×

เปิดทางให้ต่างชาติซื้อบ้านในไทย โอกาสทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับคำถาม

โดย THE STANDARD TEAM
21.09.2021
  • LOADING...
เปิดทางให้ต่างชาติซื้อบ้านในไทย

หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแบบระยะยาว พร้อมกับสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ได้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้จากแหล่งใหม่ รวมถึงเป็นการดึงชาวต่างชาติที่มีความสามารถเข้ามาอยู่ในประเทศเพื่อถ่ายทอดทักษะต่างๆ 

 

โดยการออกวีซ่าผู้พำนักระยะยาว เป็นการกำหนดวีซ่าประเภทใหม่เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง และต้องการเป็นผู้พำนักอาศัยในไทยระยะยาว 4 กลุ่ม ได้แก่

 

  1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen)
  2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioner)
  3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work from Thailand Professional)
  4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (Highly Skilled Professional) 

 

สำหรับสิทธิประโยชน์จากการแก้ไขกฎระเบียบของไทยที่ชาวต่างชาติทั้ง 4 กลุ่มเป้าหมายจะได้รับจากมาตรการนี้ ประกอบด้วย

 

  1. สิทธิประโยชน์ วีซ่าผู้พำนักระยะยาวใหม่ อายุ 10 ปี รวมถึงผู้ติดตาม หรือคู่สมรสและบุตร
  2.  ยกเว้นไม่ต้องไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุก 90 วัน
  3. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ
  4. สามารถถือครองห้องชุดและบ้านจัดสรรในโครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่ที่กำหนด

 

โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยดึงดูดชาวต่างชาติกลุ่มมั่งคั่งจำนวน 1 ล้านคน ให้ย้ายถิ่นฐานมาพำนักอาศัยในประเทศไทยภายในระยะเวลา 5 ปีงบประมาณ (พ.ศ. 2565-2569) ของการดำเนินมาตรการ และหากเป็นไปตามเป้าหมายจะช่วยเพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ 1-2.5 แสนล้านบาท บนสมมติฐานการใช้จ่ายในประเทศเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี

 

แต่ยังคงมีคำถามและความกังวลจากหลายฝ่าย รวมถึงภาคประชาชน ทั้งเรื่องการเปิดให้คนต่างชาติถือครองอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นว่าอาจกลายเป็นการผูกขาด หรือเกิดการกว้านซื้อเพื่อมาเก็งกำไรกับคนไทยหรือไม่ รวมถึงคำถามอื่นๆ ที่ตามมา ในขณะที่นโยบายรัฐยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนมากนัก

 

  1. ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ THE STANDARD NOW ว่าขณะนี้ภาพรวมการถือกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติในไทยยังไม่ถึง 49% ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยเฉพาะยูนิตที่มีราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท มีไม่ถึง 10% ที่คนต่างชาติถือครองอยู่ ส่วนยูนิตที่ราคาเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป มีชาวต่างชาติถือครองอยู่ 20% แต่ในบางพื้นที่ เช่น ภูเก็ต หรือกรุงเทพฯ ชั้นใน บางโครงการอาจมีความต้องการถือครองของชาวต่างชาติเกิน 49% แต่ไม่สามารถขายได้

 

  1. ดร.วิชัยกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของบ้านจัดสรร มีชาวต่างชาติส่วนหนึ่งที่อยากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้าน โดยเฉพาะชาวต่างชาติหลายคนที่อยู่เมืองไทยแล้วรู้สึกดี หรือแต่งงานกับคนไทย ก็อยากจะซื้อบ้านเป็นของตนเอง แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ยังไม่ได้เปิดกว้างให้ทำได้

 

  1. ดร.วิชัยมองว่า ถ้ารัฐบาลให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์อยากให้มองในส่วนของกลุ่มบ้านที่มีราคาแพงเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น ในประเทศมาเลเซียที่มีการกำหนดว่าราคาบ้านที่ชาวต่างชาติจะมาซื้อได้ ต้องมีราคา 1 ล้านริงกิต หรือราว 8 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งประเด็นนี้ในประเทศไทยก็มีการพูดถึงในส่วนของราคาบ้านที่เกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป และเชื่อว่าไม่กระทบกำลังซื้อของคนไทย เพราะคนไทยมีกำลังซื้อบ้านยูนิตละ 2-3 ล้านบาท หรือ 3-5 ล้านบาท ดังนั้นจึงยังไม่ต้องกังวลว่าต่างชาติจะมายึดครองกรรมสิทธิ์ในตลาดนี้

 

  1. นอกจากนี้ หากอยากให้ต่างชาติเข้ามาซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ได้ ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่น พื้นที่ที่เป็นเขตอนุรักษณ์ พื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่เก่าแก่ สามารถกำหนดห้ามซื้อได้ หรือการกำหนดให้ซื้อเฉพาะพื้นที่ศูนย์กลางทางธุรกิจ ไม่สามารถซื้อโซนที่เป็นที่พักอาศัยของคนไทยได้ ซึ่งชาวต่างชาติที่ต้องการดึงดูดเข้ามา มีความมั่งคั่งอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการซื้อคอนโดมิเนียมราคา 2-3 ล้าน หรือเราเองก็ต้องกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันการเก็งกำไรด้วย

 

