่น นาโต อาเซียน จะมีความสำคัญมากขึ้น
พันธมิตร
ไบเดนคงจะให้ความสำคัญกับพันธมิตรมากขึ้น ซึ่งในสุนทรพจน์ของไบเดนที่ประกาศนโยบายต่างประเทศก็ได้พูดไว้ชัดว่า “พันธมิตรของอเมริกาคือ แคนาดา, เม็กซิโก, อังกฤษ, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, นาโต, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย” ชี้ให้เห็นว่า อเมริกาน่าจะกลับมาให้ความสำคัญกับพันธมิตรหลัก ซึ่งพันธมิตรหลักของอเมริกาคือประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศตะวันตกทั้งหมด รวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่วนไทยเป็นประเทศเล็กไม่ได้มีความสำคัญเท่าใดนัก ไบเดนไม่ได้พูดถึงไทยและอาเซียนในสุนทรพจน์เลย
ปัญหาโลก
เรื่องความร่วมมือกับชาวโลกเพื่อแก้ปัญหาโลกนั้น สมัยของทรัมป์คือไม่เอาเลย แต่ในสมัยของไบเดน เขากล่าวในสุนทรพจน์ว่า อเมริกาจะกลับมาเป็นผู้นำโลกในเรื่องของสิ่งแวดล้อม จะกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสในเรื่องภาวะโลกร้อน จะให้ความร่วมมือเต็มที่กับองค์การอนามัยโลกหรือ WHO อีกทั้งจะให้ความร่วมมือเกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ และจะให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรม
ประชาธิปไตย: ในสุนทรพจน์และบทความที่ไบเดนเขียนตอนหาเสียงเลือกตั้ง เขาได้เน้นมากว่าอเมริกาจะต้องกลับมาส่งเสริมประชาธิปไตย เขาเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นหลักการที่สำคัญมาก และไบเดนจะจัดการประชุมสุดยอดของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย คือ Summit of Democracies
ภาวะโลกร้อน: อีกเรื่องที่ไบเดนให้ความสำคัญคือ ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญเลย ในขณะที่ไบเดนโจมตีทรัมป์มาโดยตลอดในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งและในช่วงของการดีเบต ไบเดนเน้นมากว่าจะกลับไปให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก จะให้อเมริกากลับมาเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และจะจัดประชุมสุดยอดในเรื่องของสิ่งแวดล้อมโลกขึ้น
อาวุธนิวเคลียร์: อีกเรื่องคือปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งไบเดนเน้นว่ามีความสำคัญและจะต้องมีการจัดประชุมเพื่อลดกำลังอาวุธนิวเคลียร์
อิหร่าน: ในสมัยที่ บารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดี และไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี เขามีผลงานชิ้นโบว์แดงด้านการต่างประเทศ คือการจัดทำข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่านในปี 2015 แต่ต่อมาทรัมป์ก็ฉีกข้อตกลงดังกล่าวทำให้เกิดวิกฤตอิหร่านอีกครั้ง แต่ไบเดนสัญญาว่าเขาจะกลับมาเจรจากับอิหร่านอีกครั้ง
เกาหลีเหนือ: ไบเดนพูดว่าจะใช้ ‘Iran Model’ มาเจรจากับเกาหลีเหนือ โดยจะพยายามจัดทำข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ
ตะวันออกกลาง: โดยเฉพาะปัญหาปาเลสไตน์ ไบเดนคงจะไม่เข้าข้างอิสราเอลเหมือนในสมัยของทรัมป์
รัสเซีย: ไบเดนน่าจะแข็งกร้าวกับรัสเซียมากขึ้น คนอเมริกันขณะนี้ไม่ชอบทั้งจีนและรัสเซีย ดังนั้นนโยบายของไบเดนก็จะแข็งกร้าวต่อรัสเซียด้วย ไบเดนบอกว่าจะต้องดำเนินนโยบายคว่ำบาตรรัสเซียต่อไป แต่จะใช้เวทีพหุภาคี ใช้พันธมิตรนาโตในการกดดันรัสเซีย ดังนั้นนโยบายต่างประเทศของไบเดนต่อรัสเซียจะเป็นนโยบายที่เรียกว่า ‘Congagement’ คือ Containment กับ Engagement ปิดล้อมด้วย ปฏิสัมพันธ์ด้วย ซึ่งจะเป็นนโยบายหลักต่อจีนด้วยในสมัยของไบเดน
จีน: ส่วนเรื่องจีนถือเป็นเรื่องใหญ่ อเมริกามองว่าจีนเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง โดยในสุนทรพจน์ของไบเดน เขาบอกว่าจีนเป็น ‘most Serious Competitor’ เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด ท่าทีของเขาในสุนทรพจน์เป็นท่าทีที่แข็งกร้าวต่อจีนมาก ไบเดนบอกว่าจีนดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เอาเปรียบ มีนโยบายที่ก้าวร้าว ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายโลกาภิบาลหรือทำลายองค์กรโลก
นโยบายการค้า
แม้ว่าไบเดนจะมีท่าทีสนุบสนุนโลกาภิวัตน์ สนับสนุนเขตการค้าเสรีมากกว่าทรัมป์ก็ตาม แต่ปัจจัยภายในก็ยังแรงอยู่กับแนวโน้มที่คนอเมริกันไม่ชอบโลกาภิวัตน์และต่อต้านเขตการค้าเสรี (FTA) ดังนั้นไบเดนก็คงจะลำบากที่จะเดินหน้าเจรจาเขตการค้าเสรีอย่างเช่นการเจรจา CPTPP
ภาพ: Alex Wong / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