  1. ดร.วิชัยกล่าวถึงเป้าหมายของการเพิ่มชาวต่างชาติเข้ามาในระบบ 1 ล้านคน หากคิดตามสัดส่วนต่อประชากรไทยประมาณ 70 ล้านคน สัดส่วนชาวต่างชาติจะอยู่ที่ประมาณ 1.42% หากเรากำหนดว่าต้องซื้อบ้านในราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป และในความเป็นจริงทุกคนที่มาก็อาจไม่ได้อยู่บ้านคนละหลัง เพราะอาจอยู่เป็นครอบครัว หารออกมาก็จะอยู่ที่ประมาณ 0.71% ต่อประชากรไทยทั้งหมด

 

  1. ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ รัฐบาลบอกว่าจะมีเงินเข้ามาในระบบกว่า 1 ล้านล้านบาทนั้น เราต้องมาดูงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว เท่ากับว่าประเทศไทยมีเงินเข้ามาคิดเป็นสัดส่วน 32% ของงบประมาณประเทศ ซึ่งคิดว่าในภาวะที่ประเทศต้องกู้หนี้ยืมสินมากมาย และต้องดูแลประชากรที่อยู่ระดับล่าง เราควรจะต้องมีเม็ดเงินเข้ามา เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรน้อยเกินไปที่จะสร้าง GDP ให้เติบโตได้

 

  1. การที่ประเทศไทยให้กลุ่มชาวต่างชาติประเภทที่ต้องการ Work from Thailand ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็น Skill Labor, High Technology เราสามารถกำหนดให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น EEC เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้เร็วกว่า โดยไม่ปล่อยให้โอกาสเหล่านี้ค่อยๆ เดิน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแม่เหล็กดึงคนเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาสอนทักษะความรู้และเพิ่มเติมประสบการณ์ให้คนไทย และประเทศไทยยังต้องอาศัยคนจากต่างประเทศมาเติมเต็มสิ่งเหล่านี้อีกเยอะ มาตรการนี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ดึงดูดคนกลุ่มนี้ได้

 

  1. ส่วนคำถามที่ว่าแทนที่เราจะดึงคนต่างชาติเข้ามาสอนคนไทย ทำไมไม่พัฒนาคนไทยเอง ดร.วิชัยกล่าวว่า เราต้องมองใน 2 ระยะ เช่น ประเทศจีน ในระยะสั้นเขาทำ Copy & Development ในขณะเดียวกันเขาก็พัฒนาคนของเขา ตอนนี้จีนจึงสามารถทำ 5G ได้ก่อนสหรัฐอเมริกา ซึ่งแปลว่าเราไม่ได้มองทุกอย่างคงที่ เราต้องดึงคนเก่งๆ เข้ามา แล้วใช้คนของเราไปเรียนรู้ทักษะจากชาวต่างชาติหรือให้เขาถ่ายทอดความรู้นวัตกรรมต่างๆ จะทำให้เราเรียนรู้และพัฒนาได้เร็วขึ้น ส่วนระยะยาวเราอาจเปลี่ยนนโยบายก็ได้ ไม่ใช่ว่านโยบายนี้เกิดมาแล้วจะอยู่ตลอด แต่ในช่วงที่ประเทศฟื้นตัว นโยบายข้างต้นก็จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปโดยเร็ว

 

  1. “ตอนนี้เรา (ประเทศไทย) เหมือนคนขาแพลง จะให้ไปวิ่งอาจยาก แต่อาจให้รถเข็นเขา ก็สะดวกกว่า แต่วันหนึ่งขาเราหายแพลงแล้ว เราเดินได้ดีแล้ว เราวิ่งได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้รถเข็นอีกต่อไป วันนี้เราป่วยอยู่ อย่าปฏิเสธหมอ อย่าปฏิเสธยา หมอและยาจะทำให้เราแข็งแรง วันหน้าเราไม่ต้องไปหาหมอแล้ว แล้วเราสามารถที่จะดูแลภูมิคุ้มกันในชีวิตได้ นั่นก็คือประเทศของเรามีความเข้มแข็งพอที่จะขับเคลื่อนทางเศรษกิจเองได้” ดร.วิชัยกล่าว

 

  1. ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องการถือครองโดยนอมินี ดร.วิชัยยอมรับว่ามีจริง แต่ตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ทำทุกอย่างให้อยู่บนโต๊ะ อย่าไปทำใต้โต๊ะแบบผิดกติกา บางครั้งการที่เราปฏิเสธความจริง ทำให้ความจริงหลบไปข้างล่าง เป็นตลาดมืด กลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ถ้าเรายกขึ้นมาบนดินเพื่อให้รัฐได้ภาษี ได้ค่าธรรมเนียม ได้ทุกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น เหมือนที่เรามีระบบนายหน้าที่ดิน ซึ่งรัฐต้องทำให้ทุกอย่างรวดเร็ว มีรายละเอียดชัดเจน เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาล เพราะตอนนี้ประชาชนไม่มั่นใจและเชื่อมั่นในรัฐบาล ทำให้ทุกอย่างที่รัฐบาลทำถูกตั้งคำถามมากมาย ทั้งที่บางเรื่องต้องยอมรับว่าดีและจำเป็นในบางช่วงเวลา

 

ชมคลิปรายการย้อนหลังได้ที่: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X